การนับปีนักษัตร (ชวด,ฉลู,ขาล) มีความสับสนกันมาก เพราะมีทั้งแบบไทยแบบจีน ซึ่งมีการเปลี่ยนปีแตกต่างกัน มีรายละเอียดดังนี้
1.การเปลี่ยนปีนักษัตรแบบจีน จะเปลี่ยนตามปฏิทินจีน โดยคำนวณจากวันสารท”ลิบชุน” 立春 หรือลี่ชุน โดยจะอยู่ราววันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งหลายๆคนสับสนกับปีไทย
2.การเปลี่ยนปีนักษัตรแบบไทย อันนี้ก็มีหลายมติและหลายอาจารย์ดังนี้
(ก.)ปฏิทินโหราศาสตร์ของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว จะเปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้นปีใหม่สากลหรือทุกๆวันที่ 1มกราคม ของทุกปี
(ข.)ปฏิทินโหราศาสตร์ของ อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร จะเปลี่ยนปีนักษัตรทุกวันที่ 1เมษายน ของทุกปี
(ค.)ปฏิทินโหราศาสตร์ของ อาจารย์พันเอกสุชาติ ศุภประเสริฐ จะเปลี่ยนปีนักษัตรทุกๆวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ของทุกปี ซึ่งจะตกประมาณ ปลายเดือนมีนาคมของทุกปี
(ง.)ปฏิทินโหรหลวง ของหมวดโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง จะเปลี่ยนปีนักษัตรทุกๆวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้ายของทุกปี ซึ่งจะตกประมาณ เดือนธันวาคมของทุกปี
ส่วนการคำนวณของอาศรมฯจะใช้ หลักตามข้อ (ค.) เพราะมาจากพระราชวินิจฉัยของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5และยึดตามการบันทึกของพงศาวดารของไทยมาแต่โบราณ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการนับปีนักษัตร(ชวด ฉลู ขาล เถาะ ฯลฯ) แบบไทยนั้น ค่อนข้างจะสับสนไม่ลงรอยกัน ซึ่งเรื่องนี้คนไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยรู้มาก่อนเลย