เผยความลับในนวางศ์จักร-ตอนที่1 ระยะเชิงมุมสัมพันธ์
ในระบบโหราศาสตร์ทั้งของไทยและภารตะ มีการใช้ดวงนวางศ์กันอย่างแพร่หลาย ควบคู่ไปกับการใช้ดวงจักราศีหรือดวงอีแปะ ซึ่งการตรวจดวงชาตาในขั้นลึกนั้นจะขาดดวงนวางศ์นั้นมิได้เลยเป็นอันขาด เพราโบราณท่านเรียกดวงนวางศ์จักรนั้นว่า “ไส้ชาตา” หมายความว่า ดวงนวางศ์เป็นศาสตร์ในขั้นลึกหรือขั้นที่สามารถตัดสินผิดถูก ชั่วดี ความเป็นความตาย และการเจริญขึ้นไปจนถึงความเสื่อมของดวงชาตานั้นๆ ซึ่งผู้ที่เรียนโหราศาสตร์ส่วนมากมักจะได้เรียนรู้ศาสตร์แค่ภายนอกหรือจากดวงราศีจักร ส่วนดวงนวางศ์จักรนั้นไม่ค่อยจะมีการเปิดเผยหรือสอนวิธีการดูสักเท่าไหร่ อีกทั้งตำราที่อธิบายในเรื่องนี้โดยตรงก็ไม่มี อาจจะเป็นเพราะครูอาจารย์ท่านหวงแหน หากไม่ใช่ศิษย์รักแล้วล่ะก็ ท่านก็ไม่อาจจะเปิดเผยให้รู้ได้ง่ายๆ ซึ่งหากใครได้เรียนรู้ลึกซึ้งเข้าไปถึงดวงนวางศ์แล้ว ก็ถือว่า สามารถเป็นครูอาจารย์สอนคนได้แล้ว
ความสำคัญของดวงนวางศ์จักร
ดวงนวางศ์นั้นถือได้ว่าเป็นหัวใจของโหราศาสตร์ภารตะและโหราศาสตร์ระบบนิรายนะเลยทีเดียว เพราะเป็นจุดศูนย์รวมของพลังต่างๆของจักรราศีทั้ง 12 ราศี (ราศีจักร) ธาตุทั้ง 4 ดาวเคราะห์ทั้ง 7 และดาวนักษัตรฤกษ์ทั้ง 27 (นักษัตรจักร)เอาไว้เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งในการแบ่งราศีออกเป็นส่วนๆของโหราศาสตร์ภารตะนั้นท่านแบ่งละเอียดลงไปถึง 16 ส่วน(วรรค) หรืออาจจะมากกว่านั้น แต่ท่านจะถือว่าส่วนที่เป็นนวางศ์ (นวอัมศะ) เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในทุกวรรค เนื่องจากมีความสมบูรณ์ในตัวเองมากกว่าวรรคอื่นๆทั้งหมด
รูปแบบของดวงนวางศ์จักร คือ ระยะเชิงมุมสัมพันธ์อันซับซ้อน
การจัดวางรูปแบบของดวงนวางศ์นั้น มี 108 ลูกนวางศ์ในมุมมอง 2 มิติ เพราะท่านได้วางหลักของการใช้พลังรังสีทั้ง 12 ราศี ของแต่ละราศีไล่กันไป 9 รอบติดต่อกันจนครบ 360 องศา ตกนวางศ์ลูกละ 3 องศา 20 ลิปดา ซึ่งการจัดวางนั้นท่านหมายเอาให้รังสีต่างๆในแต่ละราศีมีอิทธิพลต่อเนื่องกันไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากเรามองในรูป 3 มิติ ก็จะเห็นว่าแต่ละราศี ซ้อนเหลื่อมๆกันขึ้นไปเป็นชั้นๆถึง 9 ชั้น อันนี้ต้องใช้จินตนาการมากสักหน่อยจึงจะเข้าใจ ส่วนหากคนที่เรียนโหรตะวันตกมา เราอาจจะง่ายอธิบายๆได้ว่า ดวงนวางศ์จักรนั้นก็คือ Nonile Aspect หรือระยะเชิงมุม 40 องศา ซึ่งก็คือ 3.20องศา คูณ 12 ราศี เท่ากับ 40 องศา และ 40องศา คูณ 9 เท่ากับ 360 องศา
ทำไมจะต้องเป็น 108 นวางศ์
จะว่ากันแล้วคำว่า 108 ที่เราได้ยินได้ฟังกันมาตลอดอาจจะดูเหมือนเป็นของขลังหรือของศักดิ์สิทธิ์ แต่ที่มาที่ไปของคำว่า 108 เราก็อาจจะไม่เคยได้รู้ คราวนี้เราจะวิเคราะห์กันโดยละเอียด ในเรื่องของ 108 คำว่า 108 มักจะใช้กันมากในการแสดงความหมายของความสำคัญของสิ่งต่างๆ และความหมายของพลังงาน ในระบบปรัชญา เทววิทยาและจักรวาลวิทยาของฮินดูโบราณ
108 กับ จักรราศี ตามที่ได้อธิบายมาข้างต้น นวางศ์ทั้ง 108 นั้นมาจากระยะเชิงมุมของจักราศีทั้ง 12 ราศีที่มาจากระยะเชิงมุมทุกๆ 40 องศา (40/12 = 3.2) ดังนั้นใน 1จักรราศี หรือ 360 องศา จะมีระยะเชิงมุมนี้ 9 ครั้ง (360/40 = 9) อันนี้เราจะถือว่านวางศ์มาจากราศีจักร ซึ่งราศีจักรเป็นการแบ่งจักรวาลออกเป็น 12 ส่วน หรือ 12ราศี ซึ่งแบ่งตามการโคจรของดวงอาทิตย์ในเส้นสุริยวิถี ผ่านกลุ่มดาวจักราศีทั้ง 12
108 กับ กลุ่มดาวนักษัตรทั้ง 27 นักษัตร เราได้เคยเรียนนรู้มาแล้วว่า ในจักราศีมี 27 นักษัตร(หรือฤกษ์)รายล้อมอยู่ และแต่ละนักษัตรมีความกว้าง 13 องศา 20 ลิปดา โดย1นักษัตรฤกษ์จะมี 4 บาท บาทละ 3 องศา 20 ลิปดา ซึ่งจะตรงกับนวางศ์ข้างต้นซึ่งมี 108 นวางศ์พอดี (27/4 = 108) ส่วนอันนี้เราจะถือว่า นวางศ์มาจาก”นักษัตรจักร” หรือการอ้างอิงการโคจรของดวงจันทร์ผ่านกลุ่มดาวนักษัตรทั้ง 27
เราก็จะเห็นได้ว่าดวงนวางศ์จักรถือเอาความสัมพันธ์ของการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ผ่านทั้งราศีจักรและนักษัตรจักรมาผสมผสานกันอย่างลงตัว โดยอาศัยระยะเชิงมุมของวิชาเรขาคณิตมาเป็นตัวแบ่งและกำหนดความสัมพันธ์ เพื่อหาจุดเชื่อมโยงและจุดร่วมของพลังสำคัญทั้งสองระบบของจักรวาลคือพลังอาทิตย์และจันทร์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งความสัมพันธ์ของอาทิตย์และจันทร์ข้างต้น เราก็อาจจะเข้าได้ถึงพลังของความเป็นหยินและหยาง ความเป็นพ่อเป็นแม่ ก่อกำเนิดสรรพสิ่งทั้งมวล ซึ่งดวงนวางศ์จักรจะอธิบายความสัมพันธ์ในเรื่องนี้ได้ดีและชัดเจนมาก โดยเฉพาะเรื่องการดูเนื้อคู่ ดูคู่ครอง ดูการแต่งงาน จะต้องดูจากดวงนวางศ์นี้เท่านั้นจึงจะตัดสินได้