โศลกที่ ๑
การคำนวณหาเกี่ยวกับจำนวนปีของเจ้าชะตา ว่าจะสิ้นอายุขัยเมื่อใด โดยใช้โยคเกณฑ์ของพระเคราะห์ต่างๆเป็นหลัก ตามความเห็นของท่านปราศรและผู้มีชื่อเสียงอื่นๆอีกหลายท่านในทางโหราศาสตร์ ได้ใช้หลัก ๘ ประการด้วยกันคือ
๑.นิสรรคชะ อายุรทัย หรือในสรรคิกะอายุรทัย
๒.ปิณฑะชะ อายุรทัย หรือปิณฑายุรทัย
๓.อำศะระ อายุรทัย
๔.รัศมีชะ อายุรทัย
๕.จักรชะ อายุรทัย
๖.นักษัตระ อายุรทัย
๗.อัษฏคะวรรคชะ อายุรทัย
๘.ลัคนาอุส อายุรทัย
โศลกที่ ๒
ตามระบบของในสรรคิกะอายุรทัย ได้กำหนดจำนวนปีของพระเคราะห์ต่างๆไว้ดังนี้ อาทิตย์ ๒๐ ปี จันทร์ ๑ ปี อังคาร ๒ ปี พุธ ๙ ปี พฤหัสบดี ๑๘ ปี ศุกร์ ๒๐ ปีและเสาร์ ๕๐ ปี เมื่อรวมกำลังอายุพระเคราะห์ทั้งสิ้นจะได้ ๑๒๐ ปีบริบูรณ์ ฯ
โศลกที่ ๓
ในระบบปิณฑายุรทัย ได้กำหนดจำนวนปีสำหรับพระเคราะห์ต่างๆในขณะที่ได้ตำแหน่งปรมะอุจจ์ไว้ดังต่อไปนี้ อาทิตย์ ๑๙ ปี จันทร์ ๒๕ ปี อังคาร ๑๕ ปี พุธ ๑๒ ปี พฤหัสบดี ๑๕ ปี ศุกร์ ๒๑ ปี และเสาร์ ๒๐ ปี รวมทั้งสิ้น ๑๒๗ ปี ฯ
หมายเหตุ
การให้กำลังเกี่ยวกับพระเคราะห์ต่างๆตามระบบนี้ เขาให้คะแนนมากที่สุดในเมื่อพระเคราะห์นั้นได้ตำแหน่งปรมะอุจจ์ คือได้องศามหาอุจจ์เต็มที่ ตามที่ได้กำหนดไว้ เนื่องจากพระเคราะห์ทั้ง ๗ จะเป็นอุจจ์พร้อมกันไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า ผู้ใดจะมีอายุเต็มตามนี้นั้นคงเป็นไปไม่ได้
โศลกที่ ๔-๕
หลักเกณฑ์ในการคิดหาว่าดาวใดๆจะได้คะแนนเท่าใด เมื่อเอาไปคิดเทียบบัญญัติไตรยางค์จากกำลังที่กำหนดไว้ให้ในตำแหน่งปรมะอุจจ์ของพระเคราะห์ต่างๆมีวิธีคิดง่ายๆดังนี้
ในขั้นแรกต้องรู้องศาหรือสมผุสของพระเคราะห์ที่จะหากำลังปีก่อน ว่ามีองศาลิบดาเท่าใดในราศีใด และต้องรู้อีกว่าองศาปรมะอุจจ์ของดาวนั้นมีองศาเท่าใดในราศีใดอีกด้วย แล้วก็คิดต่อไปว่าจากจุดสมผุสของพระเคราะห์นั้นไปถึงจุดปรมะอุจจ์ของดาวนั้นมีกี่ราศี กี่องศาและกี่ลิบดาแตกเป็นลิบดาให้หมด หารด้วยจำนวนลิบดาใน ๑๒ ราศีคือ ๒๑๖๐๐ แล้วคูณด้วยกำลังปรมะอุจจ์ของดาวที่จะหา ก็จะได้เป็นปี เดือนและวัน ซึ่งจะเป็นจำนวนอายุเฉพาะดาวนั้นๆแต่ละดวง ซึ่งผลที่หาได้นี้เรียกว่าปิณฑายุสของดาวนั้นฯ
โศลกที่ ๖
ผู้รู้ในทางโหราศาสตร์ทั้งหลาย กล่าวตรงกันว่าในระบบของปิณฑายุรทัยหรือในระบบของในสรรคิกายุรทัย ก็มีการคิดหากำลังดาวเช่นเดียวกันคือหาว่าจากจุดสมผุสของพระเคราะห์
นั้นจนถึงจุดปรมะอุจจ์ของดาวนั้น ว่ามีกี่ราศีกี่องศากี่ลิบดา แตกจำนวนนี้เป็นลิบดาให้หมดและหารด้วย ๒๑๖๐๐ คูณด้วยกำลังดาวที่ให้ไว้สำหรับดาวนั้น ก็จะได้จำนวนปี เดือน วัน ของดาวนั้นที่ต้องการทันที ฯ
หมายเหตุ
สมมุติว่าสมผุสของอาทิตย์ในชะตาราศีเมษ ๑๗ องศา ๔๓ ลิบดา ๓๐ พีลิบดา และเรารู้แล้วว่าอาทิตย์มีตำแหน่งปรมะอุจจ์ในราศีเมษ ๑๐ องศาพอดี เพราะฉะนั้นอาทิตย์จะต้องโคจรไปอีก ๑๑ ราศี ๒๒ องศา ๑๖ ลิบดา ๓๐ พีลิบดา อาทิตย์นั้นจึงจะถึงจุดปรมะอุจจ์ในราศีเมษ เมื่อแตกเป็นลิบดาจะได้เท่ากับ ๒๑๑๓๖.๕ ลิบดา ดังนั้นกำลังปีของอาทิตย์ในระบบปิณฑายุรทัยจะได้ = ๒๑๑๓๖.๕ × ๑๙ ปี
๒๑๖๐๐
= ๑๘.๕๙๒๓ ปี
ในทำนองเดียวกันการหากำลังปีของพระเคราะห์อื่นๆ ก็มีหลักเกณฑ์คิดเหมือนกันทั้งสิ้น
โดยปกติจุดปรมะอุจจ์และจุดปรมะนิจของพระเคราะห์ทุกดวงเล็งกัน คืออยู่ห่างกัน ๑๖๐ องศาหรือ ๖ ราศีพอดี ในจุดปรมะอุจจ์ดาวมีกำลังเต็มที่ตามที่กำหนดไว้ ในจุดปรมะนิจดาวมีกำลังเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นจากจุดปรมะอุจจ์ถึงจุดปรมะนิจ ดาวเสียกำลังไปครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ให้ไว้ และจากจุดปรมะนิจถึงปรมะอุจจ์ ดาวก็ค่อยๆมีกำลังเพิ่มขึ้นจนเท่าเดิมตามที่กำหนดไว้อีก รวมความว่าจากกฎเกณฑ์อันนี้ ดาวจะมีอายุลดน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่กำหนดไว้ไม่ได้ ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานี้ จึงมีวิธีคิดกำลังดาวอยู่หลายแบบด้วยกัน และแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปคือ ใช้กฎที่ว่าใน ๑๘๐ องศาหรือ ๖ ราศี หรือ ๑๐๘๐๐ ลิบดา ดาวจะมีกำลังเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเพียงครึ่งหนึ่งจำนวนที่กำหนดไว้ เช่นอาทิตย์กำหนดให้มีกำลังเต็ม ๑๙ ปี ดังนั้นครึ่งหนึ่งเท่ากับ ๙.๕ ปี สมมุติสมผุสอาทิตย์ในชะตาอยู่ราศีเมษ ๑๗ องศา ๔๓ ลิบดา ๓๐ พีลิบดา เพราะฉะนั้นจำนวนปีของอาทิตย์ต้องลดลงตามส่วนนี้ ก่อนอื่นแตกเป็น
ลิบดาทั้งหมด จะได้เท่ากับ ๔๖๓.๕ ลิบดา คิดเป็นเวลาที่น้อยลงเท่ากับ
= ๔๖๓.๕ × ๙.๕
๑๐๘๐๐
= ๐.๔๐๗๗ ปี
ดังนั้นดาวจะมีกำลังจริง = ๑๙-๐.๔๐๗๗ ปี
= ๑๘.๕๙๒๓ ปี
ในทำนองเดียวกัน ถ้าอาทิตย์อยู่ราศีตุลย์ ๑๗ องศา ๔๓ ลิบดา ๓๐ พีลิบดา อาทิตย์ก็จะเกินจุดปรมะนิจไป ๗ องศา ๔๓ ลิบดา ๓๐ พีลิบดา เช่นกัน และจำนวนที่เกินไปนั้นคิดเป็นเวลาก็จะได้เท่ากับ ๐.๔๐๗๗ ปีเช่นกัน แต่ตรงจุดปรมะนิจจะเป็นจุดต่ำสุดของอาทิตย์มีกำลังเต็มที่ครึ่งหนึ่งของ ๑๙ ปีหรือ ๙.๕ ปี ดังนั้นกำลังอาทิตย์ตามสมผุสในราศีตุลย์จะเป็น
= ๙.๕+๐.๔๐๗๗ ปี
= ๙.๙๐๗๗ ปี
ข้าพเจ้าเห็นว่าการเดินแบบนี้เข้าใจง่ายกว่าที่เขียนไว้ในโศลก อย่างไรก็ตามทั้งสองระบบ ผลลัพธ์ตรงกันทั้งสิ้น
โศลกที่ ๗
ถ้าดาวอยู่ในตำแหน่งปรมะนิจ กำลังที่กำหนดไว้ต้องลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ถ้าอยู่ในตำแหน่งอื่นๆคิดเพิ่มลดตามส่วน เกี่ยวกับลัคนายุสคือจำนวนปีคิดจากสมผุสของลัคนา ท่านให้ไว้สองมติด้วยกันคือ ประการแรก ใน ๑ ภพ หรือ ๑ ราศี มีอยู่ ๙ นวางค์ กำลังอายุเต็มที่ของลัคนาจึงเป็น ๙ ปี โดยให้นวางค์ละ ๑ ปี สมมุติว่าลัคนาอยู่ในพิจิก ๑๐ องศา หมายความว่าลัคนาอยู่ในราศีพิจิก ๓ นวางค์พอดี อายุของลัคนาก็ได้ ๓ ปีเท่านั้น
อีกประการหนึ่ง ท่านคิดอายุลัคนาเท่ากับจำนวนราศี ๑๒ ราศีโดยคิดให้ราศีละ ๑ ปี รวมอายุเต็มของลัคนาเท่ากับ ๑๒ ปี ท่านให้นับจากศูนย์องศาของราศีเมษ ถึงสมผุสลัคนาว่ามีกี่ราศี เป็นจำนวนปี ถ้ามีเศษก็คิดบวกตามส่วนของปี ในที่นี้ก็จะได้ ๗ ปี ๔ เดือนพอดี
ท่านได้มีกฎเกณฑ์เพิ่มไว้กว้างๆอีกว่า ถ้าพระเคราะห์นั้นอยู่ในเรือนของศัตรูจะเสียกำลังปีไปหนึ่งในสาม แต่ถ้าดาวนั้นกำลังพักรอยู่ยกเว้น และถ้าดาวใดๆอยู่ใกล้อาทิตย์จนเกินไป คือในอาณาเขต ๕ องศาหน้าหรือหลัง อาทิตย์ถือว่าหมดแสง จะต้องลดกำลังลงครึ่งหนึ่งเหมือนกัน แต่ในกรณีหมดแสงเกี่ยวกับอยู่ใกล้อาทิตย์นี้ ท่านยกเว้นดาวศุกร์และดาวเสาร์ ถือว่าไม้ต้องหักออกเช่นดาวอื่นๆ ฯ
โศลกที่ ๘
ดาวทุกดวงยกเว้นอังคารดวงเดียว ถ้าอยู่ในเรือนของศัตรูลดอายุลงหนึ่งในสาม ดาวทุกดวงเวลาอยู่ใกล้อาทิตย์ ลดอายุลงครึ่งหนึ่งยกเว้นศุกร์และเสาร์ ฯ