Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

เรื่องมงคลสูตร  ( ต่อ )

๑๒     สิงหาคม ๒๕๒๔


ได้แสดงอธิบายมงคลสูตรที่สวดกันอยู่เป็นสวดมนต์ตำนานที่ ๑  หรือพระปริตรที่ ๑  รวมเข้าก็เป็นมงคล ๓๘ ประการ   ซึ่งท่านพระสิริมังคลาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์อธิบายมงคลสูตรชื่อว่ามังคลัตถทีปนี   ได้กล่าวระบุไว้ว่า   มงคล ๓๘ ประการนั้น    แสดงไว้ในคาถาที่ ๑  ที่ ๒  และที่ ๖  คาถาละ ๓ มงคล   แสดงไว้ในคาถาที่ ๓  ที่ ๔  ที่ ๕  ที่ ๘  ที่ ๙  ที่ ๑๐  คาถาละ ๔ มงคล   แสดงไว้ในคาถาที่ ๗  ห้ามงคล   ก็รวมเป็น ๓๘ ประการ  สำหรับในคาถาที่ ๔ นั้น  คือ มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ ความบำรุงซึ่งมารดาและบิดา ปุตฺตทารสฺส  สงฺคโห สงเคราะห์บุตรและภริยา อนากุลา  จ  กมฺมนฺตา การงานทั้งหลายไม่อากูล  ดูก็มีเพียง ๓ ข้อ   แต่พระอาจารย์ท่านแสดงไว้ว่า  ในคาถานี้มี ๔ ข้อ  จึงจำเป็นที่จะต้องแยก  มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ  ความบำรุงซึ่งมารดาและบิดา  เป็น ๒ ข้อ  หรือว่า  ปุตฺตทารสฺส  สงฺคโห  เป็น ๒ ข้อ    ท่านก็ไม่ได้แสดงไว้ชัดว่าให้แยกข้อไหน  แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ควรจะแยกข้อ  ปุตฺตทารสฺส  สงฺคโห  ความสงเคราะห์ซึ่งบุตรและภริยา   เพราะว่าได้มีแสดงถึงหน้าที่ซึ่งสามีพึงปฏิบัติต่อภริยาไว้ส่วนหนึ่ง   หน้าที่ที่บิดามารดาพึงปฏิบัติต่อบุตรธิดาไว้ส่วนหนึ่ง  ฉะนั้น  จึงน่าจะแยกข้อนี้ออกเป็น ๒ ได้  คือความสงเคราะห์บุตร ๑  ความสงเคราะห์ภริยาหรือสามี ๑   ส่วนข้อบำรุงมารดาบิดานั้นควรรวมเป็นข้อเดียวกัน   มีแสดงถึงหน้าที่ที่บุตรธิดาพึงปฏิบัติต่อบิดามารดาอันเดียวกัน   เมื่อแยกดั่งนี้จึงได้มงคลในคาถานี้เป็น ๔

มงคล ๓๘ ประการนั้นก็อาจที่จะเรียงลำดับข้อได้ดังนี้

หนึ่ง อเสวนา  จ  พาลานํ ความไม่เสพซึ่งคนพาลทั้งหลาย

สอง ปณฺฑิตานาญฺจ  เสวนา ความเสพซึ่งบัณฑิตทั้งหลาย

สาม ปูชา  จ  ปูชนียานํ ความบูชาซึ่งชนควรบูชาทั้งหลาย

สี่ ปฏิรูปเทสวาโส  จ ความอยู่ในประเทศคือถิ่นอันสมควร

ห้า ปุพฺเพ  จ  กตปุญฺญตา ความเป็นผู้มีบุญอันได้ทำแล้วในก่อน

หก อตฺตสมฺมาปณิธิ ความได้ตั้งตนไว้ชอบ

เจ็ด พาหุสจฺจญฺจ ความได้สดับแล้วมาก

แปด สิปฺปญฺจ ศิลปศาสตร์

เก้า วินโย  จ  สุสิกฺขิโต วินัยอันศึกษาดีแล้ว

สิบ สุภาสิตา  จ  ยา  วาจา วาจาเป็นสุภาษิตคือกล่าวดี

สิบเอ็ด มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ ความบำรุงซึ่งมารดาและบิดา

สิบสอง } ปุตฺตทารสฺส  สงฺคโห ความสงเคราะห์ซึ่งบุตรและภริยา

สิบสาม }

สิบสี่ อนากุลา  จ  กมฺมนฺตา การงานทั้งหลายไม่อากูล

สิบห้า ทานญฺจ การให้หรือความให้

สิบหก ธมฺมจริยา  จ ความประพฤติซึ่งธรรม

สิบเจ็ด ญาตกานญฺจ  สงฺคโห ความสงเคราะห์ซึ่งญาติทั้งหลาย

สิบแปด อนวชฺชานิ  กมฺมานิ กรรมทั้งหลายไม่มีโทษ

สิบเก้า อารตี  วิรตี  ปาปา ความงดเว้นจากบาป

ยี่สิบ มชฺชปปานา  จ  สญฺญโม ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา

ยี่สิบเอ็ด อปฺปมาโท  จ  ธมฺเมสุ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

ยี่สิบสอง คารโว  จ ความเคารพต่อบุคคลควรเคารพ

ยี่สิบสาม นิวาโต  จ ความไม่จองหอง

ยี่สิบสี่ สนฺตุฏฺฐี ความยินดีด้วยของอันมีอยู่

ยี่สิบห้า กตญฺญุตา ความเป็นผู้รู้อุปการะอันชนอื่นทำแล้ว

ยี่สิบหก กาเลน  ธมฺมสฺสวนํ ความฟังธรรมโดยกาล

ยี่สิบเจ็ด ขนฺตี  จ ความอดทน

ยี่สิบแปด โสวจสฺสตา ความเป็นผู้ว่าง่าย

ยี่สิบเก้า สมณานญฺจ  ทสฺสนํ ความเห็นท่านผู้ระงับบาปทั้งหลาย

สามสิบ กาเลน  ธมฺมสากจฺฉา ความเจรจาซึ่งธรรมโดยกาล

สามสิบเอ็ด ตโป  จ ความเพียรเผากิเลส

สามสิบสอง พฺรหฺมจริยญฺจ ความประพฤติอย่างพรหม

สามสิบสาม อริยสจฺจาน  ทสฺสนํ ความเห็นซึ่งอริยสัจทั้งหลาย

สามสิบสี่ นิพฺพานสจฺฉิกิริยา  จ ความทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน

สามสิบห้า ผุฏฺฐสฺส  โลกธมฺเมหิ } จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลาย

จิตฺตํ  ยสฺส  น  กมฺปติ } ถูกต้องแล้วไม่หวั่นไหว

สามสิบหก อโสกํ ไม่มีโศก

สามสิบเจ็ด วิรชํ มีธุลีไปปราศแล้ว

สามสิบแปด เขมํ เกษม

ดั่งนี้  ก็เป็นมงคล  ๓๘  ประการ

ท่านพระสิริมังคลาจารย์ได้มีอธิบายสรุปมงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้ไว้อย่างน่าฟังซึ่งแปลความว่า  สัตว์บุคคลทั้งหลายที่ใคร่หรือปรารถนาต้องการความสุขในโลกนี้  ความสุขในโลกอื่น  และความสุขที่เป็นโลกุตระอยู่เหนือโลก ก็พึงปฏิบัติในมงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้  โดยละการเสวนาส้องเสพคบหาคนพาล  อาศัยบัณฑิต  บูชาท่านผู้ควรบูชาทั้งหลาย  เป็นผู้ที่อันความอยู่ในประเทศคือถิ่นอันสมควร  และความเป็นผู้มีบุญที่ได้กระทำไว้แล้วในก่อน ตักเตือนในอันปฏิบัติทำกุศลให้บังเกิดขึ้น  มีอัตภาพที่ได้ประดับตกแต่งไว้ดี  ด้วยความตั้งตนไว้โดยชอบ  และด้วยพาหุสัจจะคือความที่ได้สดับตรับฟังมาก  และด้วยศิลปะคือความฉลาดในหัตถกิจและด้วยวินัย  กล่าวถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตตามสมควรแก่วินัย  เมื่อยังไม่ละความเป็นคฤหัสถ์อยู่เพียงไร  ก็ปฏิบัติชำระมูลหนี้เก่าด้วยการอุปัฏฐากบำรุงมารดาบิดา    ประกอบมูลหนี้ใหม่ด้วยการสงเคราะห์บุตรภรรยา  บรรลุถึงความสำเร็จแห่งธนทรัพย์เป็นต้นด้วยความที่มีการงานไม่อากูล   ถือเอาสาระแห่งโภคทรัพย์ด้วยทานคือการให้การบริจาค  และสาระแห่งชีวิตด้วยการประพฤติธรรม  กระทำการสงเคราะห์บุคคลของตนด้วยญาติสังคหะ  สงเคราะห์ญาติ  สงเคราะห์บุคคลอื่นด้วยความที่ประกอบการงานไม่มีโทษ  งดเว้นจากการปฏิบัติเบียดเบียนตน  และงดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นด้วย  ความงดเว้นจากบาป  งดเว้นจากการเบียดเบียนตนด้วยความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา  เจริญธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลทั้งหลาย  ด้วยความไม่ประมาทอยู่ตราบนั้น  และเมื่อละเพศของคฤหัสถ์  เพราะความที่เป็นผู้มีกุศลเจริญขึ้น  โดยตั้งอยู่ในความเป็นบรรพชิต  หรือว่าแม้ไม่ละเพศคฤหัสถ์  ยังตั้งอยู่ในเพศคฤหัสถ์แหละ   เมื่อต้องการเจริญกุศลต่อไปก็ให้ปฏิบัติให้สำเร็จวัตตสัมปทา  คือความถึงพร้อมด้วยวัตรปฏิบัติให้ดีขึ้น  ด้วยความเคารพและด้วยความถ่อมตนในท่านผู้ที่ควรเคารพและนอบน้อมถ่อมตนทั้งหลาย  มีพระพุทธเจ้า  สาวกพระพุทธเจ้า  อุปัชฌายอาจารย์  เป็นต้น  หรือแม้ในท่านที่ควรเคารพบูชาอื่น ๆ เช่นบรรดาผู้ที่มีพระคุณ  มีท่านบิดามารดาเป็นต้น  ละความติดในปัจจัยลาภทั้งหลายด้วยความสันโดษ  ตั้งอยู่ในภูมิของสัปปุริสชนคือคนดีด้วยความเป็นผู้ที่มีกตัญญู  ละความเป็นผู้มีจิตย่อหย่อนด้วยการฟังธรรม  ครอบงำอันตรายทั้งปวงด้วยความอดทน  กระทำตนให้เป็นผู้มีนาถะ  คือที่พึ่งด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย  เห็นความประกอบในการปฏิบัติด้วยการเห็นสมณะคือท่านผู้ระงับบาป  บรรเทาความสงสัยในข้อที่เป็นที่ตั้งของความสงสัยทั้งหลายด้วยการสนทนาธรรม  ยังวิสุทธิ  กล่าวคือ  สีลวิสุทธิ์  ความหมดจดแห่งศีลให้ถึงพร้อมด้วยอินทรียสังวรหรือตบะยังจิตตวิสุทธิ์ความหมดจดแห่งจิตให้ถึงพร้อมด้วยสมณธรรมพรหมจรรย์  และทำวิสุทธิอีก  ๔  ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นให้สมบูรณ์   ก็บรรลุถึงญาณทัสสนวิสุทธิความหมดจดแห่งความรู้ความเห็น  โดยปริยายคือความเห็นอริยสัจด้วยปฏิปทาคือทางปฏิบัตินี้  ย่อมกระทำให้แจ้งพระนิพพาน  อันนับว่าเป็นโลกุตรธรรม  คือ  มรรค  ผล  นิพพาน ไปโดยลำดับ  ฉะนั้น  เมื่อโลกธรรมทั้ง   ๘  ถูกต้อง  จึงมีจิตไม่หวั่นไหวเหมือนเขาสุเมรุซึ่งไม่หวั่นไหวด้วยลมและผน  จึงเป็นผู้มีจิตไม่โศก  มีจิตปราศจากธุลีกิเลส  มีจิตเกษมดั่งนี้  และเมื่อเป็นผู้ปฏิบัติในมงคลเหล่านี้มาโดยลำดับ  จนเป็นผู้มีจิตเกษม  ก็ย่อมจะเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง  บรรลุถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง  ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงอานิสงสผลของผู้ปฏิบัติในมงคล  ๓๘ ประการนี้ไว้ด้วยคิาที่  ๑๑  ว่า เอตาทิสานิ  กตฺวาน บุคคลทั้งหลายปฏิบัติกระทำกิจทั้งหลายเช่นนี้แล้ว  สพฺพตฺถ โสตฺถึ  คจฺฉนฺติ ย่อมถึงซึ่งความสวัสดีในที่ทั้งปวง ตนฺเตสํ  มงฺคลมุตฺตมนฺติ ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุดของเขาทั้งหลาย  ดั่งนี้

มงคลสูตรนี้  จึงเป็นพระสูตรสำคัญซึ่งเป็นมงคลในพุทธศาสนาและก็เป็นมงคลจริง ๆ  เพราะเมื่อปฏิบัติในมงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้  ก็ย่อมจะได้ประสบความสุขที่เป็นความสุขในโลกนี้  ความสุขที่เป็นความสุขในโลกหน้า หรือโลกอื่น  และความสุขที่เป็นโลกุตรสุข  คือสุขที่พ้นโลกพ้นกิเลส  เหนือโลกเหนือกิเลส  ตามควรแก่ขึ้นของการปฏิบัติ  และข้อปฏิบัติในมงคลเหล่านี้ ก็แสดงถึงข้อปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นสำหรับปุถุชนหรือสามัญชนทั่วไปจะพึงปฏิบัติ   และก็ได้เลื่อนขึ้นมาโดยลำดับจนถึงการปฏิบัติโดยละเอียดประณีตจนถึงโลกุตรธรรม  อันรวมความว่าเป็นข้อปฏิบัติที่พึงปฏิบัติได้  ทั้งเพื่อสุขในโลกนี้  ทั้งเพื่อสุขในโลกอื่นคือโลกหน้า  ทั้งเพื่อสุขที่เป็นโลกุตระ  และก็เป็นข้อปฏิบัติที่มีเหตุผลอันจะพึงตรองให้เห็นได้โดยง่ายว่าเป็นสิ่งดีจริง  ให้ผลดีจริง

อนึ่ง  มงคลสูตรนี้เป็นเครื่องแสดงว่า  ในพุทธศาสนานั้นแสดงมงคล  ต้องการมงคลที่เป็นธรรมปฏิบัติ  อันเป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบดังกล่าว  ไม่ได้มุ่งให้แสวงมงคลภายนอก  หรือว่าเห็นมงคลภายนอกเป็นใหญ่  เพราะฉะนั้น  จึงแสดงไว้ในที่นี้ว่า  เป็นมงคลอันอุดมคือสูงสุด  ซึ่งก็มีความหมายด้วยว่า  แม้จะยังยึดถือในมงคลภายนอกนั้นอยู่  ก็มิได้ปฏิเสธทีเดียวว่า  สิ่งที่ยึดถือเป็นมงคลภายนอกนั้นจะไม่เป็นมงคลเลย  อาจจะเป็นมงคลได้  แต่ว่าไม่เป็นมงคลอันอุดม  คือว่าไม่เป็นมงคลอันสูงสุด  ที่จะเป็นมงคลอันอุดมคือมงคลอันสูงสุดนั้น  ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติที่แสดงไว้ในพระสูตรนี้   และเมื่อเป็นดั่งนี้  จึงจะได้รับมงคลที่เรียกว่าเป็นมงคลอันอุดมคือมงคลอันสูงสุด  เพราะฉะนั้น  พระสูตรนี้จึงแสดงหลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนา  และก็เป็นเครื่องแสดงด้วยว่า  แม้พุทธศาสนาจะไม่ยกย่องมงคลอย่างอื่นว่าสูงสุดนอกจากธรรมปฏิบัติอันถูกต้องดั่งนี้  แต่ก็มิได้กล่าวว่า  มงคลอย่างอื่นนั้นไม่มี  มงคลอย่างอื่นนั้นก็มีเหมือนกัน แต่ว่าไม่สูงสุด  และมงคลที่ไม่สูงสุดนี้  เช่นที่เกี่ยวกับวัตถุ  เช่นรูปที่ตาเห็น  เสียงที่หูได้ยิน  เป็นต้น  ดังที่เรียกว่า  ทิฏฐมงคล  สุตมงคล  มุตมงคล  ตามที่กล่าวแล้ว  ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องอาศัยหรือต้องใช้สอยเหมือนกัน  คือวัตถุซึ่งทำให้เกิดความสุขทางกาย  อันเนื่องมาถึงทางใจอันเป็นสิ่งที่ไม่มีโทษ  ก็เป็นมงคลได้ตามควร  แต่ว่าไม่เป็นมงคลอันอุดม  เพราะฉะนั้น  ทางพุทธศาสนาจึงแสดงธรรมที่เป็นสัจจะคือเป็นความจริง อะไรเป็นมงคลก็บอกว่าเป็นมงคล  อะไรเป็นมงคลที่ไม่สูงสุดก็บอกว่าไม่สูงสุดแล้วมงคลที่เป็นสูงสุดคืออะไรก็ได้ตรัสชี้เอาไว้  เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติพุทธศาสนาแม้จะยังถือมงคลภายนอกเช่นวัตถุต่าง ๆ   ก็ไม่พึงหลงถือแต่ว่าให้ถือในทางที่เป็นประโยชน์  เช่นเป็นประโยชน์ในทางใช้สอย  ให้สำเร็จประโยชน์ในทางร่างกาย  หรือให้สำเร็จประโยชน์ในจิตใจ ตามสมควร  แต่แล้วก็ควรจะมาระลึกถึงมงคลทางพุทธศาสนาซึ่งเป็นมงคลอันอุดมเหล่านี้  และก็ตั้งใจปฏิบัติในมงคลเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะปฏิบัติได้  และก็ควรคำนึงถึงด้วยว่า   ข้อที่ตรัสสอนไว้ให้ปฏิบัติเหล่านี้ก็เป็นสิ่งจำเป็นซึ่งจะต้องปฏิบัติ  ถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติก็จะทำให้เกิดความทุกข์  เดือดร้อนในโลกนี้ด้วย  ในโลกอื่นคือโลกหน้าด้วย  และจะตัดทางที่จะบรรลุถึงความสิ้นกิเลสและกองทุกข์  เพราะฉะนั้น  หากจะไม่ปฏิบัติมงคลเหล่านี้  นอกจากจะไม่ได้รับความสุขแล้ว  ไปปฏิบัติตรงกันข้ามก็จะยิ่งได้รับความทุกข์เดือดร้อนดังกล่าว  ฉะนั้น  ผู้ที่ฉลาดใช้ปัญญาพิจารณาจึงตั้งใจปฏิบัติในมงคลเหล่านี้ตามสมควร  และพยายามส่งเสริมให้ปฏิบัติในมงคลเหล่านี้มากขึ้นเพื่อบรรลุถึงความสุขดังที่กล่าวมา  และจะเป็นผู้ที่ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง  บรรลุถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวงตามที่ตรัสเอาไว้

วันนี้ยุติเท่านี้