ราศีภาคอุตตรายันและราศีภาคทักษิณายันในระบบโหราศาสตร์พระเวท
ราศีอุตตรายัน(หรือราศีภาคเหนือ)และราศีทักษิณายัน (หรือราศีภาคใต้)ครึ่งแรกของจักรราศี มี 6 ราศี คือ (1)ราศีเมษ (2) ราศีพฤษภ (3) ราศีเมถุน (4) ราศีกรกฏ (5) ราศีสิงห์ และ (6) ราศีกันย์ เรียกว่าราศีอุตรายัน เพราะราศีเหล่านี้อยู่ทางเหนือของเส้นศูนย์สูตรฟ้า (Celestial Equatorial)
และส่วนที่เหลืออีก 6 ราศี คือ (7)ราศีตุลย์ (8) ราศีพิจิก (9)ราศีธนู (10) ราศีมังกร (11) ราศีกุมภ์ และ (12) ราศีมีน อยู่ทางใต้ของเส้นศูนย์สูตรของท้องฟ้า (ในซีกโลกใต้) และเรียกว่าเป็นราศีทักษิณายัน
ความแตกต่างระหว่าง อุตตรายัน และ ทักษิณายัน คืออะไร?
"อุตตรายัน"เป็นเทศกาลหนึ่งที่รู้จักกันในอินเดีย ชื่อ วันมกราสังการานติ และในอินเดียมีการเฉลิมฉลองของเทศกาลนี้ เนื่องจากมันเป็นช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยว และแสดงถึงการโคจรของดวงอาทิตย์จากทิศใต้(ปัดใต้)ขึ้นสู่ทิศเหนือ(ปัดเหนือ) และความสำคัญกับความแตกต่างระหว่าง อุตตรายันและ ทักษิณายัน คืออะไร จะได้ทำการอธิบายและเจาะลึงลงไปในรายละเอียดดังต่อไปนี้
สำหรับในประเทศอินเดีย "เทศกาล มกราสังกรานติ" จะมีการเฉลิมฉลองในวันที่ 14 มกราคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ที่ถูกกำหนดเอาไว้แน่นอนตามปฏิทินระบบสุริยคติ ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เริ่มโคจรปัดเหนือ(อุตรายัน) หรือวันที่ดาวอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีมังกรในโหราศาสตร์ระบบนิรายนะ
อุตตรายัน: ความหมาย
ดังที่เรารู้กันว่าใน 1 ปีมีอยู่สอง "อายัน" หรือช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากที่สุด (Solstices) หรืออาจจะเรียกได้ว่า พระอาทิตย์ เปลี่ยนตำแหน่งสองครั้งในทุกๆ 1 ปี การเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งดาวอาทิตย์นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่ออุตตรายันในฤดูร้อน(summer Solstice) และอุตรายันในฤดูหนาว (winter solstice)
คำว่า"อุตรายัน"ในภาษาสันสกฤตคือ: उत्तरायण = त्तर อุตตร(ทิศเหนือ) + आयन อายัน(การมาถึง) ซึ่งมีระยะเวลาเวลายาวนานถึงหกเดือน ในช่วงวันที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่อุตตรายันจะทำให้เวลากลางวันจะค่อยๆจะนานขึ้นและเวลากลางคืนจะค่อยๆสั้นลง
ในประเทศอินเดียจะมีการจัดเทศกาลและแสวงบุญหลายครั้งในช่วง 6 เดือนที่อาทิตย์กำลังโคจรปัดเหนือ(อุตตรายัน) ซึ่งชาวฮินดูถือว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลามงคลที่ควรจะทำการมงคลต่างๆ เช่น การสร้างบ้าน การแต่งงาน ทำการเซ่นสรวงบูชาเทพเทวดา การทำบุญต่างๆ ฯลฯ
มีการกล่าวกันว่าใน อาทิตย์กำลังโคจรปัดเหนือ(อุตตรายัน)นี้ รังสีของดวงอาทิตย์จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ผิวหนัง และมีผลดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งในหลาย ๆ รัฐของอินเดีย ผู้คนจึงมีกิจกรรมที่ทำกลางแจ้ง เช่น เล่นว่าว เพื่อให้มีโอกาสในการอาบแดดและรับพลังอันเป็นมงคลจากรังสีพระอาทิตย์มากขึ้น
ในโหราศาสตร์พระเวท อุตตรายัน- ซึ่งจะเริ่มต้นจาก วัน"มกราสังกรานติ" หรือวันที่ 14 มกราคม ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความมีอำนาจและเป็นศิริมงคล ซึ่งในวันนี้พระอาทิตย์เริ่มโคจรจากปัดใต้ไปยังปัดเหนือคือจากราศีมังกร ไปยัง ราศีกรกฏ นับเป็นช่วงเวลานานหกเดือนที่ดาวอาทิตย์โคจรผ่าน 6 ราศี คือ ราศีมังกร ราศีกุมภ์ ราศีมีน ราศีเมษ ราศีพฤษภ และราศีมิถุนตามลำดับในช่วงเวลานี้ 'ทินมาน' (ช่วงเวลากลางวัน)ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน และ 'ราตรีมาน'(ช่วงเวลากลางคืน) ก็จะลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่วนทิศทางของพระอาทิตย์ขึ้นก็จะค่อยๆเปลี่ยนจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปเป็นทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงหกเดือนของอุตรายันนี้ก็จะเกิดฤดูกาลขึ้น 3 ฤดูกาล(ฤดูกาลละ 2 เดือน) ซึ่งโบราณเรียกว่า
(1.)สิสิรฤดู (สิ-สิ-ระ-รึ-ดู) คือ ฤดูหมอกหรือฤดูน้ำค้าง
(2.)วสันตฤดู (วะ-สัน-ตะ-รึ-ดู) คือ ฤดูใบไม้ผลิ
(3.)คิมหันตฤดู (คิม-หัน-ตะ-รึ-ดู) คือ ฤดูร้อน
ซึ่งการเคลื่อนตัวปัดเหนือของดวงอาทิตย์จากฤดูหนาวถึงฤดูร้อนนั้น ซึ่งระยะเวลาอุตตรายัน “วันมกรา สังกรานติ”จะเริ่มในวันที่ 14 มกราคม และสิ้นสุดที่ วันกรกฏาสังกรานติ นั่นคือวันที่ 16 กรกฎาคม (ตามระบบโหราศาสตร์นิรายนะ)
ทักษิณายัน:ความหมาย
ดังที่ชื่อ"ทักษิณายัน"หรือปัดใต้ ก็จะตั้งอยู่ตรงข้ามกับ อุตรายัน(ปัดเหนือ) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เริ่มโคจรจากเหนือจรดใต้คือจากราศีกรกฏไปยังราศีมังกร เนื่องจากการที่ดวงอาทิตย์ค่อยๆโคจรปัดไปทางทิศใต้ ซึ่งในช่วงนี้เป็นที่รู้จักกันช่วง "ทักษิณายัน" มาจากคำว่าทักษิณ(ทิศใต้)+อายัน(การมาถึง) दक्षिणायण = दक्षिण (ใต้) यन
ในโหราศาสตร์พระเวท ทักษิณายัน คือระยะเวลาหกเดือนที่ดวงอาทิตย์โคจรผ่าน 6 ราศีคือ ราศีกรกฏ ราศีสิงห์ ราศีกันย์ ราศีตุลย์ ราศีพิจิก และ ราศีธนู ตามลำดับ โดยจุดทักษิณายันนี้เริ่มต้นจาก เทศกาล กรกฏาสังกรานติ คือวันที่พระอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีกรกฏ หรือประมาณวันที่ 16 กรกฏาคมของทุกปี ในช่วงเวลานี้ "ทินมาน" จะลดลงอย่างต่อเนื่องทุกวันๆถัดไปเรื่อยๆ ส่วน "ราตรีมาน"ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันเช่นกัน ทิศทางการขึ้นของดวงอาทิตย์นั้นก็จะเปลี่ยนจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงหกเดือนของทักษิณายันนี้ก็จะเกิดฤดูกาลขึ้น 3 ฤดูกาล(ฤดูกาลละ 2 เดือน) ซึ่งโบราณเรียกว่า
(1.)วัสสานฤดู (วัด-สา-นะ-รึ-ดู) คือ ฤดูฝน
(2.)สารทฤดู (สา-ระ-ทะ-รึ-ดู) คือ ฤดูใบไม้ร่วง
(3.)เหมันตฤดู (เห-มัน-ตะ-รึ-ดู) คือ ฤดูหนาว
โดยในช่วงทักษิณายันนี้ ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู ช่วงทักษิณายันนี้ถือว่าเป็นค่ำคืนของแห่ง"กาละเทวะ" ซึ่งปราว่าว่ากลางคืนจะยาวนานขึ้นและกลางวันก็จะค่อยๆสั้นลง และถือว่าเป็นช่วงที่ไม่เป็นมงคลสำหรับการทำการมงคลต่างๆ หรือห้ามมีงานมงคลประเภทต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้
โดยพื้นฐานแล้วมีการกล่าวกันว่าเป็นช่วงเวลาแห่งกามตัณหากำลังกำเริบ ดังนั้น จึงเกิดพิธีกรรมต่างๆ เช่น การถือศีลอด การกระทำยัญบูชา การทำบุญอุทิศให้กับผู้ตายหรือบรรพบุรุษและกิจกรรมทางศาสนาอื่น ๆ เพื่อการบำบัดรักษาและการเยียวยาทางใจ
จุดสูงสุดของอุตตรายันและจุดสูงสุดของทักษิณายันในระบบดาราศาสตร์
จุดอุตตรายันหรือครีษมายัน คือจุดสุดทางเหนือ เมื่อดวงอาทิตย์ปรากฏในราววันที่ ๒๒ มิถุนายน เป็นจุดในหน้าร้อน มีกลางวันยาวที่สุด เรียกว่า อุตตรายัน (summer solstice), คู่กับ ทักษิณายัน
จุดทักษิณายันเหรือเหมายัน คือ จุดสุดทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์ปรากฏในราววันที่ ๒๒ ธันวาคม เป็นจุดในหน้าหนาว มีกลางคืนยาวที่สุด เรียกว่า ทักษิณายัน (winter solstice), คู่กับ อุตตรายัน
การอธิบายในทางดาราศาสตร์
ในทางดาราศาสตร์ อธิบายว่าเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ห่างจาก Tropic of Capricorn (เขตราศีมังกร) หรือ ทรอปิคใต้ (Southern Tropic) ขึ้นไปทางซีกโลกเหนือ
ทรอปิกออฟแคปริคอร์น (Tropic of Capricorn) หรือ ทรอปิกใต้ เป็นวงกลมละติจูดที่ประกอบด้วยจุดใต้แสงอาทิตย์(subsolar point) ในอายันใต้ (Southern solstice) ของเดือนธันวาคม ทรอปิกออฟแคปริคอร์นเป็นละติจูดใต้สุดที่ดวงอาทิตย์สามารถปรากฏอยู่เหนือหัวพอดี
ส่วนละติจูดเหนือสุดที่ดวงอาทิตย์สามารถปรากฏอยู่เหนือหัวพอดีคือทรอปิกออฟแคนเซอร์ (Tropic of Cancer)
จุดวิษุวัต (equinox) หรือ จุดราตรีเสมอภาค เป็นศัพท์ดาราศาสตร์ หมายถึงช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง หรือในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ความเอียงของแกนโลกจะเลื่อนมาอยู่ในระนาบที่ได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ ซึ่งวันนั้นกลางวันจะเท่ากับกลางคืน
วิษุวัต – Equinox คำว่า “equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ“aequus” แปลว่า เท่ากัน และ “nox” แปลว่า กลางคืนดังนั้นจึงแปลรวมกันว่า “กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน”
ส่วนไทยเราเรียกว่า “วิษุวัต”แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” หรือ “จุดทิวาราตรีเสมอภาค” หมายถึง ช่วงเวลากลางวัน เท่ากับกลางคืนพอดีเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรฟ้า ทำให้มีช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน และดวงอาทิตย์จะขึ้นใกล้จุดขอบฟ้าทิศตะวันออกมาที่สุด และตกใกล้จุดขอบฟ้าทิศตะวันตกมากที่สุด ใน 1 ปี มีวันวิษุวัต 2 วัน คือ
1.วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคมซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ
- ศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณวันที่ 22-23 กันยายน ซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ร่วงในเขตซีกโลกเหนือ
ชื่อ วสันตวิษุวัต ในภาษาอังกฤษบางครั้งก็เรียกว่า Spring equinox หรือ March equinox ก็เรียก ในทำนองเดียวกัน ศารทวิษุวัต ก็มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า Fall equinox หรือ September equinox
ดังนั้นในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ จึงมีวันสำคัญ 4 วัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ”อายัน solstice” 2 วันและ”จุดทิวาราตรีเสมอภาค Equinox” อีก 2 วัน ได้แก่
- วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ในปี 2561 ตรงกับวันที่ 20 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
- วันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2561 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
- วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2561 ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
- วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2561 ตรงกับวันที่ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน