องค์เกณฑ์และอุดมเกณฑ์
คุณสมบัติขององค์เกณฑ์และอุดมเกณฑ์
องค์เกณฑ์ คือ ดาวเคราะห์ที่อยู่ในลักษณะเป็นเกณฑ์แบบใดแบบหนึ่ง ใน ๔ แบบ ประจำราศี ๔ ประเภท ตามลัคนาสถิตคือ ราศีปัสวะเกณฑ์ ราศีนระเกณฑ์ ราศีอัมพุ และราศีกีฏะเกณฑ์ โดยมีดาวเคราะห์อยู่ตามลัคนาราศีบังคับของแต่ละราศีแล้วดาวเคราะห์นั้นได้ชื่อว่าเป็น”องค์เกณฑ์”
ลัคนาราศีเกณฑ์แบ่งได้ดังนี้
- ปัสวะเกณฑ์ คือ ประเภทสัตว์บก ๔ เท้า ได้แก่ ลัคนาราศี เมษ พฤศภ สิงห์
- นระเกณฑ์ คือ ประเภทมนุษย์ ได้แก่ ลัคนาราศี เมถุน กันย์ ตุลย์ ธนูและกุมภ์
- อัมพุเกณฑ์ คือ ประเภทสัตว์น้ำ ได้แก่ ลัคนาราศี กรกฏ มังกร มีน
- กีฏะเกณฑ์ คือ ประเภทสัตว์แมลง ได้แก่ ลัคนาราศี พิจิก
กฎเกณฑ์ข้อบังคับของแต่ละราศีมีดังนี้
โบราณจารย์กล่าวเป็นคำอรรถไว้ดังนี้ “นระเอกะ จตุอำพุ กิตตะสัตตะ ปัสวะทศ” ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดดังนี้คือ
- นระเกณฑ์ (นระเอกะ) คือ บุคคลผู้มีลัคนาใน ๕ ราศีคือ เมถุน กันย์ ธนู กุมภ์ ตุลย์ แล้วมีดาวเคราะห์ อาทิตย์หรือพฤหัสหรือเสาร์ องค์ใดองค์หนึ่ง กุมลัคนา(เป็นหนึ่ง=เอกะ) ได้ชื่อว่า ดาวเคราะห์ดวงนั้นเป็นองค์เกณฑ์ราศีนระเกณฑ์ เฉพาะผู้มีดาวพฤหัสกุมลัคนามีชื่อเรียกว่าอีกชื่อว่า “กมุทเกณฑ์” มีลักษณะดังดอกบัว ถ้าเป็นดาวพฤหัสกุมลัคนาเฉพาะในราศีกุมภ์มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า”มุตโต” แปลว่าผู้รู้ เนื่องจากราศีนี้ถือว่าดาวมฤตยูเป็นเจ้าเรือนด้วย ซึ่งนับว่าเป็นเรือนมืด ดาวพฤหัสมาอยู่ราศีนี้ทำให้สว่างขึ้นได้ เท่ากับเป็นผู้ทำให้สว่างหรือผู้รู้นั่นเอง
ท่านประพันธ์ไว้เป็นคำโคลงดังนี้
นะระสุริยะเยื้อง รังสี
โสระชีวะโดยมี ถูกต้อง
สามองค์เทพโสภี กุมลัคน์
ดวงชะตาใดดั่งพร้อง ยศนั้นนาพัน
- อำพุเกณฑ์ (จตุอำพุ) คือบุคคลที่มีลัคนาสถิตใน ๓ ราศี คือ กรกฏ มังกร มีน แล้วมีดาวเคราะห์ จันทร์ พุธ พฤหัส ศุกร์ องค์ใดองค์หนึ่งเป็น ๔(จตุ) แก่ลัคนาได้ชื่อว่าดาวเคราะห์องค์นั้นเป็นองค์เกณฑ์ เฉพาะดาว ๒ ๕ ๖ เป็น ๔ แก่ลัคน์มีชื่อเรียกว่า”ปทุมเกณฑ์” ปทุมแปลว่าหอม หมายถึงคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักที่ชอบใจคนทั้งหลาย อีกชื่อหนึ่งว่าเป็น”จัตุรเกณฑ์”
ท่านประพันธ์ไว้เป็นคำโคลงดังนี้
อัมพุชพลจุ่งแจ้ง สี่สถาน
พุธ ศุกร์ ชีวะวาร ส่งสร้อย
จันทร์องค์ประไพพาล รุจิเรก
คุณย่อมแสดงใช่น้อย ยศนั้นถึงพระยา
- กีฏะเกณฑ์(กิตตสัตตะ) คือบุคคลที่มีลัคนาสถิตในราศีพิจิกราศีเดียวแล้วมีดาวเคราะห์ คือ อังคาร ราหู องค์ใดองค์หนึ่งเป็น ๗ (สัตตะ=๗) แก่ลัคนา ได้ชื่อว่าดาวเคราะห์นั้นเป็นองค์เกณฑ์
ท่านประพันธ์ไว้เป็นคำโคลงดังนี้
กิฏะสัตตะต้อง ภุมเมนทร์
อสุรินทร์องค์เกณฑ์ กล่าวไว้
แม้ชาติตัวเวร อัปลักษณ์ ก็ดี
คุณก็แสดงให้ ยศนั้นเสมอพงศ์
- ปัสวะเกณฑ์(ปัสวะทศ) คือบุคคลที่มีลัคนาสถิตใน ๓ ราศี คือราศีเมษ พฤศภ สิงห์ แล้วมีพระเคราะห์ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พฤหัส เป็น ๑๐(ทศะ) แก่ลัคนาได้ชื่อว่าดาวเคราะห์นั้นเป็นองค์เกณฑ์
ท่านประพันธ์ไว้เป็นคำโคลงดังนี้
ปัศวะทศต้อง องค์เกณฑ์
ชีวะจันทร์ภุมเมนทร์ ผ่องแผ้ว
อีกองค์สุริเยนทร์ ทรงยศ
สี่สถานเลิศแล้ว ยศนั้นถึงพระยา
คุณสมบัติของพระเคราะห์ที่เป็นองค์เกณฑ์ ถึงแม้จะเป็นประ นิจหรือกาลกิณี ก็สงบความร้ายกาจหมด กลับส่งเสริมให้คุณแก่เจ้าชะตาตามนิสัยของพระเคราะห์นั้นๆ
อุดมเกณฑ์ คือ ดาวเคราะห์ตามลัคนาในราศีบังคับเช่นเดียวกับองค์เกณฑ์ แต่เรียกชื่อเป็นอุดมนำหน้าคือ
- อุดมนระ คือบุคคลที่มีลัคนาในราศีนระ แล้วมีดาวเคราะห์ ๔ ๕ ๖ กุมลัคนาหรือเป็น ๓, ๔, ๗, ๑๑ แก่ลัคนา เรียกว่าดาวเคราะห์นั้นได้อุดมเกณฑ์ ท่านว่าเจ้าชะตาจะไม่รู้จักเข็ญใจเลย
- อุดมอัมพุ คือ บุคคลที่มีลัคนาในราศีอัมพุ แล้วมีดาวเคราะห์ ๓ ๕ ๗ ๘ เป็น ๔, ๕, ๙ แก่ลัคนา เรียกว่าดาวเคราะห์นั้นได้อุดมเกณฑ์
- อุดมกีฎะ คือบุคคลที่มีลัคนาในราศีกีฏะ แล้วมีดาวเคราะห์ ๓ ๘ เป็น ๓, ๗, ๙, ๑๒ แก่ลัคนา เรียกว่าดาวเคราะห์นั้นได้อุดมเกณฑ์
- อุดมปัสวะ คือบุคคลที่มีลัคนาในราศีปัสวะ แล้วมีพระเคราะห์ ๑ ๒ ๓ ๖ เป็น ๖, ๑๐ แก่ลัคนา เรียกว่าดาวเคราะห์นั้นได้อุดมเกณฑ์
คุณสมบัติของดาวพระเคราะห์ที่เป็นอุดมเกณฑ์ เช่นเดียวกับดาวเคราะห์องค์เกณฑ์
ดาวฆาฏประจำราศีเกณฑ์
ดาวฆาฏ คือ ดาวที่ให้โทษหนัก ดาวเคราะห์ทุกองค์เป็นฆาฏทั้งนั้น เพียงแต่มีน้ำหนักอ่อนและแรงไม่เท่ากัน เรียงตามลำดับได้ดังนี้
- ดาว ๔ ๖ เป็นดาวฆาฏที่อ่อน
- ดาว ๓ ๕ ๗ ๘ เป็นดาวฆาฏที่แรง
- ดาว ๑ เป็นดาวฆาฏที่แรงรองลงมาจากข้อ ๒
- ดาว ๒ เป็นดาวฆาฏที่แรงที่สุด คือ เป็นจุดดับของดวงชะตานั้นเลย
เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้ง ๘ ดวงเป็นดาวเคราะห์ประจำองค์เกณฑ์และอุดมเกณฑ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นดาวทุกดวงจึงเป็นดาวฆาฏได้ เพียงแต่มีความรุนแรงไม่เท่ากัน แต่การดับของดวงชะตาต้องขึ้นอยู่ที่การโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นอันดับสุดท้ายที่จะชี้ขาดวันสิ้นอายุของเจ้าชะตาได้
ดาวฆาฏประจำราศีเกณฑ์ ได้แก่ดาวฆาฏประเภทสอง เป็นดาวฆาฏที่แรง ใช้สำหรับการเล่นทางดาวจร ซึ่งจะกล่าวในที่นี้แต่เพียงพอเป็นสังเขป ส่วนรายละเอียดจะกล่าวในเล่มที่สองว่าด้วยดาวจรทั้งหมดต่อไป
ดาวฆาฏจรมี ๔ ราศีเกณฑ์
- ปัสวะชีโว คือ ฆาฏพฤหัส สำหรับผู้มีลัคนาปัสวะคือ ราศีเมษ พฤศภ สิงห์ ดาวฆาฏของบุคคลเกิดราศีนี้ก็คือดาวพฤหัส(๕)
- นระโสโร คือ ฆาฏเสาร์ สำหรับผู้ที่มีลัคนาราศีนระ คือ ราศี กันย์ ตุลย์ ธนู กุมภ์ ดาวฆาฏของบุคคลผู้เกิดราศีนี้คือดาวเสาร์(๗)
- อัมพุภุมโม คือ ฆาฏอังคาร สำหรับผู้ที่มีลัคนาราศีอัมพุ คือ ราศีกรกฏ มังกร มีน ดาวฆาฏของบุคคลผู้เกิดราศีนี้คือดาวอังคาร(๓)
- กีฏะอสุรินโท คือ ฆาฏราหู สำหรับผู้ที่มีลัคนาราศีกีฏะ คือราศี พิจิก ดาวฆาฏประจำราศีก็คือดาวราหู(๘)
ดาวฆาฏจรเหล่านี้ต้องดูรายละเอียดในการจรมาแต่ละปี ว่าจรมามีทักษาเป็นอะไรและทับดาวเดิมในดวงชะตาเป็นอย่างไร เหตุการณ์จะเกิดขึ้นไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีดาวฆาฏตามภูมิทักษาจร เพื่อทราบว่าในปีนั้นเจ้าชะตาบุคคลนั้นอายุภูมิเสียหรือไม่และดาวอะไรเป็นกาลกิณีจร.
***ข้อมูลจากหนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโหราศาสตร์ไทยค้นคว้าและเรียบเรียงโดย อาจารย์วาสนา จันทภาษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์