โศลกที่ ๓๖
ถ้าจันทร์ร่วมราหูและมีบาปเคราะห์อื่นๆร่วมด้วย ในขณะเดียวกันมีอังคารอยู่ในภพที่ ๘ จากลัคนา ทั้งแม่และเด็กจะตายทั้งคู่ และถ้าอาทิตย์ร่วมกับลัคนาด้วย ท่านว่าจะตายเพราะอาวุธหรือโดยการผ่าตัด ท่านจะเห็นว่าอาทิตย์ร่วมด้วย มีหวังเป็นสุริยะอุปราคาในเวลาเกิด
ถ้าอาทิตย์หรือจันทร์กุมลัคนาและมีบาปเคราะห์ในภพที่ ๕-๘ หรือ ๙ จากลัคนาด้วยโดยที่บาปเคราะห์นั้นเข้มแข็ง ถึงในชะตาจะมีศุภเคราะห์ที่เข้มแข็ง แต่ถ้าศุภเคราะห์นั้นให้แสงไม่ถึงลัคนา อาทิตย์หรือจันทร์ ท่านว่าจะตายทั้งแม่และเด็ก ฯ
โศลกที่ ๓๗
ในชะตาถ้ามีพระเคราะห์ต่างๆอยู่ในภพต่างๆดังต่อไปนี้ เสาร์อยู่ในภพที่ ๑๒ อาทิตย์อยู่ในภพที่ ๙ จันทร์ในภพที่ ๑ และอังคารในภพที่ ๘ จากลัคนา ท่านว่าเด็กนั้นจะต้องตาย นอกจากจะมีพฤหัสบดีที่เข้มแข็งให้แสงถึงลัคนา ฯ
โศลกที่ ๓๘
ถ้าจันทร์ร่วมกับบาปเคราะห์ และอยู่ในภพที่ ๑-๕-๗-๙-๘ หรือ ๑๒ จากลัคนา เด็กที่เกิดมาจะตาย นอกจากจันทร์นั้นจะร่วมหรือได้รับแสงจากพุธ พฤหัสบดี และศุกร์ที่เข้มแข็ง ฯ
โศลกที่ ๓๙
ในอริษฎะโยคต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยมากไม่ได้บอกถึงเวลาที่เด็กจะตายไว้อย่างชัดเจน ท่านกล่าวไว้ เพื่อเป็นหลักพิจารณาในการตายของเด็กว่า เด็กนั้นจะตายในเวลาที่
พระจันทร์จรเข้าทับพระจันทร์เดิม พระจันทร์จรเข้าทับลัคนา และพระจันทร์จรเข้าทับดาวที่ให้ร้ายที่สุดในอริษฎะโยคนั้น ฯ
หมายเหตุ
พระจันทร์โคจรใน ๑ รอบคือ ๓๖๐ องศากินเวลาประมาณ ๒๗ วันใน ๑ ปี จันทร์โคจรไม่น้อยกว่า ๑๓ รอบ ใน ๑๓ รอบที่จันทร์โคจรผ่านลัคนาหรือจันทร์ในชะตาเดิมนี้ ถ้ารอบใดจันทร์นั้นยามาวลี หรือร่วมบาปเคราะห์ในชะตาเดิมด้วย ท่านว่าเด็กตายในรอบนั้น
โศลกที่ ๔๐-๔๑
ในดวงชะตาถ้าเสาร์กำลังพักร เสาร์อยู่ในเรือนของศัตรู เสาร์อยู่ในเรือนของอังคาร เสาร์อยู่ในภพเกนทระ หรืออยู่ในภพที่ ๘ จากลัคนา เมื่อเสาร์อยู่ในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดตามที่กล่าวมานี้ และเสาร์นั้นได้รับแสงจากอังคารที่เข้มแข็งด้วย ท่านว่าเด็กนั้นจะตายภายใน ๒ ปี
ถ้าพฤหัสบดีอยู่ในเรือนของอังคาร และเป็นภพที่ ๘ จากลัคนาด้วย และพฤหัสบดีนั้นได้รับแสงจากอาทิตย์ จันทร์ อังคารและเสาร์ ทั้ง ๔ ดวง เด็กนั้นจะตายภายใน ๓ ปี แต่ถ้าในโยคนี้มีศุกร์เข้มแข็งและให้แสงถึงพฤหัสบดีด้วย เด็กจะไม่ตาย ฯ
โศลกที่ ๔๒
ถ้าภพที่ ๖ หรือภพที่ ๘ จากลัคนาเป็นราศีกรกฏ และมีพุธอยู่ในราศีกรกฏด้วย โดยที่พุธนั้นได้รับแสงจากจันทร์ ในโยคนี้ท่านว่าเด็กนั้นจะตายภายใน ๔ ปี นอกจากว่าลัคนาหรือจันทร์จะได้รับแสงจากศุภเคราะห์ที่เข้มแข็งหลายดวง ฯ
โศลกที่ ๔๓
อาทิตย์ จันทร์ อังคารและพฤหัสบดี ร่วมราศีกันทั้ง ๔ ดวง เด็กนั้นจะตายภายใน ๕ ปี ถ้าอังคาร พฤหัสบดี เสาร์และจันทร์ร่วมราศีเดียวกัน หรืออาทิตย์ จันทร์ อังคาร และเสาร์ร่วมราศีเดียวกัน ท่านว่าเด็กนั้นอายุไม่เกิน ๕ ปีทั้งสิ้น ฯ
โศลกที่ ๔๔
ถ้าเสาร์อยู่ในนวางค์ที่ครองด้วยจันทร์ และได้รับแสงจากจันทร์ด้วย ในเวลาเดียวกัน เจ้าเรือนของลัคนาก็ได้รับแสงจากจันทร์ด้วย ท่านว่าเด็กนั้นจะตายภายใน ๖ ปี ฯ
โศลกที่ ๔๕
ถ้าตรียางค์ที่ลัคนาสถิตเป็นตรียางค์พิษ หรือนิคลตรียางค์ อหิตรียางค์ วิหังคะตรียางค์ หรือปาศะธระตรียางค์ และลัคนานั้นรับแสงจากบาปเคราะห์ด้วย โดยที่เจ้าเรือนของลัคนาไม่ได้แสงถึงลัคนาเลย เด็กนั้นจะตายภายใน ๗ ปี ฯ
หมายเหตุ
นิคลหรือนิคลตรียางค์ หมายถึงตรียางค์เกี่ยวกับโซ่ตรวน การจองจำทำโทษ ได้แก่ตรียางค์ที่ ๒ ของราศีพิจิก อหิตรียางค์หรือภุชงค์ตรียางค์ หมายถึงตรียางค์เกี่ยวกับนาคหรืองูพิษ ได้แก่ตรียางค์ที่ ๓ ของราศีกรกฏ ในบางคัมภีร์เอาราศีพิจิกและราศีมีน ตรียางค์ที่ ๓ จัดเข้าเป็นตรียางค์งูด้วย โดยอ้างว่าทั้งสามตรียางค์นี้มีปริคัณฑานตะนวางค์อยู่ด้วย วิหังคะปักษีหรือวิหคตรียางค์หมายถึงตรียางค์เกี่ยวกับนก ได้แก่ตรียางค์ที่ ๑ ของราศีสิงห์และมังกร ปาศะหรือสรรปะตรียางค์ หมายถึงตรียางค์เกี่ยวกับเชือกรัดคอ ห่วงผูกคอ หรือห่วงแขวนคอ ได้แก่ตรียางค์ที่ ๑ ของราศีพิจิก ตรียางค์ที่ ๒ ของราศีกรกฏ และตรียางค์ที่ ๓ ของราศีมีน ในการจัดตรียางค์พิษยังไม่ลงเลยกันได้ เพราะมีมติแย้งกันหลายอย่าง อย่างไรก็ตามในการทำนาย ไม่ว่าจะเป็นชื่อตรียางค์อะไรลงเป็นพิษแล้วไม่ดีทั้งสิ้น
โศลกที่ ๔๖
ถ้าอาทิตย์ อังคาร และเสาร์ทั้งสามพระเคราะห์เข้ากุมลัคนา ในภพที่ ๗ จากลัคนา เป็นราศีที่ศุกร์ครอง และมีจันทร์อยู่ในภพที่ ๗ ด้วย ถ้าจันทร์นั้นไม่ได้รับแสงจากพฤหัสบดี ท่านว่าเด็กนั้นจะตายภายใน ๗ ปี หรือ ๘ ปี ฯ
หมายเหตุ
ในโศลกนี้ท่านบังคับว่า อาทิตย์กุมลัคนาและมีจันทร์อยู่ในภพที่ ๗ จากลัคนา เพราะฉะนั้นจันทร์ที่เล็งลัคนานั้นต้องเล็งกับอาทิตย์ด้วย จันทร์จะต้องเป็นปูรณะจันทร์เพ็ญ แต่ในโศลกกล่าวว่าศศิกษิณะ หมายความว่าจันทร์ข้างแรม เมื่อเป็นเช่นนี้ฟังดูคล้ายๆกับว่าจะเป็นไปไม่ได้ ตามความเห็นของข้าพเจ้าเข้าใจว่า จันทร์เพ็ญที่เล็งลัคนานั้นต้องร่วมราหูหรือเกตุด้วย หรือจะพูดให้ตรงทีเดียวก็คือจันทร์เพ็ญขณะนั้นต้องเป็น จันทรุปราคาด้วย จันทร์เพ็ญนั้นจึงจะถือว่าเป็นศศิกษิณะได้ตามคำในโศลกนี้