พิธีอุปสมบทในประเทศจีน สืบทอดมาเกือบ 2000 ปี ก็ใช้หลักเหมือนกับเถรวาทไทยทุกอย่าง เพราะใช้พระวินัยปิฏกเล่มเดียวกัน พระไทยถือ 227 ข้อพระจีนถือ 250 ข้อ (เพิ่มเสขิยวัตร) ผู้ที่สละเรือนออกบวชจะต้องได้รับ การอุปสมบทให้ถูกต้องตามพระวินัย จึงจะสำเร็จเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์ เมื่อเปรียบกับสามเณร ซึ่งรักษาศีลเพียง ๑๐ ข้อ กับอาทิพรหมจาริยกาสิกา มหาศีลอันบริบูรณ์แล้ว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ศีลปาฏิโมกข์
เหล่าสามเณรทั้งหลายต้องมาถวายตัว ต่อคณะสงฆ์ที่จะทำการอุปสมบทให้ คณะสงฆ์ย่อมให้โอวาสต่อเหล่าสามเณรนั้น ให้ตั้งปณิธานสละละกิเลสทั้งหลาย สำแดงโพธิจิต แก่สรรพสัตว์ทั้งมวล
จึงจะได้รับสิกขาบทอันเป็นมหาศีล
พระกรรมวาจาจารย์ ประกาศอุปสัมปทาเปกข์ แก่หมู่สงฆ์และให้ทำการขอขมากรรม เพื่อให้ผู้ขออุปสมบท ได้ชำระกายและใจให้บริสุทธิ์ ขจัดวิบากกรรมทั้งหลาย มิให้เป็นอุปสรรค ในการเข้ารับอุปสมบท
ในวันทำพิธีอุปสมบทและรับศีลภิกขุ บรรยากาศภายในเขตพัทธสีมานั้น เงียบสงัดและเคร่งขรึมอลังการ เหล่าสามเณร ผู้เตรียมเข้ารับการอุปสมบท ล้วนมีจิตใจที่มั่นคงและเด็ดเดี่ยว พระอาจารย์ผู้ทำหน้าที่พิธีการ
ก็ได้ตั้งแถวและลำดับการเข้าสู่เขตพัทธสีมา
อาราธนานิมนต์พระอุปัชฌายจารย์ เป็นประธานในการอุปสมบท พระกรรมวาจาจารย์ อาจารย์ผู้สวดกรรมวาจา พระอนุสาวนาจารย์ ทำหน้าที่บอกอนุศาสน์ และพระเถระอีก ๗ รูป
พระอาจารย์ทั้ง ๓ รูปจุดธูปกราบพระประธาน แล้วนั่งลงประจำที่ เหล่าสามเณรแสดงสังฆคารวตาและกราบ ๓ ครั้ง จากนั้นพระสงฆ์ทสวรรคทั้ง ๑๐ รูปที่ได้รับนิมนต์ ขึ้นแท่นมณฑลพิธีและสวดพุทธานุสติ
พร้อมกับเหล่าสามเณร
เมื่อเหล่าพระเถระทั้ง ๑๐ รูป นั่งประชุมกันด้วยด้วยหัตถบาส ก็ให้สามเณรเข้าอุปสมบท พร้อมกันครั้งละ ๓ รูป พร้อมเครื่องอัฐบริขาร บาตร จีวร เข้าสู่แท่นมณฑลพิธีตามลำดับ
ภายใต้การยอมรับเข้าเป็นภิกษุจากคณะสงฆ์ ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา รับมหาศีลของพระภิกษุตามสิกขาบทในพระปาติโมกข์ ยินดีและน้อมรับในสิกขาบททั้งหลาย
จากสามเณร จนสำเร็จเป็นพระภิกษุ โดยสมบูรณ์
ถือเป็นการตอบแทนบุญคุณบิดามารดา สรรพสัตว์ แผ่นดิน พระราชาและพระรัตนตรัย เกิดสังฆสามัคคี ในภิกษุทั้งหลาย พร้อมเพรียงกัน สวดภาวนาอุทิศกุศล
การอุปสมบทเป็นภิกษุก็ได้เสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการ การอุปสมบทของพระสงฆ์ในประเทศจีน ที่รักษาสืบทอดพระศาสนามาเกือบสองพันปี