หลักการและทฤษฎีของ "นวางศ์มรณะ" หรือ นวางศ์ลูกที่ 64 มีความสำคัญมากสำหรับผู้ที่ศึกษาโหราศาสตร์พระเวทซึ่งเป็นจุดที่อ่อนไหวที่สุดในพื้นดวงกำเนิด และสามารถทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ร้ายและรุนแรงในชีวิตของเจ้าชาตา จนกระทั่งสามารถนำความตายมาสู่เจ้าชาตาได้ ซึ่งดาวเคราะห์เจ้านวางศ์ลูกที่ 64 นี้ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "ฉิทระเคราะห์ छिद्रग्रह" และนวางศ์ลูกที่ 64 ก็มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "ขะระ นวางศ์ खर नवमांश " คำว่า"ขะระ" (พญาขร)นั้นเป็นชื่อของยักษ์ตนหนึ่งในมหากาพย์รามายานะ (รามเกียรติ์)
**พระยาขร (ขะระ - พญายักษ์ ) เป็นตัวละครจากวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ มีศักดิ์เป็นน้องของทศกัณฐ์ กุมภกรรณ และพิเภก สำหรับในการแสดงโขน ก็จะมีรูปลักษณ์สีเขียว มี ๑ หน้า ๒ มือ และสวมมงกุฎยอดจีบ
พระยาขร (พญาขร) เป็นโอรสองค์ที่ ๔ ของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎา น้องชายร่วมบิดามารดาของทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก ทูษณ์ ตรีเศียร และนางสำมนักขา พญาขรเป็นกษัตริย์เมืองโรมคัลองค์ที่ ๑ มีบทบาทแค่ตอนที่ นางสำมนักขา ผู้เป็นน้องสาว แค้น พระรามและได้มาขอความช่วยเหลือ ให้ไปฆ่าพระราม แต่สุดท้าย พระยาขร ก็โดนพระรามแผลงศร ตายในที่สุด
วิธีการคำนวณ นวางศ์ลูกที่ 64
เนื่องจากเรารู้แล้วว่า นวางศ์จักรนั้นมีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาวรรคทั้ง 16 วรรค (โษทศวรรค) และดาวเคราะห์ที่สถิตย์ในนวางศ์จักรนั้นก็มีความสำคัญในด้านการพิจารณาดวงชาตาในเชิงลึกและสามารถนำมาตัดสินดวงชาตาในขั้นเด็ดขาดได้
ส่วนการคำนวณหานวางศ์ลูกที่ 64 นั้น มีหลายวิธีซึ่งอ้างอิงตามคัมภีร์โหราศาสตร์มาตรฐาน เช่น พฤหัส ปะราสาระ โหราศาสตร์ แนะนำให้คำนวณจากลัคนาและตำแหน่งดาวจันทร์ ส่วนคัมภีร์ ปาริชาติ ชาดก แนะนำให้คำนวนจากตำแหน่งดาวจันทร์ตำแหน่งเดียวเท่านั้น
ซึ่งนักโหราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่านต่างก็แนะนำว่า หากต้องการให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดก็ควรจะคำนวณทั้ง 2 ตำแหน่ง คือจากลัคนาและตำแหน่งดาวจันทร์ และนักโหราศาสตร์บางท่านก็แนะนำให้คำนวณ "นวางศ์ลูกที่ 64" จากทุกๆเรือนชาตา เพื่อนำมาใช้ในการพยากรณ์เหตุการณ์ดี-ร้ายตามความหมายของเรือนนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการคำนวณนวางศ์ลูกที่ 64 จากลัคนา ก็ต้องตรวจดูว่าราศีใดเป็นราศีลำดับที่ 4 จากลัคนา(ของนวางศ์จักร) ซึ่งนวางศ์ราศีลำดับที่ 4 นี้เอง ก็คือ นวางศ์ลูกที่ 64
สมมุติว่าในราศีจักร เจ้าชาตามีลัคนาสถิตย์ราศีมีนและลัคนาเสวยนวางศ์ราศีมังกร และนวางศ์ลูกที่ 64 จากลัคนาจะเป็นนวางศ์ราศีลำดับที่ 4 จาก นวางศ์ราศีมังกร ซึ่งก็คือ นวางศ์ราศีเมษ นับเป็น “นวางศ์ลูกที่ 64” เมื่อเราได้คำนวณออกมาแล้วว่า นวางศ์ลูกที่ 64 คือ นวางศ์ราศีเมษ และดาวอังคารเกษตรราศีเมษ ก็จะถูกเรียกว่าเป็น "ดาวฉินทระเคราะห์" (ดาวให้โทษ)
เคล็ดลับ-เช่นเดียวกับหลักการข้างต้นในทางดาวจร เรายังสามารถคำนวณ “นวางศ์ลูกที่ 64” ของดาวเคราะห์ใดใดก็ได้ เช่น ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ฯลฯ และเมื่อดาวบาปเคราะห์ใดใดโคจรผ่าน “นวางศ์ลูกที่ 64” ของดาวเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น ย่อมส่งผลร้ายให้กับเรือนชาตาที่ดาวเคราะห์เหล่านั้นเป็นเจ้าเรือนอยู่
การประยุกต์ใช้ นวางศ์ที่ 64
การใช้นวางศ์ที่ 64 ตามแบบมาตรฐานทั่วไป กฏทั่วไปมีอยู่ว่า “ เมื่อเจ้านวางศ์ที่ 64 สถิตย์ร่วมกับ ดาวเสาร์ ราหู หรือ เกตุ และสถิตย์ในเรือนทุสถานะภพ(ในราศีจักร) ซึ่งก็คือ เรือนที่ 6, 8, หรือ 12 ในพื้นดวงชาตากำเนิด พยากรณ์ว่า เจ้าชาตาจะตายอย่างผิดธรรมชาติ (เช่นอุบัติเหตุ หรือการลอบทำร้าย) โดยไม่มีญาติ พี่น้องอยู่ใกล้ๆ ตอนใกล้ตาย และกฎต่อไปนี้สามารถใช้กับนวางศ์ที่ 64 ดังนี้
(1.) การที่ดาวบาปเคราะห์โคจรผ่าน "นวางศ์ที่ 64" สามารถทำให้เกิดเหตุการณ์ด้านลบที่รุนแรง โดยเฉพาะเมื่อดาวบาปเคราะห์เข้าไปสถิตย์ในนวางศ์ที่ 64 นั้น
(2.) หากดาวบาปเคราะห์สถิตย์อยู่ใน"นวางศ์ที่ 64" ของดาวเคราะห์ใดใดย่อมทำให้เกิดอันตรายตามความหมายของดาวเคราะห์และความหมายของเจ้าเรือนนั้นๆ
ตัวอย่าง –ในดวงชะตาหญิงผู้หนึ่งมีดาวศุกร์สถิตย์ในนวางศ์ตุลย์ นับไป 4 ลูกนวางศ์ตกนวางศ์ราศีมังกร ดังนั้นนวางศ์มังกรจึงเป็นนวางศ์ที่ 64 หรือนวางศ์มรณะสำหรับดาวศุกร์ และมีดาวเกตุร่วมเสาร์สถิตย์อยู่ใน นวางศ์มังกร (นวางศ์ที่ 64) จึงทำให้สามีของเธออายุสั้น และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (เนื่องจากดาวศุกร์เป็น “การกะ” หรือตัวแทนของความรักหรือคู่สมรส)
3. เมื่อดาวเคราะห์ที่เป็นเจ้านวางศ์ที่ 64 นับจาก ลัคนาหรือ จันทร์ และ เจ้าตรียางค์ที่ 22 ซึ่งหากเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวกัน และโคจรผ่านราศีที่ไม่มีอัษฏะกะวรรค พินทุ (अष्टकवर्ग बिन्दु) ซึ่งเป็นราศีที่ไร้กำลัง ความตายกำลังจะคืบคลานเข้ามาหาเจ้าชาตา
หมายเหตุ -ตรียางค์ที่ 22 (เทรษกาณะที่ 22) หรือตรียางค์มรณะ บางทีก็เรียก “ขะเรศะ” (खरेश)ยังเป็นจุดอ่อนไหวในดวงชาตาอีกจุดหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับนวางศ์ที่ 64 ซึ่งในตรียางค์จักร การคำนวณหาตรียางค์ที่ 22 ซึ่งก็จะตรงกับเรือน/ราศีที่ 8 นับจากตรียางค์ลัคนา และจะพูดถึงเรื่องนี้ในบทความ ตรียางค์หรือเทรษกาณะ / เทรกกาณะ (द्रेष्काण / द्रेक्काण) แยกออกไปต่างหาก
(4.) เจ้าชาตาจะมีอายุสั้น เมื่อดาวเจ้านวางศ์ที่ดาวจันทร์สถิตย์อยู่นั้นเป็นดาวคู่ศัตรูกับ ดาวเจ้านวางศ์ที่ 64
(5.) เจ้าชาตาจะมีอายุปานกลาง เมื่อดาวเจ้านวางศ์ที่ดาวจันทร์สถิตย์อยู่นั้นเป็นดาวเป็นกลางกับ ดาวเจ้านวางศ์ที่ 64
(6.) เจ้าชาตาจะมีอายุยืนยาว เมื่อดาวเจ้านวางศ์ที่ดาวจันทร์สถิตย์อยู่นั้นเป็นดาวคู่มิตรกับ ดาวเจ้านวางศ์ที่ 64
เช่นเดียวกันกับกฎทฤษฎีดังกล่าวข้างต้น เราก็สามารถที่จะคำนวณหา นวางศ์ที่ 64 ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังคำนวณหานวางศ์ที่ 64 ของดาวเคราะห์ต่างๆได้ด้วยเช่นกัน และในทางจรก็ตรวจสอบได้ว่าเมื่อใดที่ดาวบาปเคราะห์โคจรผ่านนวางศ์ที่ 64 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับเจ้าชาตา และยิ่งหากเป็นดาวเคราะห์ที่โคจรช้า เช่น เสาร์ ราหู เกตุ ความรุนแรงก็จะมีมากขึ้นและใช้เวลานานขึ้นอีกด้วย
********************************************