คัมภีร์ปาริชาตชาดก บทที่ ๙ ผลดีร้ายของนักษัตรโยคและกรณะ โศลกที่ ๙๗-๑๐๓
ผลของโยคต่างๆ
โศลกที่ ๙๗
คำว่าโยคในที่นี้หมายถึงการที่อาทิตย์และจันทร์ห่างกัน ๑ นักษัตรหรือ ๑๓ องศา ๒๐ ลิบดา เรียกว่าโยค ๑ ถ้าห่างมากขึ้นไปอีกก็มีชื่อต่างๆกัน (*เรียกว่านักษัตรโยค) รวมทั้งสิ้น ๒๗ โยคด้วยกัน ซึ่งในปฏิทินโหราศาสตร์ทางภารตะมีบอกอยู่ทุกๆวัน ว่าวันนี้เป็นวันโยคอะไรขึ้นต้นและสิ้นสุดเมื่อใด หรือถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือโยคนี้เป็นระยะเชิงมุมของอาทิตย์และจันทร์ ถ้าห่างกัน ๑ นักษัตรก็เรียกว่าโยคหนึ่ง โดยที่ในจักรราศีมี ๒๗ นักษัตร จึงมี ๒๗ โยค
ในชะตาบุคคล ท่านให้คำนวณดูว่าอาทิตย์กับจันทร์นั้นอยู่ห่างกันกี่องศากี่ลิบดาแล้วเอา ๑๓ องศา ๒๐ ลิบดาหาร ว่าจะได้กี่หน เช่นถ้าได้จำนวน ๗ หนเศษก็เพิ่มอีก ๑ เขาเกิดมาจันทร์อยู่ในโยคที่ ๘ ดังนี้เป็นต้น และจันทร์ที่อยู่ในโยคต่างๆมีผลดังนี้
๑.วิษกำภ จะชนะต่อศัตรู มีทรัพย์สมบัติช้างม้าวัวควายมากมาย
๒.ปรีติ ชอบเกี่ยวข้องภรรยาของผู้อื่น
๓.อายุษมาน จะมีอายุยืน แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
๔.เสาภาคย มีความผาสุข
๕.โสภน เจ้าชู้
๖.อติคัณฑ จะเป็นอาชญากร นักโทษฆ่าคน
๗.สุกรรม มั่งคั่งร่ำรวย ชอบบำเพ็ญความดี มีศีลธรรม
๘.ธฤติ เป็นโจร ชอบเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น ฯ
โศลกที่ ๙๘
๙.ศูล ขี้โมโห เจ้าโทสะ ชอบก่อการวิวาท
๑๐.คัณฑ ชอบกระทำความชั่ว มัวเมาในอบายมุขต่างๆ
๑๑.วฤททิ เขาสามารถที่จะบรรยายเรื่องต่างๆได้อย่างฉลาดหลักแหลม
๑๒.ธรุว จะร่ำรวยอย่างมหาศาล มหาเศรษฐี
๑๓.วยาฆาต ดุร้าย อาฆาต พยาบาท
๑๔.หรรษณ ฉลาดหลักแหลม มีเกียรติยศชื่อเสียง
๑๕.วัชร ร่ำรวยมั่งคั่ง เจ้าชู้
๑๖.วัยตีปาต ทรยศ หักหลัง หลอกลวง ฯ
โศลกที่ ๙๙
๑๗.วรีย เจ้าชู้กับภรรยาของผู้อื่น ไม่เลือกลูกเขาเมียใคร
๑๘.ปริฆ มั่งคั่งสมบูรณ์ทรัพย์ แต่เป็นศัตรูกับผู้อื่น ไม่ถูกกับใครๆ
๑๙.ศิว รอบรู้ คงแก่เรียน รู้คัมภีร์พระเวท มั่งคั่ง สุขุม เป็นที่โปรดปรานของราชา
๒๐.สิทท บำเพ็ญคุณงามความดีแก่วัด ชอบเกี่ยวข้องกับการบุญการกุศล
๒๑.สาธย เพียบพร้อมไปด้วยคุณงามความดี มีศีลธรรม
๒๒.ศุภ รูปร่างสวยงาม มั่งคั่ง แต่มักอกหัก ไม่สมหวังในความรัก มักเป็นโรคปอด ฯ
โศลกที่ ๑๐๐
๒๓.ศุกล มีคุณงามความดี ช่างพูด เจ้าโทสะ ใจคอไม่แน่นอน รอบรู้คงแก่เรียน
๒๔.พรหม ใจบุญใจกุศล ชอบศึกษาเล่าเรียน มั่งคั่งร่ำรวยอย่างเงียบๆชอบวิเวก และมีความสามารถในทางคาดคะเนว่าอะไรร้ายอะไรดี
๒๕.อินทร มีความเจริญรุ่งเรือง ทำอะไรสำเร็จผล มีสมองเฉียบแหลมอย่างที่หาตัวจับได้ยาก จะร่ำรวยมาก
๒๖.ไวทยุติ ทรยศคดโกง ฉลาดแกมโกง มีอำนาจ มั่งคั่ง และรอบรู้คงแก่เรียน ฯ
ผลของการณต่างๆ
โศลกที่ ๑๐๑
ถ้าผู้ใดเกิดมีตำแหน่งของจันทร์อยู่ในการณต่างๆ จะมีผลดังนี้
๑.ภว กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ชอบแสดงความสามารถอย่างคนหนุ่ม ไม่ยอมแก่
๒.พาลว ชอบแต่งตัวโก้หรูหรา วางท่าทางใหญ่โตผึ่งผาย เป็นที่รักใคร่ของราชา
๓.เกาลว มั่งคั่ง มีช้างม้าวัวควายมาก มีศีลธรรม มีความสำเร็จสมความปรารถนา
๔.ไตติล พูดจาอ่อนหวาน สุภาพนิ่มนวล มีคุณงามความดี ฯ
โศลกที่ ๑๐๒
๕.ครช มีอำนาจเข้มแข็ง ปราศจากศัตรู
๖.วนิช ช่างพูด คารมคมคาย ฉลาดหลักแหลม ชอบเป็นชู้กับเมียนาย
๗.วิษฏิ จะเป็นศัตรูต่อสังคม ชอบทำบาป เลวทรามต่ำช้า จะเป็นหัวหน้าโจร ฯ
โศลกที่ ๑๐๓
๘.ศกุน จะมีความรู้ดีทางโหราศาสตร์ รุ่งเรือง ราบรื่น
๙.จตุษปท มั่งคั่งร่ำรวย ชำนาญกิจการทุกประเภท มักมีโชคร้ายเสมอๆ วาสนาไม่ดี สุภาพเรียบร้อย ฉลาดหลักแหลม มีชื่อเสียงโด่งดัง
๑๐.นาคว มีความดีเด่นหลายประการ มั่งคั่งร่ำรวย มีกำลังกายแข็งแรงมาก เป็นคนขี้อวดขี้คุยมากสักหน่อย
๑๑.กิมสตุฆน ชอบรับใช้ผู้อื่น ชอบอาสาทำงานให้ผู้อื่น ใจไม่แน่นอน เจ้าสำราญ ฯ
หมายเหตุ
คำว่า **การณ ดูจะเป็นคำใหม่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ เพราะในคัมภีร์ต่างๆไม่ได้กล่าวถึงไว้เลย ที่มีกล่าวถึงมากเกี่ยวกับคัมภีร์มุหูรตาหรือคัมภีร์ยคฤกษ์ คำว่าการณนี้หมายถึงองศาของจันทร์ที่โคจรห่างไปจากจุดอามาวสีในเดือนนั้นมีระยะ ๖ องศา ฉะนั้นในการที่จันทร์จะมาถึงที่เดิมในระยะ ๓๖๐ องศาก็มี ๖๐ การณด้วยกัน หรือจะพูดให้ง่ายในประเภทขึ้นแรม หรือดิถีก็คือในขึ้น ๑๕ ค่ำ และ แรม ๑๕ ค่ำ รวม ๓๐ วันนั้นแบ่งแต่ละวันเป็น ๒ ส่วน ก็จะได้ ๖๐ ส่วนตรงกัน เมื่อแบ่งได้ ๖๐ การณแล้วเช่นนี้ เขาตั้งชื่อการณไว้เพียง ๑๑ ชื่อเท่านั้นและชื่อการณต่างๆก็หมุนเวียนซ้ำกันบ้างไม่ซ้ำกันบ้าง ดังที่จะชี้แจงให้ทราบดังนี้
๑.กิมสตุฆน การณที่ ๑
๒.ภว การณที่ ๒-๙-๑๖-๒๓-๓๐-๓๗-๔๔ และ ๕๑
๓.พาลว การณที่ ๓-๑๐-๑๗-๒๔-๓๑-๓๘-๔๕ และ ๕๒
๔.เกาลว การณที่ ๔-๑๑-๑๘-๒๕-๓๒-๓๙-๔๖ และ ๕๓
๕.ไตติล การณที่ ๕-๑๒-๑๙-๒๖-๓๓-๔๐-๔๗ และ ๕๔
๖.ครช การณที่ ๖-๑๓-๒๐-๒๗-๓๔-๔๑-๔๘ และ ๕๕
๗.วณิช การณที่ ๗-๑๔-๒๑-๒๘-๓๕-๔๒-๔๙ และ ๕๖
๘.วิษฏ การณที่ ๘-๑๕-๒๒-๒๙-๓๖-๔๓-๕๐ และ ๕๗
๙.ศกุน การณที่ ๕๘
๑๐.จตุษปท การณที่ ๕๙
๑๑.นาคว การณที่ ๖๐
**หมายเหตุ คำว่านักษัตรโยค และกรณะ มีปรากฏในคัมภีร์มูหูรตะ จินดามณี เป็นวิชาสำหรับเลือกเฟ้นฤกษ์ยามโดยเฉพาะ ซึ่งในคัมภีร์ภาคพยากรณ์ย่อมไม่ปรากฏ หรือมีแต่น้อยมาก แต่ในวิชาภาคการให้ฤกษ์จะใช้นักษัตรโยค และกรณะเป็นหลักในการให้ฤกษ์