Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

planet

โศลกที่ ๓๓-๓๔

              ในบทที่ ๑ โศลกที่ ๔๔ ได้กล่าวถึงการแบ่งราศีออกเป็นส่วนๆลงไปอีกหลายระบบ และจัดดาวพระเคราะห์เข้าครองในระบบเหล่านั้น การแบ่งราศีออกเป็นย่อยๆลงไปเช่นนี้ แต่ละระบบเรียกว่าวรรค ท่านกล่าวว่าดาวพระเคราะห์ต่างๆที่สถิตอยู่ในราศีใดๆต้องตรวจดูว่าอยู่ในวรรคของดาวอะไรด้วย ทางโหราศาสตร์ถือว่าตำแหน่งพระเคราะห์ที่เข้มแข็งเรียกว่ามีสถานะพละเข้มแข็งคือได้ตำแหน่งของวรรคต่างๆซึ่งครองด้วยพระเคราะห์ดวงเดียวกันหมดพระเคราะห์ใดได้ตำแหน่งนี้ถือว่าให้คุณแก่เจ้าชะตาในกระบวนวรรคต่างๆทั้งหมดมีที่สำคัญและใช้ในการวินิจฉัยแก่ดวงชะตามากที่สุดได้แก่วรรคต่อไปนี้ สโวจจะ สวะอุจจะ คือตำแหน่งอุจจ์ของพระเคราะห์  สวะตรีโกณะคือตำแหน่งมูละตรีโกณของพระเคราะห์ สวะสุหฤทคือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ในวรรคของคู่มิตร สวะทเรกกาณะคือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ใดๆที่อยู่ในตรียางค์ที่ครองด้วยพระเคราะห์นั้นเอง สวะราศี สวะเกษตร์คือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์อยู่ในเรือนเกษตร์    สวะอำศะคือตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ที่เป็นเกษตร์ในนวางค์     ถ้าพระเคราะห์ใดๆได้ตำแหน่งตามที่กล่าวมานี้และดาวพระเคราะห์นั้นกุมลัคนาด้วย พระเคราะห์นั้นจะให้คุณแก่เจ้าชะตามากขึ้นอีก

                 ตำแหน่งของพระเคราะห์ต่างๆที่ไม่เข้มแข็งและไม่ให้คุณแก่เจ้าชะตามีดังต่อไปนี้คือพระเคราะห์ที่ไม่ได้ตำแหน่งของสถานะพละต่างๆ  พระเคราะห์ที่ไม่ได้ร่วมหรือรับแสงจากศุภเคราะห์     พระเคราะห์ที่เป็นนิจจะ     พระเคราะห์ที่ร่วมหรือรับแสงจากบาปเคราะห์ พระเคราะห์ที่ร่วมหรือรับแสงจากพระเคราะห์ที่เป็นศัตรู พระเคราะห์ที่สถิตอยู่ในวรรคของคู่ศัตรู  พระเคราะห์ที่สถิตอยู่ในวรรคของบาปเคราะห์ พระเคราะห์ที่สถิตอยู่ตรงจุดแบ่งของราศีหรือนักษัตร พระเคราะห์ที่สถิตอยู่ในมฤตยูองศา พระเคราะห์ที่สถิตย์อยู่ในปริคัณฑานตะนวางค์หรือนวางค์ชาด พระเคราะห์ที่อัสตะคืออยู่ชิดกับพระอาทิตย์จนเกินไป และพระเคราะห์ที่ถูกกระหนาบหน้าหลังด้วยบาปเคราะห์ ฯ

โศลกที่ ๓๕

                ดาวพระเคราะห์ต่างๆย่อมความเข้มแข็งไม่เท่ากันในภพต่างๆที่นับจากลัคนา ความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในภพต่างๆนี้เรียกว่าทิตพละ ของพระเคราะห์ พุธและพฤหัสบดีมีทิตพละคือเข้มแข็งมากในทางทิศตะวันออกหรือในภพที่กุมลัคนา  ศุกร์และจันทร์มีทิตพละในทางทิศเหนือหรือในภพที่ ๔ จากลัคนา เสาร์มีทิตพละในทางทิศตะวันตกหรือในภพที่ ๗ จากลัคนา อาทิตย์และอังคารมีทิตพละในทางทิศใต้หรือในทางภพที่ ๑๐ จากลัคนา ฯ

โศลกที่ ๓๖

               สำหรับกาลพละคือความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในเวลากลางวันและกลางคืน ท่านจัดให้จันทร์ เสาร์ และอังคารมีกาลพละในเวลากลางคืน ดาวพระเคราะห์อื่นๆมีกาลพละในเวลากลางวัน ในทางโหราศาสตร์ได้แบ่ง ชั่วโมง วัน เดือนและปีออกไว้หลายประเภทและได้จัดดาวพระเคราะห์ต่างๆเข้าประจำทุกประเภท ถือกันว่าดาวพระเคราะห์ใดอยู่ในชั่วโมง วัน เดือน ปีตรงกับดาวที่ครองถือว่าพระเคราะห์นั้นเข้มแข็งมากในเวลานั้น เกี่ยวกับข้างขึ้นข้างแรม เขาจัดให้ศุภเคราะห์มีความเข้มแข็งในเวลาข้างขึ้น ส่วนบาปเคราะห์มีความเข้มแข็งในเวลาข้างแรม สำหรับพุธท่านว่ามีความเข้มแข็งตลอดมาคือทั้งข้างขึ้นข้างแรม ฯ

หมายเหตุ

              เกี่ยวกับคำที่ว่ากาลพละในบางคัมภีร์หมายความไปอีกอย่างหนึ่ง คือหมายความว่ากำลังของพระเคราะห์ที่เข้มแข็งชั่วคราวในกฎ ๖ ประการดังต่อไปนี้ และแต่ละประการมีชื่อเรียกโดยเฉพาะ นะโคนนะตะพละคือความเข้มแข็งของพระเคราะห์ที่เกี่ยวกับการโคจรก่อนจะถึงหรือภายหลังจุดเหนือศรีษะของเราซึ่งเรียกว่าศิโรพินทุ โหราพละคือเกี่ยวกับการแบ่งวันหนึ่งเป็นชั่วโมงหรือยามและจัดพระเคราะห์เข้าครองทุกยาม ทินะปะพละเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในเวลากลางวันและกลางคืน ปักษะพละเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในเวลาข้างขึ้นหรือข้างแรม มาสะพละเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในเดือนต่างๆ และวรรษะพละเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ในปีต่างๆ ฯ

โศลกที่ ๓๗

              ศุกร์ พุธ อังคาร พฤหัสบดีและเสาร์ ในขณะที่โคจรถอยหลังหรือพักหรือในขณะที่โคจรร่วมกับจันทร์ย่อมมีกำลังเข้มแข็ง สำหรับอาทิตย์และจันทร์ย่อมไม่มีการโคจรถอยหลังจะมีกำลังเข้มแข็งในเมื่อโคจรไปทางทิศเหนือของเส้นศูนย์สูตรในท้องฟ้า อังคาร พุธ พฤหัสบดีและเสาร์ยิ่งมีความเข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับในเมื่อโคจรขึ้นไปทางทิศเหนือของเส้นรวิมรรค ในสภาพปกติความเข้มแข็งของพระเคราะห์มีลำดับแต่มากไปหาน้อยดังนี้ อาทิตย์ จันทร์ ศุกร์ พฤหัสบดี พุธ อังคาร และเสาร์ ฯ

โศลกที่ ๓๘

              ผู้คงแก่การเรียนทางโหราศาสตร์ ให้คะแนนความเข้มแข็งของพระเคราะห์ ๖ ประการเรียงลำดับกันคือ ๑-๕-๑-๕-๑ และ ๗ ความเข้มแข็งของพระเคราะห์ ๖ ประการนี้ชื่อรวมเรียกว่า ษัฑพละ และมีชื่อเรียงลำดับกันต่อไปนี้ ทฤคพละคือกำลังที่ได้รับแสงจากพระเคราะห์อื่นๆ สถานะพละคือกำลังตามวรรคต่างๆที่พระเคราะห์นั้นสถิต ไนสรรคิกะพละ คือกำลังตามธรรมชาติของพระเคราะห์ เจษฎาพละคือกำลังเกี่ยวกับการโคจรเช่นเหนือหรือใต้เส้นระวิมรรคหรือในการพักรเป็นต้น ทิดพละคือกำลังที่ดาวพระเคราะห์อยู่ทางทิศใดโดยคิดจากตำแหน่งของลัคนา กาละพละคือกำลังชั่วคราวของพระเคราะห์ซึ่งเกี่ยวกับชั่วโมง วัน เดือน ปี หรือเกี่ยวกับยามต่างๆ ฯ

หมายเหตุ

               เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความเข้มแข็งของพระเคราะห์ต่างๆซึ่งเรียกว่าพละ ถ้าจะแบ่งกันหยาบๆมี ๖ ประเภทดังนี้

               ๑.ทฤคพละ

               ๒.สถานะพละ โดยปกติมี ๕ ประการคืออุจจะพละ สัปตะวรรคชะพละ ยุคมายุคมะพละ เกนทระทิพละ และทเรกกาณะพละ

               ๓.นิสรรคพละ หรือ ไนสรรคิกะพละ

               ๔.เจษฎาพละ   โดยปกติมี  ๕  ประการคือ  วักระ  สมาคะมะ   อุทะคะยะนะพละ  อะยะนะพละ

               ๕.ทิดพละ

                ๖.กาละพละ  โดยปกติมี ๗ ประการ คือนะโตนนะตะพละ  ปักษะพละ  ทินะราตรีภาคะพละ  วรรษปะพละ  มาสะปะพละ ทินะปะพละ  โหราปะพละ

โศลกที่ ๓๙

                ในการคิดให้คะแนนหรือกำลังของพระเคราะห์ตามกฎเกณฑ์ของษัฑพละ มีหลายประการด้วยกัน  บางทีท่านให้คะแนนเต็ม ๖๐ และบางทีก็ให้คะแนนเต็มถึง ๓๖๐ แล้วแต่การคิดหรือแล้วแต่ระบบต่างๆที่เลือกเอามาใช้  ทั้งนี้การให้คะแนนไม่เป็นการตายตัวเสมอไป  อาจใช้จำนวนใดเป็นหลักก็ได้ ฯ

โศลกที่ ๔๐

             ในการคิดกำลังของพระเคราะห์เพื่อความสะดวก ท่านกำหนดไว้ดังนี้ ซึ่งก็ไม่เป็นการตายตัวเสมอไป อาทิตย์และพฤหัสบดีมีกำลังแต่ละดวง หกเศษหนึ่งส่วนสองรูปะ ศุกร์มีกำลังห้าเศษหนึ่งส่วนสองรูปะ พุธมีกำลังเจ็ดรูปะ จันทร์มีกำลังหกรูปะ  เสาร์และอังคารแต่ละดวงมีกำลังห้ารูปะ รวมทั้งสิ้นได้กำลังสี่สิบเอ็ดเศษหนึ่งส่วนสองรูปะ เป็นปูรณะพละของพระเคราะห์ทั้งเจ็ดดวง ฯ

โศลกที่ ๔๑

             ในการที่พระเคราะห์ต่างๆซึ่งอยู่ในราศีต่างๆกันย่อมเป็นมิตรและศัตรูกันได้เมื่อคิดจากราศีต่างๆระหว่างพระเคราะห์นั้นๆโดยไม่เกี่ยวกับตำแหน่งของลัคนา ท่านตั้งกฏไว้ว่าพระเคราะห์ที่เป็นมิตรแก่กันมี ๓ ประการคือพระเคราะห์ที่เป็น ๒ และ ๑๒ แก่กันเช่นอาทิตย์อยู่เมษ อังคารอยู่มีนหรือพฤษภ ย่อมเป็นมิตรกัน พระเคราะห์ที่เป็น ๓ และ ๑๑ แก่กันเช่นอาทิตย์อยู่เมษ อังคารอยู่กุมภ์หรือเมถุนย่อมเป็นมิตรแก่กัน พระเคราะห์ที่เป็น ๔ และ ๑๐ แก่กันเช่นอาทิตย์อยู่เมษ อังคารอยู่มังกรหรือกรกฏย่อมเป็นมิตรแก่กัน ทั้งนี้ไม่ว่าพระเคราะห์ใดๆทั้งสิ้นถึงแม้จะเป็นคู่ศัตรูก็ตาม ถ้ามาอยู่ในภพดังกล่าวนี้ย่อมไม่ให้โทษแก่กันมากนัก สำหรับการอยู่ในราศีอื่นๆซึ่งไม่เป็นไปตามกฎอันนี้ ท่านว่าเป็นศัตรูแก่กัน ฯ

โศลกที่ ๔๒-๔๓-๔๔-๔๕

             เกี่ยวกับคู่มิตรและคู่ศัตรูของพระเคราะห์ต่างๆท่านกำหนดตายตัวไว้ดังนี้ พระอาทิตย์มีดาวที่เป็นมิตรคือจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี  ดาวที่เป็นศัตรูกับอาทิตย์คือศุกร์และเสาร์  ดาวที่เป็นกลางกับอาทิตย์คือพุธ  พระจันทร์มีดาวที่เป็นมิตรคืออาทิตย์และพุธ ดาวที่เป็นกลางกับจันทร์คืออังคาร พฤหัสบดี ศุกร์และเสาร์  พระอังคารมีดาวที่เป็นมิตรคืออาทิตย์ จันทร์และพฤหัสบดี  ดาวที่เป็นศัตรูกับอังคารคือพุธ ดาวที่เป็นกลางกับอังคารคือศุกร์และเสาร์  อาทิตย์กับศุกร์เป็นมิตรของพุธ  อังคาร พฤหัสบดีและเสาร์เป็นกลางกับพุธ จันทร์เป็นศัตรูกับพุธ  อาทิตย์ จันทร์และอังคารเป็นมิตรกับพฤหัสบดี  พุธและศุกร์เป็นศัตรูกับพฤหัสบดี  เสาร์เป็น

กลางกับพฤหัสบดี  พุธและศุกร์เป็นศัตรูกับพฤหัสบดี  เสาร์เป็นกลางกับพฤหัสบดี  พุธและเสาร์เป็นมิตรกับศุกร์  อาทิตย์และจันทร์เป็นศัตรูกับศุกร์ อังคารและพฤหัสบดีเป็นกลางกับศุกร์    อาทิตย์ จันทร์และอังคารเป็นศัตรูกับเสาร์  พฤหัสบดีเป็นกลางกับเสาร์  พุธและศุกร์เป็นมิตรกับเสาร์  การที่จะพิจารณาว่าดาวใดๆเป็นมิตรหรือศัตรูแก่กันมากน้อยเพียงใด จำเป็นจะต้องใช้กฎเกณฑ์อย่างอื่นๆมาประกอบด้วย มิตรหรือศัตรูของดาวต่างๆแบ่งออกไว้ ๕ ประการด้วยกันคือมิตระ หมายความว่าเป็นมิตรแก่กัน  อธิมิตระหมายความว่าเป็นมิตรแก่กันมากโดยใช้หลักอย่างอื่นประกอบด้วย  ศัตรูหมายความว่าเป็นศัตรูแก่กัน  อธิศัตรูหมายความว่าเป็นศัตรูกันอย่างร้ายกาจโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์อื่นๆประกอบด้วย  สะมะหมายความว่าเป็นกลางคือดาวที่เป็นมิตรหรือศัตรูก็ได้แต่ไม่ให้คุณหรือโทษมากนัก ฯ

หมายเหตุ

              เกี่ยวกับคู่มิตรคู่ศัตรูของพระเคราะห์ต่างๆดังที่ได้กล่าวมาแล้ว รู้สึกว่ายุ่งยากสักหน่อย  เพราะข้าพเจ้าแปลตามโศลกเป็นลำดับมาและอีกประการหนึ่งรู้สึกว่าการจัดคู่มิตรคู่ศัตรู ดูจะตรงกันข้ามกับของเรามาก  จึงทำให้ฟังขัดหูไปหมด อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้  ข้าพเจ้าจะได้ชี้แจงให้ท่านทราบอย่างละเอียดว่า เขาใช้หลักเกณฑ์อย่างไรกันในการจัดพระเคราะห์ต่างๆเป็นมิตรและศัตรูแก่กัน  สำหรับคู่มิตรคู่ศัตรูและเป็นกลางของพระเคราะห์ถ้าเขียนย่อๆจะได้ดังนี้

พระเคราะห์        ดาวที่เป็นมิตร            ดาวที่เป็นกลาง                  ดาวที่เป็นศัตรู

อาทิตย์         จันทร์,อังคาร,พฤหัสบดี                          พุธ                          ศุกร์,เสาร์

จันทร์            อาทิตย์,พุธ                             อังคาร,พฤหัสฯ,ศุกร์,เสาร์             ไม่มี

อังคาร           อาทิตย์,จันทร์,พฤหัสฯ              ศุกร์,เสาร์                                    พุธ

พุธ                อาทิตย์,ศุกร์                              อังคาร,พฤหัสบดี,เสาร์              จันทร์

พฤหัสบดี       อาทิตย์,จันทร์,อังคาร                 เสาร์                                     พุธ,ศุกร์

 

พระเคราะห์              ดาวที่เป็นมิตร       ดาวที่เป็นกลาง              ดาวที่เป็นศัตรู

ศุกร์                            พุธ,เสาร์                           อังคาร,พฤหัสบดี             อาทิตย์,จันทร์

เสาร์                        ศุกร์,พุธ                                     พฤหัสบดี         อาทิตย์,จันทร์,อังคาร

 

              เมื่อเขียนดังนี้แล้วท่านจะเข้าใจดีขึ้นและจำง่ายด้วย ท่านจะเห็นได้ว่าพระเคราะห์ต่างๆไม่ได้เป็นศัตรูและมิตรแก่กันเสมอไป บางนพเคราะห์เป็นมิตรกับพระเคราะห์อื่น แต่พระเคราะห์นั้นกลับเป็นศัตรูแก่ตนก็มีดังจะเห็นได้คือ อาทิตย์และเสาร์ต่างก็เป็นศัตรูแก่กันตลอดกาล อาทิตย์และอังคารก็เป็นมิตรแก่กันตลอดเวลา สำหรับจันทร์ไม่มีพระเคราะห์ใดๆเป็นศัตรูด้วยเลยแต่จันทร์กลับไปเป็นศัตรูกับศุกร์และเสาร์ พุธเป็นมิตรกับจันทร์แต่ในเวลาเดียวกันจันทร์กลับเป็นศัตรูกับพุธ  นอกจากนี้ท่านจะเห็นอีกว่าพฤหัสบดีไม่ได้เป็นศัตรูกับพระเคราะห์ใดๆเลย แต่พุธกับศุกร์กลับเป็นศัตรูต่อพฤหัสบดี ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงที่มาของคู่มิตรคู่ศัตรูของพระเคราะห์ต่างๆอย่างสมบูรณ์แบบ

              ก่อนอื่นท่านต้องตั้งดวงชะตาที่เรียกว่ามูละตรีโกณ ขึ้นก่อนดังที่ได้อธิบายไว้แล้วในโศลกที่ ๒๖ ของบทที่ ๑ คืออาทิตย์อยู่ราศีสิงห์ จันทร์อยู่ราศีพฤษภ อังคารอยู่ราศีเมษ พุธอยู่ราศีกันย์ พฤหัสบดีอยู่ราศีธนู ศุกร์อยู่ราศีตุลย์ เสาร์อยู่กุมภ์เมื่อตั้งดวงมูละตรีโกณขึ้นแล้วท่านวางหลักเกณฑ์ในการคิดคู่มิตรคู่ศัตรูไว้ดังนี้ เข้าเรือนเกษตร์ของภพที่๒-๔-๕-๘-๙และ๑๒และเข้าเรือนอุจจ์ของดาวในดวงมูละตรีโกณจะเป็นมิตรกับดาวนั้นนอกนั้นจะเป็นศัตรูทั้งสิ้น สำหรับดาวที่ครองสองราศีถ้าเป็นมิตรทั้งสองราศีนับเป็นมหามิตรหรืออธิมิตร ถ้าเป็นศัตรูทั้งสองราศีนับเป็นมหาศัตรูหรืออธิศัตรู ถ้าราศีหนึ่งเป็นมิตรราศีหนึ่งเป็นศัตรูนับเป็นกลางคืออาจให้ผลได้ทั้งร้ายและดีแล้วแต่กรณีซึ่งต้องคิดกฏเกณฑ์อย่างอื่นประกอบด้วย ต่อไปนี้จะชี้แจงให้เห็นคู่มิตรคู่ศัตรูของพระเคราะห์ทุกดวงซึ่งคิดจากดาวมูละตรีโกณ

                พระอาทิตย์อยู่ราศีสิงห์ จันทร์เป็นเจ้าเรือนกรกฏเป็นภพที่ ๑๒ จากอาทิตย์ จันทร์จึงเป็นมิตรกับอาทิตย์   อังคารเป็นเจ้าเรือนของพิจิกและเมษเป็นภพที่ ๔และ๙ จากอาทิตย์ อังคารจึงเป็นมหามิตรของอาทิตย์ นอกจากนั้นตำแหน่งอุจจ์ของอาทิตย์ยังอยู่ในเรือนของ

อังคารอีกด้วย  อังคารจึงเป็นมหามิตรคู่ใจของอาทิตย์ยิ่งกว่าพระเคราะห์ใดๆ พุธเป็นเจ้าเรือนของกันย์และเมถุนเป็นภพที่ ๒ และ ๑๑ จากอาทิตย์ พุธจึงเป็นกลางกับอาทิตย์คืออาจให้คุณหรือโทษก็ได้ พฤหัสบดีเป็นเจ้าเรือนของธนูและมีนเป็นภพที่ ๕ และ ๘ จากอาทิตย์ พฤหัสบดีจึงเป็นมหามิตรกับอาทิตย์ ศุกร์เป็นเจ้าเรือนของพฤษภและตุลย์เป็นภพที่ ๓ และ ๑๐ จากอาทิตย์ จึงเป็นมหาศัตรูของอาทิตย์ เสาร์เป็นเจ้าเรือนของมังกรและกุมภ์เป็นเจ้าเรือนของภพที่ ๖ และ ๗ จากอาทิตย์ เสาร์จึงเป็นมหาศัตรูของอาทิตย์

                พระจันทร์อยู่ราศีพฤษภ อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ จากจันทร์ อาทิตย์จึงเป็นมิตรกับจันทร์ อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๗ และ ๑๒ จากจันทร์ อังคารจึงเป็นกลางกับจันทร์  พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๕ จากจันทร์ พุธจึงเป็นมหามิตรของจันทร์ พฤหัสฯเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๘ และ ๑๑ จากจันทร์ พฤหัสฯจึงเป็นกลางกับจันทร์  ศุกร์เป็นเจ้าเรือนที่ ๑ และ ๖ จากจันทร์แต่จันทร์เป็นอุจจ์ในเรือนของศุกร์ ฉะนั้นศุกร์จึงเป็นกลางกับจันทร์ เสาร์เป็นเจ้าเรือนที่ ๙ และ ๑๐ จากจันทร์ เสาร์จึงเป็นกลางกับจันทร์ เมื่อวางจันทร์เป็นอุจจ์ในราศีพฤษภ ท่านจะเห็นว่าไม่มีดาวอะไรเลยเป็นศัตรูกับจันทร์ และถ้าจันทร์ในตำแหน่งนี้เป็นปูรณะจันทร์หรือเพ็ญจันทร์อีกด้วยซึ่งมี ๑ วันใน ๑ ปีเท่านั้น ท่านจึงถือว่าเป็นปูรณะจันทร์ที่เข้มแข็งที่สุดกว่าปูรณะจันทร์ในราศีอื่นๆ

                พระอังคารอยู่ราศีเมษ อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๕ อาทิตย์จึงเป็นมิตรกับอังคาร  จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ จันทร์จึงเป็นมิตรกับอังคาร พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๓ และ ๖ พุธจึงเป็นมหาศัตรูของอังคาร  พฤหัสบดีเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๙ และ ๑๒  พฤหัสฯจึงเป็นมหามิตรของอังคาร ศุกร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๗ ศุกร์จึงเป็นกลางกับอังคาร  เสาร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๐ และ ๑๑ แต่อังคารเป็นอุจจ์ในเรือนเสาร์ ฉะนั้นเสาร์จึงเป็นกลางกับอังคาร

                พระพุธอยู่ราศีกันย์ อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๒ อาทิตย์จึงเป็นมิตรกับพุธ จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๑ จันทร์จึงเป็นศัตรูกับพุธ อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๓ และ ๘ อังคารจึงเป็นกลางกับพุธ       พฤหัสบดีเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ และ ๗  พฤหัสบดีจึงเป็นกลางกับพุธ    ศุกร์เป็น

เจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๙ ศุกร์จึงเป็นมหามิตรกับพุธ เสาร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๕ และ ๖ จากพุธ เสาร์จึงเป็นกลางกับพุธ

                  พฤหัสฯอยู่ราศีธนู    อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๙     อาทิตย์จึงเป็นมิตรกับพฤหัสฯ จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๘ และพฤหัสฯเป็นอุจจ์ในเรือนจันทร์ จันทร์จึงเป็นมหามิตรของพฤหัสฯ อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๕ และ ๑๒ อังคารจึงเป็นมหามิตรกับพฤหัสฯ พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๗ และ ๑๐ พุธจึงเป็นมหาศัตรูของพฤหัสฯ ศุกร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๖ และ ๑๑  ศุกร์จึงเป็นมหาศัตรูของพฤหัสฯ เสาร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๓ เสาร์จึงเป็นกลางกับพฤหัสฯ

                   พระศุกร์อยู่ราศีตุลย์ อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๑      อาทิตย์จึงเป็นศัตรูกับศุกร์ จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๑๐ จันทร์จึงเป็นศัตรูกับศุกร์          อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๗ อังคารจึงเป็นกลางกับศุกร์ พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๙  และ  ๑๒    พุธจึงเป็นมหามิตรกับศุกร์  พฤหัสฯเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๓ และ ๖ แต่ศุกร์เป็นอุจจ์ในเรือนพฤหัสบดี พฤหัสบดีจึงเป็นกลางกับศุกร์   เสาร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ และ ๕ เสาร์จึงเป็นมหามิตรของศุกร์

                   พระเสาร์อยู่ราศีกุมภ์  อาทิตย์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๗ อาทิตย์จึงเป็นศัตรูของเสาร์ จันทร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๖ จันทร์จึงเป็นศัตรูของเสาร์  อังคารเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๓ และ ๑๐ อังคารจึงเป็นมหาศัตรูของเสาร์ พุธเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๕ และ ๘  พุธจึงเป็นมหามิตรของเสาร์  พฤหัสฯเป็นเจ้าเรือนภพที่ ๒ และ ๑๑  พฤหัสฯจึงเป็นกลางกับเสาร์   ศุกร์เป็นเจ้าเรือนภพที่ ๔ และ ๙   และเสาร์เป็นอุจจ์ในเรือนศุกร์ ฉะนั้นศุกร์จึงเป็นมหามิตรที่สำคัญยิ่งของเสาร์

โศลกที่ ๔๖

                  ในการพิจารณาการเป็นมิตร  การเป็นศัตรู  หรือการเป็นกลางของพระเคราะห์ต่างๆต้องพิจารณาด้วยกฏเกณฑ์หลายประการ ถ้าทุกประการส่อว่าเป็นศัตรูจะให้ร้ายแก่เจ้าชะตาอย่างหนัก  ถ้าทุกประการส่อว่าเป็นมิตรจะให้คุณแก่เจ้าชะตาอย่างมหาศาล  สำหรับพระเคราะห์ที่เป็นกลางยิ่งต้องพิจารณาให้มากและละเอียดสุขุมที่สุดเพราะอาจให้คุณและโทษได้ในเวลาเดียวกัน ฯ