หมวด: พิธีกรรมของพระสงฆ์
จำนวนผู้อ่าน: 77320

คำปรารภ

กฐิน (ถูกต้องตามพระธรรมวินัย)
รวบรวมโดย  อนุโมทนาพระธรรมวินัย
(ไม่สงวนลิขสิทธิ์)


การจัดทำหนังสือ "กฐิน (ถูกต้องตามพระธรรมวินัย)" ฉบับนี้ เป็นการนำเสนอ ความรู้ ความเข้าใจในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แด่พุทธศาสนิกชน โดยพอสังเขป (ขอท่านพิจารณาค้นคว้าในหลักพระธรรมวินัยให้ลุ่มลึกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนา เป็นเรื่อง "คัมภีร" อย่าหยุดเพียงเท่านี้)  เป็นการสร้างสม "บุญกิริยาวัตถุ ๑๐"  ในเขตบุญพระพุทธศาสนา เพื่อรับอานิสงส์อันไพบูลย์ประเสริฐยิ่ง สมกับกำลังจิต กำลังทรัพย์ที่ได้ทุ่มเทไป และเป็นการจรรโลงสืบทอดพระพุทธศาสนา อันเป็นที่เคารพสักการะยิ่ง ซึ่งดำรงมาแต่สมัยพุทธกาล ให้มั่นคงสถาวรสืบต่อไปชั่วกาลนาน
ขออาราธนาบารมี คุณพระศรีรัตนตรัย ประทานพรให้พุทธศาสนิกชนทุกท่าน ถึงซึ่งกระแสโลกุตตระ คือ มัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑ โดยเฉียบพลันในปัจจุบันกาลชาตินี้ เทอญ

สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

...อนุโมทนาพระธรรมวินัย...

 

 

 

ผู้มีสิทธิ์เป็นเจ้าภาพกฐิน


ผู้มีสิทธิ์เป็นเจ้าภาพกฐิน ได้แก่ : เทวดา พระภิกษุ พระภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขามานา อุบาสก อุบาสิกา
การจองกฐิน : เจ้าภาพผู้ปรารถนาจะจองกฐินวัดใดวัดหนึ่งนมัสการกราบเรียนเจ้าอาวาสว่า ตนมีศรัทธาจะทอดกฐินวัดนี้ เมื่อท่านอนุญาตแล้ว เขียนหนังสือประกาศไว้ให้รู้ทั่วกัน กฐิน กับวิหารทานอื่นๆ ต้องแจ้งประกาศแยกกันต่างหาก อนึ่ง หากเจ้าอาวาสหรือคณะสงฆ์ต้องการเงินมากกว่ากฐิน กฐินนั้นเป็นอันเดาะ ไม่เป็น กฐิน เป็นเพียงสังฆทาน ไม่ได้อานิสงส์กฐิน ถ้ามีผู้ร่วมบุญเครื่องกฐินสามารถเป็นไปได้ หรือปัจจัยเกี่ยวกับวิหารทานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ไม่เกี่ยวกับกฐิน

ปัจจุบัน "กฐิน" ก็เพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย ภิกษุองค์ครองผ้ากฐินตัดเย็บจีวรไม่เป็น ละเมิดสิกขาบทเป็นอันตรายและเป็นภัยร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง อาทิ กะถิลทองคำ กะถิลเงิน กะถิลสร้างโรงเรียน กะถิลสร้างโรงพยาบาล กะถิลสร้างโบสถ์ วิหารศาลาการเปรียญ หอฉัน หอระฆัง เมรุ โรงครัว กะถิลห้องสุขา สระน้ำ สวนดอกไม้ ฯลฯ กะถิลซื้อที่ กะถิลมีของแลกเปลี่ยน กะถิลฉลองหนัง ลิเก ดนตรี หมอรำ รำวง กะถิลครึกครื้น กะถิลแก้บน กะถิลซื้อรถยนต์ กะถิลลวง กะถิลหลอก กะถิลฉ้อฉล กะถิลกล กะถิลสุรา กะถิลสาโท กะถิลอุ กะถิลขันโตก กะถิลลูกเต๋า กะถิลเล่นแร่แปรธาตุ กะถิลปลุกเสกเครื่องลางของขลัง กะถิลลงเลขสักยันต์อาคมกล้า กะถิลเจ้าอาวาส กะถิลห้าร้อย(กอง) กะถิลเป็นสาย (มุ่งหมายเป็นเงิน) กะถิลสำรวม กะถิลละเมิดพระธรรมวินัย กะถิลนอกบรมพุทธานุญาต กะถิลโมฆบุรุษ กะถิลเดียรถีย์ กะถิลปาราชิก กะถิลสังฆาทิเสส ตลอดจน กะถิลใส่รองเท้าเข้าโบสถ์ ฯลฯ พระภิกษุในวัดตั้งป้ายโฆษณาหากะถิล กะถิลดอกเห็ดทั้งหลาย ล้วนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่กฐินที่แท้จริงตามพระธรรมวินัย เป็นต้น
เช่นเดียวกัน "ผ้าป่า" ก็เพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย ในพระไตรปิฎก ไม่มีคำว่า "ผ้าป่า" แต่จะมีคำว่า    "ผ้าจากป่า" คือผ้าที่พระภิกษุไปหามาจากป่า เพื่อนำมาทำจีวร หรือ "ผ้าบังสกุล" คือผ้าที่พระภิกษุเก็บมาจากซากศพ จากกองขยะ ผ้าที่เขาทิ้งแล้วตามตลาด เพื่อนำมาทำจีวร ไม่ใช่ผ้าสบง ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิ หรือผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ที่นำมาวางไว้ตามวัตถุทานต่างๆ อาราธนาพระภิกษุมาพิจารณาผ้า สมมติว่าพิจารณาผ้าจากป่าแล้วเรียกว่า "ทำบุญทอดผ้าป่า" อย่างในปัจจุบันซึ่งมีการทำบุญทอดผ้าป่า ร้อยแปดพันประการด้วยความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ นำไปอบายภูมิ
การทำบุญกิริยาวัตถุ ในลักษณะนี้ ควรเรียกว่า "ทำบุญมหาทาน" หรือ "ทำบุญมหากุศล" หรือ "ทำบุญสังฆทาน" พระภิกษุต้องครบองค์สงฆ์ ๔ รูปขึ้นไป แต่ถ้าพระภิกษุ ๑ รูป ต้องเป็นรูปที่ได้รับฉันทานุมัติจากสงฆ์ จึงจะไม่เป็นความเห็นผิด เข้าใจผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิที่จะนำไปอบายภูมิ ถ้าทำบุญถูกพระธรรมวินัย จะเป็น "มหากุศล" นำเก็บ "มหาวิบาก" นำส่งสู่สุคติในภพภูมิต่อไป
การถวายกฐิน : เจ้าภาพกฐินไม่สามารถเจาะจงถวายแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของสงฆ์ที่เห็นสมควร แต่ต้องเป็นพระภิกษุ ผู้รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพพกรณ์* (บุพพกรณ์ : รู้จักการซักผ้า กะผ้า ตัดผ้า เนาผ้า เย็บผ้า ย้อมผ้า พินทุกัปปะผ้า) เป็นต้น หากภิกษุองค์ครองผ้ากฐินไม่รู้ธรรม ๘ ประการ อานิสงส์ก็น้อยลงไปตามลำดับ หรือไม่สมควรเป็นผู้รับผ้ากฐิน

 


 

 

อานิสงส์ผู้ถวายกฐิน


กฐินเป็นกาลทานที่มีระยะเวลาเพียงเดือนเดียว และวัดหนึ่งๆ จะรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพระบรมพุทธานุญาตของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระองค์เอง กฐินจึงมีอานิสงส์มาก  ต้องมีการ เตรียมแจ้งข่าว แก่หมู่ญาติหรือสหสามัคคีร่วมกัน ผู้ถวายกฐินต้องรู้พระวินัย ต้องกระทำพิธีถวายผ้ากฐินในพระอุโบสถ โดยสงฆ์ทุกรูปต้องญัตติ ต้องตั้งเจตนาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปในวัดนั้น จึงจะได้อานิสงส์แก่ผู้ถวายโดยแท้จริง ดังเช่น
ในสมัย พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สมเด็จพระกัสสปพุทธเจ้า ความว่า : มีเศรษฐี ๔ คน ที่เคยเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ เวียนเกิดสับเปลี่ยนกันไป มีรูปงาม ปัญญาดี มียศ มีบริวาร มีวิมานสีทองดั่งสีของจีวร ที่อาศัยสุขสบายเป็นสัปปายะ เศรษฐีทั้ง ๔ ได้แก่ ชฏิละเศรษฐี เมณฑกะเศรษฐี โชติกะเศรษฐี และปุณณะเศรษฐี ได้ทอดกฐินสม่ำเสมอ และหมั่นทำบุญกุศลไม่ขาดสาย พร้อมทั้งเจริญศีล ภาวนา เมื่อมาเกิดในสมัยของสมเด็จพระสมณโคดมพุทธเจ้า ท่านเศรษฐีได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
บุญกุศลอื่นๆ นอกจากการทอดกฐินแล้ว ท่านเศรษฐีได้เคยปฏิบัติ ดังนี้อย่างสม่ำเสมอ
ชฏิละเศรษฐี          ชอบทำบุญด้วยการสละทรัพย์มากมาย
เมณฑกะเศรษฐี     ทำถนนถวายวัด ให้ความสะดวกแก่สงฆ์
โชติกะเศรษฐี        ชอบสร้างวัด
ปุณณะเศรษฐี        ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาในบริเวณอาราม

 


นิทานกฐินครั้งโบราณกาล



กฐินตามเรื่องของ โบราณจารย์ท่านกล่าวไว้ มีกฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง กฐินบริสุทธิ์ เป็นคำพูดของผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวมาปรัมปรา ท่านยกนิทานมาเล่าว่า มีมหาเศรษฐีคนหนึ่ง มีสมบัติมากมาย มีเงิน ๘๐ โกฏิ จะทอดกฐิน ขณะถวายกฐินได้ประกาศเชิญเทวดา ไม่ว่าจะเป็นอากาศเทวา หรือภุมเทวา ให้มาอนุโมทนากฐินของเขา วันนั้นมีเทวดาองค์หนึ่งมาอนุโมทนากฐิน พอมาจวนจะถึงวัด (วัตร) มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง บังเอิญมีบุรุษผู้หนึ่งอยู่ใต้ต้นไทรนั้น ได้ยินเสียงเทวดาจรกล่าวชวนรุกขเทวดาที่ต้นไทรให้ไปอนุโมทนากฐินของมหา เศรษฐี แต่รุกขเทวดาที่ต้นไทรบอกให้เทวดานั้นไปก่อนเถิด เมื่อนุโมทนาแล้ว เป็นอย่างไรให้กลับมาเล่าให้ฟังด้วย ปรากฏว่า
กฐินกองที่ ๑ เมื่อเทวดาไปอนุโมทนา ปรากฎว่า เจ้าของกฐินและคณะศรัทธา แจกสุรายาเมา ผู้มาร่วมงานเมามายส่งเสียงอึกทึกครึกโครมไม่เกิดความสงบสงัด ไม่ปฏิบัติตามธรรม พอถวายกฐินและอนุโมทนาแล้ว เทวดาจรกลับมา บุรุษผู้นั้นยองอยู่คอยฟังข่าวจากเทวดาจร รุกขเทวดาถามว่า กฐินของมหาเศรษฐี เป็นอย่างไรบ้าง เทวดาจรกล่าวว่าเป็น "กฐินบูด" ทำไมจึงบูด เพราะมีการดื่มเหล้าเมายาเอิกเกริก เฮฮา โกลาหล ไม่มีความสงบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม แล้วเทวดาก็จากไปบุรุษผู้นี้นำเรื่องนี้มาเล่าให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีเสียใจ ตั้งใจจะทำกฐินใหม่อีกครั้ง
กฐินกองที่ ๒ คราวนี้ในงานกฐินไม่มีเหล้ายาเมามาเกี่ยวข้อง แต่มีการฆ่าวัว ฆ่าควาย ฆ่าหมู ฆ่าไก่ กันอย่างใหญ่โต เพื่อเลี้ยงดูผู้มาร่วมงานให้อิ่มหนำสำราญ โดยไม่คิดว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นบาป เป็นกรรม เมื่อถึงคราวทอดกฐิน เศรษฐีให้รางวัลบุรุษคนนั้นให้ไปคอยดักฟังว่าเทวดาท่านจะกล่าวถึงงานกฐิน ครั้งนี้ว่าอย่างไร บุรุษผู้นั้นไปคอยดักฟังที่ต้นไทรต้นเก่า เมื่อถึงเวลาประกาศให้เทวดาไปอนุโมทนา รุกขเทวดาก็ไม่ไป แต่ขอให้เทวดาจรไปแล้วให้กลับมาเล่าให้ฟัง เทวดาจรกลับมาบอกว่า เป็น "กฐินเน่า" เพราะมีการฆ่าสัตว์ นำมาเลี้ยงกันมากมาย บุรุษผู้ดักฟังกลับไปเล่าให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีเสียใจอีก ก็จะทำกฐินอีกเพื่อแก้ไข เนื่องจากยังไม่พ้นเขตกฐินกาล
กฐินกองที่ ๓ เศรษฐีรีบทำกฐินอย่างรีบด่วนเนื่องจากกลัวจะไม่ทันกับกาลสมัย คราวนี้เกิดอารมณ์โทสะ ดุด่าว่ากล่าวทาสกรรมกรต่างๆ นานา เนื่องจากไม่ทันใจ มีโทสะ ความโกรธอยู่ในจิต ใครทำอะไรให้ก็ไม่ถูกใจ เมื่อถึงเวลาทอดกฐิน แม้ไม่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่มีสุรายาเมา แต่มีเสียงดุด่าว่ากล่าวผู้อื่น เศรษฐีให้รางวัลบุรุษผู้นั้นให้ไปคอยดักฟังข่าวจากเทวดาว่าจะพูดเกี่ยวกับตน อย่างไรบ้าง เทวดาจรมาชวนรุกขเทวดาที่ต้นไทรอีก แต่รุกขเทวดาไม่ไป  ขอให้เทวดาจรกลับมาเล่าข่าวให้ฟัง เมื่ออนุโมทนาแล้ว เทวดาจรกลับมาบอกว่า กฐินคราวนี้สมบูรณ์ทุกอย่าง แต่เสียอย่างเดียว เป็น "กฐินเศร้าหมอง" เพราะจิตใจของเศรษฐี เจ้าภาพกฐินไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมองด้วยความโกรธ บุรุษผู้นั้นไปบอกเศรษฐีตามที่ได้ยินมา เศรษฐีเสียใจยิ่ง เพราะทำกฐินมา ๓ ครั้งแล้ว ยังไม่กฐินครั้งใดบริสุทธิ์เลย จึงกระทำกฐินอีกเป็นครั้งที่ ๔
กฐินกองที่ ๔ เศรษฐีกระทำความดี มีอารมณ์สดชื่น แจ่มใส ไม่โกรธใคร ไม่นำสุรายาเมามาเกี่ยวข้อง ไม่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เมื่อถึงเวลาทอดกฐิน ก็ประกาศ เชิญเทวดามาอนุโมทนาอีก คราวนี้เทวดาจรกลับไปเล่าให้รุกขเทวดาฟังว่า คราวนี้ "กฐินบริสุทธิ์" บุรุษผู้นั้นกลับมาเล่าให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีดีใจ มีความสุข ได้อานิสงส์ของการทำกฐินคราวนี้ สมบูรณ์เต็มที่ สมความปรารถนา ทุกประการ

อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับอานิสงส์กฐิน คือ ในสมัยครั้งศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุรุษยาจกเข็ญใจไร้ที่พึ่งชาวเมืองพาราณสี ชื่อ "ติณบาล" อาศัยอยู่กับเศรษฐีผู้มั่งคั่งด้วยทรัพย์นับได้ ๘๐ โกฏิ โดยยอมตนเป็นคนรับใช้รักษาไร่หญ้าให้เศรษฐี  เพื่อแลกกับอาหารที่หลับนอน เขามีความคิดว่า "ตัวเราเป็นคนยากจนเช่นนี้ เพราะไม่เคยทำบุญอันใดไว้ในชาติปางก่อน มาชาตินี้จึงตกอยู่ในฐานะผู้รับใช้คนอื่น ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีสมบัติติดตัวแม้แต่น้อย" เมื่อคิดได้ดังนี้ เขาจึงแบ่งอาหารที่เศรษฐีให้ออกเป็นวันละ ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งถวายแก่พระภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต อีกส่วนหนึ่งเอาไว้สำหรับตนเอง ไว้บริโภค ด้วยเดชกุศลผลบุญนั้น ท่านเศรษฐีเกิดสงสาร จึงเพิ่มอาหารให้อีก ๒ ส่วน เขาได้แบ่งอาหารนั้นออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่หนึ่ง ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ส่วนที่สอง แจกทานแก่คนยากจน ส่วนที่ ๓ เอาไว้บริโภคเอง เขาทำอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาช้านาน
ต่อมาเป็นวันออกพรรษา เหล่าชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาต่างพากันทำบุญกฐินเป็นการใหญ่ แม้ท่านเศรษฐีก็เตรียมการจะถวายกฐิน จึงประกาศให้ประชาชนทั้งหลายทราบโดยทั่วกันว่า สิริธรรมเศรษฐี จะได้ทำบุญกฐิน ติณบาลได้ยินเกิดความเลื่อมใสขึ้นในใจทันทีว่า "กฐินทานนี้แหละจะเป็นทานอันประเสริฐ" เข้าไปถามเศรษฐีว่า กฐินทานมีอานิสงส์อย่างไร เศรษฐีตอบว่า "กฐินทานมีอานิสงส์มากมายนัก สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสสรรเสริญว่าเป็นทานอันประเสริฐ" ติณบาลได้ยินดังนั้นเกิดความโสมนัสปลาบปลื้มเป็นอันมาก จึงพูดกับเศรษฐีว่า "กระผมมีความประสงค์จะร่วมอนุโมทนาในการบำเพ็ญทานครั้งนี้ด้วยท่านจะเริ่ม งานเมื่อใด" เศรษฐีตอบว่า "เราจะเริ่มงานเมื่อครบ ๗ วัน นับจากวันนี้ไป"
ติณบาลได้ฟังก็ดีใจยิ่งนัก เขามีความศรัทธายินดีเต็มใจที่จะร่วมทำบุญกฐินนี้ด้วย แต่ตนเองเป็นคนยากจน ไม่มีเงินทองข้าวของเครื่องใช้จะอนุโมทนากับเศรษฐี จะมีแต่ก็ผ้าผืนเดียวที่นุ่งอยู่ ในที่สุดก็ตัดสินใจ เปลื้องผ้าที่นุ่งอยู่ไปซักฟอกให้สะอาด เอาใบไม้มาเย็บนุ่งแทนผ้า แล้วเอาผ้านั้นไปเร่ขายในตลาด ชาวตลาดพากันหัวเราะลั่น เมื่อเห็นอาการนั้น ติณบาลประกาศว่า "ท่านทั้งหลายหยุดก่อน อย่าหัวเราะข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้ายากจน ไม่มีผ้าจะนุ่ง จะขอนุ่งใบไม้แต่ในชาตินี้เท่านั้น ชาติหน้าจะนุ่งผ้าทิพย์" ในที่สุด เขาขายผ้านั้นได้ในราคา ๕ มาสก (๑ บาท) แล้วนำไปอนุโมทนากับเศรษฐี ก็พอดีกับบริวารกฐินทุกอย่างบริบูรณ์ เว้นแต่ขาดด้ายเย็บผ้าอย่างเดียวสำหรับเย็บไตรจีวร เศรษฐี ได้นำเงินนั้นซื้อด้ายเย็บไตรจีวร
ในกาลครั้งนั้นเกิดโกลาหลไปทั่วในหมู่ชนตลอดจนเทพเทวาในสรวงสวรรค์ ต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญ ทานของติณบาล เสียงสาธุการ ความเสียสละในทานของติณบาล ดังลั่นเข้าไปถึงพระราชวัง พระเจ้าพาราณสี ทรงทราบเหตุผล รับสั่งให้นำติณบาล ให้เข้าเฝ้า แต่ติณบาลไม่กล้าเข้ามาเพราะไม่มีผ้านุ่ง พระองค์ทรงตรัสถามความเป็นมาของเขาโดยตลอด ให้ราชบุรุษนำผ้าสาฎกราคาแสนตำลึงไปพระราชทานแก่ติณบาล นอกจากนั้นได้พระราชทานบ้านเมือง ทรัพย์สมบัติ ช้าง ม้า วัว ควาย ทาสี ทาสา เป็นอันมาก และโปรดให้ดำรงตำแหน่งเศรษฐี ในเมืองพาราณสี มีชื่อว่า "ติณบาลเศรษฐี" จำเดิมแต่นั้นเป็นต้นไป
กาลต่อมา ติณบาลเศรษฐี เมื่อดำรงชีวิตอยู่พอสมควร แก่ อายุขัยแล้ว ก็จุติไปจากโลกมนุษย์ ไปปฏิสนธิเป็นเทพบุตรในดาวดึงส์สวรรค์เสวยทิพยสมบัติอยู่ในวิมานแก้ว สูง ๕ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร) มีนางเทพอัปสร หนึ่งหมื่นเป็นบริวาร ส่วนสิริธรรมเศรษฐี ครั้นจุติจากโลกมนุษย์แล้ว ไปปฏิสนธิในดาวดึงส์สวรรค์ มีนางฟ้าเป็นบริวาร เช่นเดียวกับ ติณบาลเศรษฐี ดังนี้
นี่คือ อานิสงส์ของกฐินทานที่ติณบาลได้ตั้งใจกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ในทานมัยในเขตบุญของพระพุทธศาสนา
กฐิน เป็นเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ โดยเฉพาะในเรื่องของทานมัยที่เป็นไปถูกต้องตามพระธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นการสร้างมหากุศลของจิตที่เป็น “ญาณ” รู้ถูกต้องตามพระพุทธธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า คำว่า “บุญ” หมายถึง มหากุศลตั้งแต่กามาวจรมหากุศล รูปาวจรมหากุศล อรูปาวจรมหากุศล โลกุตตรมหากุศล คำว่า “กิริยา” หมายถึง มหากิริยาจิตของพระอรหันต์ คำว่า “วัตถุ” หมายถึง วัตถุธรรม ๗๒ ได้แก่ : จิต ๑ เจตสิก ๕๒ นิปผันนรูป ๑๘ นิพพาน ๑  วัตถุในภาษาโลก แปลว่า ที่ตั้ง หรือวัตถุสิ่งของ แต่ในภาษาธรรม หมายถึง บุคคลผู้มีจิต เจตสิก รูป (มนุษย์ เทวดา พรหม) ผู้สามารถสร้างบุญมหากุศลนี้ได้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคลไปตามลำดับจนถึงพระอรหันต์ แม้สัตว์เดรัจฉานก็สามารถสร้างบุญมหากุศลได้  สร้างมหากุศลเก็บเป็นมหาวิบาก ส่งผลให้ได้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา การจะถึงกระแสโลกุตตระ ต้องเปลี่ยนภพภูมิเป็นมนุษย์หรือเทวดาเสียก่อน การจะพัฒนาไปสู่กระแสโลกุตตระได้นั้น จะต้องน้อมนำกระแสธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าสู่จิต  แล้วจิตจะพัฒนาไปสู่กระแสโลกุตตระ โดยมีพระผู้มีพระภาคเจ้า (พระพุทธพจน์)  เป็นผู้นำไป มิใช่เราจะปฏิบัติได้เอง หรือเราจะมีตัวรู้ผุดขึ้นมาเอง หรือปฏิบัติไปตามคำสอนของอาจารย์ที่มิได้นำพุทธธรรมมาสอน แล้วเราจะเข้าถึงธรรมได้อย่างไร การปฏิบัติโดยปราศจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนนำไปสู่อบายภูมิ ทั้งสิ้น


 

 

กฐิน เป็น "ผ้าพิเศษ"


กฐิน เป็น “ผ้าพิเศษ” ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง “พุทธานุญาต” เฉพาะ “กฐินกาล” ในปีหนึ่งมีเขตกฐินเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันออกพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ตามศัพท์ กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับตัดจีวร ในทางพระวินัย ใช้เป็นชื่อเรียก “สังฆกรรม” อย่างหนึ่ง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง พุทธานุญาตให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัดเดียวกัน และเป็นผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส (๓ เดือน) ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ โดยไม่ขาดพรรษา เพื่อแสดงออกถึงความสามัคคีของภิกษุสงฆ์ โดยพระภิกษุสงฆ์พร้อมใจกันมอบผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน [อันตรวาสก (สบง) อุตตราสงค์ (จีวร) และสังฆาฏิ] ที่บังเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้มีคุณสมบัติสมควรแก่การรับผ้ากฐินผืนนั้น พระภิกษุผู้รับผ้ากฐินควรเป็นภิกษุผู้รู้ธรรม ๘ ประการ คือ
(๑)  รู้จักบุพพกรณ์(บุพพกิจ) ๗ ประการ คือ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาผ้า ๑ เย็บผ้า ๑ ย้อมผ้า ๑ พินทุกัปปะผ้า ๑
(๒)  รู้จักถอนไตรจีวร
(๓)  รู้จักอธิษฐานไตรจีวร
(๔)  รู้จักกรานกฐิน
(๕)  รู้จักมาติกา คือหัวข้อแห่งการเดาะกฐิน
(๖)  รู้จักปลิโพธ กังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน
(๗)  รู้จักการเดาะกฐิน
(๘)  รู้จักอานิสงส์กฐิน ได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
เป็นผู้ดำเนินการกรานกฐินในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเจ้าภาพถวายผ้ากฐินสำเร็จรูปก็ตาม พระภิกษุผู้เป็นองค์ครองกฐินจะต้องมีคุณสมบัติ อันสมควรนี้ และเมื่อทำผ้าจีวรได้สำเร็จแล้ว จะต้องประกาศให้คณะสงฆ์รับทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อคณะสงฆ์อนุโมทนาแล้ว พระภิกษุองค์ครองจึงจะมีสิทธิในผ้ากฐินนั้น และพระภิกษุในวัดทุกรูปมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ

 


 

 

 

ลำดับพิธีการทอดกฐิน


๑. เจตนาในการทอดกฐิน การทอดกฐินเป็นเรื่องของมหากุศล เกิดจากการทำงานของจิตที่เป็นมหากุศลในกามาวจร เป็นไปในเรื่องของบุญกิริยาวัตถุ ๑๐  หรือ ๓๐ ประการ ประกอบด้วย กายกรรม ๑๐ วจีกรรม ๑๐ มโนกรรม ๑๐ ที่ได้กระทำถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยมีทิฏฐุชุกัมม์ เป็นตัวคุมว่าได้กระทำความเห็นให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ของพระบรมศาสดาหรือไม่ การสร้างกุศลผลทานทำบุญมาไม่เสมอกันในเรื่องบุญกิริยาวัตถุผลของบุญจะเป็นไป ตามระดับของ "วัตถุ" ที่รับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานผู้มีกิเลศหนาไปจนถึงพระอริยบุคคลตลอดจนถึงพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อจะกระทำการกุศลใด ๆ ต้องอาศัยหลักเรื่องของ "เจตนา" และ "ปฏิคาหก" ซึ่งประกอบด้วยหลัก ๖ ประการ คือ
๑) บุพพเจตนา เจตนาก่อนกระทำ มีแต่กุศลจิต มีจิตผ่องใสเต็มใจที่จะกระทำทาน
๒) มุญจเจตนา (มุญจนเจตนา) เจตนาขณะกำลังกระทำ มีแต่กุศลจิต มีความเลื่อมใสในการให้ทาน
๓) อปรเจตนา (อปราปรเจตนา) เจตนาภายหลังกระทำ มีแต่กุศลจิต มีความปลื้มใจภายหลังให้ทานแล้ว
๔) ปฏิคาหกผู้รับทาน เป็นผู้ปราศจากโลภะ หรือกำลังปฏิบัติให้ปราศจากโลภะ
๕) ปฏิคาหกผู้รับทาน เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือกำลังปฏิบัติให้ปราศจากโทสะ
๖) ปฏิคาหกผู้รับทาน เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือกำลังปฏิบัติให้ปราศจากโมหะ
เมื่อครบ ๖ ประการ ผลของทานจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ถ้าทำแล้วไม่ได้ครบ ๖ ประการ ทำด้วยจิตที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ แอบแฝงอยู่ ผลของทานก็จะได้น้อยไปตามลำดับ

ลำดับการสร้างกุศล (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓  เวลามสูตร หน้า๓๑๕ ข้อ ๒๒๔ ท้ายสีหนาทวรรคที่ ๒)

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระองค์ตรัสถึงเรื่องเวลามพราหมณ์ และมีลำดับของการให้ทานดังนี้
มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทองมีธงทอง คลุมด้วยข่ายทองให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด ฯลฯ

สมัยนั้นไม่มีใครพระทักขิเณยยบุคคล ไม่สามารถชำระทักขิณานั้นให้หมดจด  ทานที่ให้กับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี (พระโสดาบัน) ผู้เดียวบริโภคมีผลมากกว่า 
- ทานให้กับพระสกทาคามี ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี (พระโสดาบัน) ร้อยท่านบริโภค
- ทานให้กับพระอนาคามี ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับพระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค
- ทานให้กับพระอรหันต์ ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค
- ทานให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับพระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค
- ทานให้กับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค
- ทานให้กับภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่ให้กับ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค
-  การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ  มีผลมากกว่าทานที่ให้กับภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค
-  การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ
-  การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
-  การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ
-  การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม

นอกจากนี้ การทำทานให้ได้อานิสงส์อันไพบูลย์ยิ่งขึ้น ต้องประกอบด้วย "ทายก" ผู้ให้ และ "ปฏิคาหก" ผู้รับ มีความบริสุทธิ์ สมควรแก่ทานดังความบริสุทธิ์ของทักขิณาทาน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน "ทักขิณาวิภังคสูตร" ความว่า : ความบริสุทธิ์ของทักขิณาทาน ๔ ประการ
๑. ทักขิณา ชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก คือทายกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก
๒.  ทักขิณา ชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก คือทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม
๓. ทักขิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหก ก็ไม่บริสุทธิ์ คือ ทายกเป็นผู้ทุศีล ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก เช่นกัน
๔. ทักขิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก คือ ทายกเป็นผู้มีศีล ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม เช่นกัน
ดังนั้น การทำทานกับบุคคลผู้มีอริยคุณสูงไปตามลำดับ ย่อมได้รับผลมากไปตามลำดับเช่นกัน ในทำนองเดียวกัน ถ้าทำทานกับบุคคลผู้ไม่มีคุณธรรม ก็จะได้รับผลน้อยไปตามลำดับเช่นกัน การเกิดมาจนหรือมั่งมีร่ำรวย ก็มาจากผลของกรรมที่ทำมาแต่อดีตชาติ ดังว่า อดีตเป็นเหตุ ปัจจุบันเป็นผล ปัจจุบันเป็นเหตุ  อนาคตเป็นผล

๒. การเตรียมขบวนกฐิน เมื่อเจ้าภาพได้เตรียม "กฐิน" และบริวารเครื่องกฐินไว้เรียบร้อย พร้อมที่จะนำขบวนแห่ไปยังวัด (วัตร) ที่จองกฐินไว้ ถ้าวัดอยู่ไกลจะต้องมีการเดินทางตั้งแต่กลางคืน ระหว่าง

การเดินทางควรเจริญธรรม (พระสูตรต่างๆ ที่มีในพระไตรปิฎก เช่น พระอภิธรรม พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระอนัตตลักขณสูตร พระอาทิตตยปริยายสูตร ทีฆนขสูตร โมคคัลลานสูตร เป็นต้น) เป็นธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยตรงที่ออกจากพระโอษฐ์เป็นพระพุทธพจน์ อย่านำธรรมอื่นที่ไม่ใช่พระพุทธพจน์มาเจริญเด็ดขาด จะไม่ได้อานิสงส์ ควรเจริญธรรมไปตลอดการเดินทางเท่าที่จะทำได้ เพื่อยังจิตของคณะทอดกฐินให้เบิกบานผ่องใส เต็มไปด้วยมหากุศลไปตลอดสาย เพื่อยังผลให้เกิดอานิสงส์อันไพบูลย์ ในการทอดกฐินครั้งนี้
ขบวนกฐินไม่ควรนำ "ผ้ากฐิน" เข้าไปในวัดก่อนสว่าง (จนกว่าจะเห็นลายมือชัด) ของวันที่จะทอดกฐินนั้น เพราะถ้านำผ้ากฐินเข้าไปแล้ว พระภิกษุไม่สามารถทำสังฆกรรมได้ กฐินจะเดาะ เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องเปลี่ยนผ้ากฐินเป็นผ้าผืนใหม่ เพราะผ้าผืนเก่าเป็นโมฆะ เมื่อเข้าวัดเรียบร้อยแล้วนำเครื่องกฐินไปตั้งรวมกันไว้ในศาลาการเปรียญหรือ สถานที่เหมาะสม ก่อนที่จะอัญเชิญองค์กฐินและบริวารกฐินไปเวียนทักษิณาวัตร รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ เมื่อพร้อมกันตามเวลานัดหมาย ไม่ว่าจะทำการทอดกฐินในช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย เมื่อพระภิกษุฉันภัตตกิจและคณะศรัทธาร่วมกันรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว มารวมตัวกันที่ศาลาการเปรียญเพื่อทำพิธีมอบองค์กฐินและบริวาร เพื่อเจ้าภาพกฐินและคณะอัญเชิญไปทักษิณาวัตรรอบพระอุโบสถต่อไป

๓. การมอบเครื่องกฐิน เจ้าหน้าที่ทำการมอบเครื่องกฐินตามรายชื่อที่เตรียมไว้ "ผ้ากฐิน" มีเพียงไตรเดียวเป็นของเจ้าภาพกฐิน ส่วนไตรจีวรอื่นที่คณะศรัทธานำมาจะเป็น "ผ้าจำนำพรรษา" เมื่อได้รับการขานชื่อ แต่ละท่านจะเวียนทักษิณาวัตรรอบกองกฐิน ๑ รอบ แล้วกราบสักการะ พระพุทธปฏิมากร ก่อนจะเข้ารับมอบ เครื่องกฐินมาถือไว้จากเจ้าหน้าที่ เปรียบเสมือนเป็นการแสดงความเคารพสักการะต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย้อนไปในสมัยอดีตเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ คณะศรัทธาได้เข้าไปเฝ้าขอพระบรมพุทธานุญาต เพราะการทอดกฐินเกิดขึ้นได้จากพระพุทธประสงค์ และพระพุทธานุญาตของพระพุทธเจ้า ขณะกำลังกระทำพิธี คณะจะเจริญธรรมไปด้วยในขณะเดียวกัน  ผู้ได้รับมอบเครื่องกฐินจะตั้งแถวเป็นขบวนเตรียมไว้ เพื่ออัญเชิญไปยังพระอุโบสถ

๔. การอัญเชิญเครื่องกฐินเข้าพระอุโบสถ จากนั้นขบวนแห่กฐิน จะอัญเชิญองค์กฐินและบริวารกฐินไปทักษิณาวัตรรอบพระอุโบสถ ๓ รอบ พร้อมๆ กับเจริญธรรมสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย แล้วอัญเชิญองค์กฐินและบริวารกฐินเข้าภายในพระอุโบสถ เพื่อเตรียมทำพิธีทอดกฐินต่อไป

๕. การอัญเชิญชุมนุมเทพพรหมเทวดา
และบูชาคุณพระรัตนตรัย ขณะอยู่ภายในพระอุโบสถ ทุกท่านจะสงบกายสงบวาจาและสำรวมจิต นอบน้อมสักการะ ในคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ นอบน้อมสักการะ ในคุณของพระธรรมเจ้า ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ นอบน้อมสักการะในพระอริยสงฆเจ้าในพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่มีมาแล้วแต่อดีตจนปัจจุบัน และจะพึงบังเกิดมีในมนุษยภูมิ เทวภูมิ พรหมภูมิ มีชั้นสุทธาวาสเป็นที่สุด พร้อมทั้งอัญเชิญเทพพรหมเทวา กระทำกิจอนุโมทนาการถวายกฐิน อันเป็นอริยประเพณีมีมาแต่ครั้งพุทธกาล พร้อมกล่าวคำอัญเชิญ เป็นภาคภาษาธรรมพร้อมกัน ดังนี้



คำชุมนุมเทวดา
สะรัชชัง  สะเสนัง สะพันธุง นะรินทัง,       ปะริตตานุภาโว สะทา รักขะตูติ 
ผะริตวานะ เมตตัง สะเมตตา ภะทันตา,         อะวิกขิตตะจิตตา ปะริตตัง ภะณันตุ ฯ
สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน,          
ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต, 
ภุมมาจายันตุ เทวา ชะละถะละวิสะเม  ยักขะคันธัพพะนาคา,
ติฏฐันตา สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ ฯ
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา,    
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา,    
ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ฯ

คำบูชาพระรัตนตรัย
โย โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ,         
สวากขาโต เยนะ  ภะคะวะตา ธัมโม,       
สุปะฏิปันโน ยัสสะ  ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,    
ตัมมะยัง ภะคะวันตัง สะธัมมัง สะสังฆัง, อิเมหิ สักกาเรหิ  ยะถาระหัง อาโรปิเตหิ อะภิปูชะยามะ,   

สาธุ โน ภันเต  ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ,  ปัจฉิมาชะนะตานุกัมปะมานะสา, อิเม สักกาเร  ทุคคะตะปัณณาการะภูเต  ปะฏิคคัณหาตุ,  อัมหากัง ทีฆะรัตตัง  หิตายะ สุขายะ,    

๖. การถวายผ้าพระประธาน เนื่องด้วยในสมัยพุทธกาล ขณะเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธอุปัฏฐากพระมหาอานนทเถระ ท่านได้ถวายการดูแลและถวายสิ่งของที่จะพึงมีให้ปรากฏสมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ และผ้าทั้งหลายมาถวาย เป็นผ้าห่ม ผ้าใช้ แด่พระบรมศาสดาอยู่เสมอมา การถวายผ้าพระประธานก็นับเนื่องจากพระอานนทเถระพุทธอนุชาในขณะนั้นท่านเป็น พระโสดาบันการกระทำของพระอริยบุคคล คือมีพระโสดาบันเป็นเบื้องต้น ท่านกระทำหนึ่งกิจใดแล้ว สิ่งที่กระทำนั้นย่อมเป็น "อริยบูชา" หรือเป็น "อริยประเพณี"
ดังนั้นการถวายผ้าพระประธาน การบูชาข้าวพระพุทธได้เกิดสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็เนื่องด้วยพระอานนทเถระ เป็น "ปฐมเหตุ" ด้วยเหตุนั้น เราท่านทั้งหลาย การน้อมนำผ้าถวายพระประธานและพระอัครสาวกทั้งสองหรือการน้อมนำถวายข้าวพระ พุทธ ขอให้นึกย้อนไปในอดีตสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เราปฏิบัติตามอริยประเพณี เราท่านทั้งหลาย ได้กระทำสมบูรณ์แล้วด้วยเหตุและปัจจัย อันเป็นบาทฐานแห่ง มัคค ผล และพระนิพพาน

๗. พิธีถวายกฐิน การทำพิธีถวายกฐินดังนี้
คำอาราธนาศีล ๕
(นำ)          มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ  ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ  
ทุติยัมปิ     มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ  ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ  
ตะติยัมปิ    มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ  ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ฯ

พระภิกษุให้ศีล ๕
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ, (๓ ครั้ง)
(ฆราวาสกล่าวตาม ๓ ครั้ง)
ปาณาติปาตา         เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ,  
อะทินนาทานา        เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ,
กาเมสุมิจฉาจารา    เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ,    
มุสาวาทา              เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ,
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา  เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ,
อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ,        สีเลนะ สุคะติง ยันติ,
สีเลนะ โภคะสัมปะทา,              สีเลนะ นิพพุติง ยันติ,   
ตัสมา สีลัง วิโสธะเย
ฆราวาสกล่าว  สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ  พร้อมกัน  และกล่าวว่า   นิพพานัง ปะระมัง สุขัง.
(กราบและกล่าว ๓ ครั้ง)

จากนั้นผู้นำการถวาย กล่าวถึงมูลเหตุการทอดกฐินว่าบังเกิดมีขึ้นได้อย่างไร (ตามข้อมูลปฐมเหตุการทอดกฐิน)
บัดนี้ท่านทั้งหลาย ได้มีโอกาสสร้างบุญมหากุศลไว้ในเขตบุญของพระพุทธศาสนา ในการทอดกฐิน อันมีอานิสงส์สำคัญยิ่ง การทอดกฐินเป็นการสงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ให้ได้รับอานิสงส์อันยิ่ง ๕ ประการ (อานิสงส์ กฐิน ๕ ประการ) เราท่านทั้งหลายได้มาที่วัดที่พระภิกษุสงฆ์ จำพรรษาได้ถูกต้องตามพุทธวินัย ขอทุกท่านได้เกิดความปลื้มปิติอนุโมทนาว่า สิ่งที่ท่านได้กระทำมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ไม่มีสิ่งที่เป็นอกุศลมารบกวน ไม่ว่าจะเป็นกฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง  ที่จะทำให้กฐินเดาะ ไม่มีสุรายาเมา ไม่มีการฆ่าสัตว์ ไม่มีการดุด่าโกรธเคืองกัน กฐินของเราท่านทั้งหลาย ครบถ้วนบริบูรณ์ บริสุทธิ์ผุดผ่องสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง ขอทุกท่านได้สมาทานน้อมใจอธิษฐาน ตั้งความปรารถนาตามที่ได้ตั้งใจมาแล้วที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาให้เป็นไป เพื่อมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
(ท่านผู้อัญเชิญผ้ากฐิน และผ้าจำนำพรรษาอาจยืนหรือนั่งก็ได้เพื่อกล่าวคำอธิษฐานธรรม)

คำกล่าวนอบน้อมพระพุทธเจ้า
(นำ) หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต ปุพพะภาคะนะมะการัง กะโรมะ เส ฯ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต,     ขอนอบน้อม แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า, 
พระองค์นั้น,
อะระหะโต,                      ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส,
สัมมาสัมพุทธัสสะ,            ตรัสรู้ชอบได้ โดยพระองค์เอง,   
(กล่าว ๓ ครั้ง)

คำกล่าวอธิษฐานธรรม
(นำกล่าวและทุกท่านกล่าวตาม)
อัปมาโน พุทโธ     คุณของพระพุทธเจ้า        ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ
อุปมาโน ธัมโม      คุณของพระธรรมเจ้า        ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ
อุปมาโน สังโฆ      คุณของพระอริยสงฆเจ้า   ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ

ด้วยอานิสังสทาน ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญ ณ โอกาสบัดนี้ ขอให้ข้าพเจ้าและสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ จงถึง มัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง
นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
ทุติยัมปิ    สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง
นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
ตะติยัมปิ   สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง
นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
ขอทุกท่าน ตั้งใจมั่นในการถวายกฐิน ถวายผ้าให้พระภิกษุสงฆ์ ได้ใช้เป็นไปตามพุทธานุญาตของพระผู้มีพระภาคเจ้า

คำถวายผ้ากฐิน
อิมัง ภันเต,  สะปะริวารัง,  กะฐินะจีวะระทุสสัง,  สังฆัสสะ, 
โอโณชะยามะ,  สาธุ โน ภัณเต,  สังโฆ,  อิมัง สะปะริวารัง, 
กะฐินะจีวะระทุสสัง,  ปะฏิคคัณหาตุ,  ปะฏิคคะเหตวา จะ, 
อิมินา,  ทุสเสนะ,  กะฐินัง,  อัตถะระตุ,  อัมหากัง, 
ทีฆะรัตตัง,  หิตายะ,  สุขายะ,    
นิพพานะ ปัจจะโย  โหตุ.

คำแปล
ข้า แต่พระสงฆ์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าทั้งหลาย  ขอน้อมถวาย  ซึ่งผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์   ขอพระสงฆ์จงรับ  ซึ่งผ้ากฐินจีวร  กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้  ของข้าพเจ้าทั้งหลาย
ครั้น รับแล้ว  ขอพระสงฆ์จงกรานกฐิน  ด้วยผ้าผืนนี้   เพื่อประโยชน์  เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย  และสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ให้ถึงซึ่งมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑ โดยเฉียบพลันในปัจจุบันกาลชาตินี้ เทอญ ฯ

คำถวายผ้าจำนำพรรษา
อิมานิ มะยัง ภันเต, วัสสาวาสิกะ จีวะรานิ, สะปะริวารานิ,
ภิกขุสังฆัสสะ, โอโนชะยามะ, สาธุ โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ,
อิ มานิ วัสสาวาสิกะ จีวะรานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัญเจวะ, มาตาปิตุ, อาทีนัญจะ, ญาติ มิตตานัญจะ, ราชานัญจะ, เปตานัญจะ, เทวะตานัญจะ, สัพพะสัตตานัญจะ, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ, นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ.

คำแปล
ข้า แต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งผ้าจำนำพรรษา กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งผ้าจำนำพรรษา กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย  เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ให้ถึงซึ่ง มัคค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ โดยเฉียบพลันในปัจจุบันกาล ชาตินี้ เทอญ.
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

เจ้าภาพกฐินถวาย "ผ้ากฐิน" แก่พระภิกษุ โดยนำถวายตั้งไว้พระภิกษุสงฆ์จะนำไปกระทำพิธี "อุปโลกน์กฐินและกรานกฐิน" อันเป็น "สังฆกรรม" ถูกต้องตามพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อพระภิกษุสงฆ์เสร็จพิธีในการกรานกฐิน เรียบร้อยแล้ว คณะจึงถวายผ้าจำนำพรรษา และพระภิกษุสงฆ์จะถอนจีวรเก่าและพินทุอธิษฐานผ้าพร้อมกัน พร้อมทั้งนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ครองผ้าจีวรใหม่ทันที เพื่อเจ้าภาพจะได้อานิสงส์ ในทันใด

๘. พระภิกษุสงฆ์ทักษิณาวัตรรอบพระอุโบสถ พร้อมมาลาพุทธบูชา เมื่อพระภิกษุสงฆ์ครองผ้าจีวรเรียบร้อยแล้ว ได้ทักษิณาวัตรรอบพระอุโบสถพร้อมมาลาพุทธบูชา ๓ รอบ แล้วนำมาลาสักการะบูชาคุณพระรัตนตรัย ภายในพระอุโบสถ

๙. คณะศรัทธาถวายเครื่องบริวารกฐิน คณะศรัทธาน้อมนำเครื่องบริวารกฐินทั้งหมด ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในเขตบุญพระพุทธศาสนา ด้วยจิตใจเบิกบานผ่องใส

๑๐. การแสดงธรรมของพระภิกษุสงฆ์มี อานิสงส์ใหญ่ พระภิกษุสงฆ์ถวายสักการะบูชาพระรัตนตรัยเรียบร้อยแล้ว ท่านจะมีสัมโมทนียกถา พร้อมทั้งกล่าวแสดงธรรมด้วย ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง .....
ห้วงน้ำย่อมยังมหาสมุทรให้เต็มได้ฉันใด....
คณะเจ้าภาพกฐินควรตั้งใจสดับธรรม ขณะพระสงฆ์กล่าวแสดงธรรม "ยะถา" ยังมิใช่วารกาลกรวดน้ำ และไม่ควรกล่าวธรรมอื่นใด พร้อมพระภิกษุ เพราะพระธรรมเป็นธรรมให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล การตั้งใจฟังธรรมเป็นเหตุให้มีการบรรลุธรรม เมื่อจบพิธีสงฆ์แล้ว ให้ตั้งใจกรวดน้ำอุทิศกุศลด้วยบทธรรมกรวดน้ำอัปปมัญญา (ดังข้อ ๑๓)
เรื่องของอำมาตย์ ๒ ท่าน จากพระสูตร และอรรถกถา แปล ฑีฆนิกาย มหาวรรค เล่มที่ ๒ ภาคที่ ๒ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่ม ๑๔/๙๑ น. ๔๖ - ๔๙ ดังความว่า
สมัยหนึ่ง ครั้งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเที่ยวจาริกไปตามชนบทมาถึงพระเชตวัน เมืองสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาทรงนิมนต์มาถวายทาน พระราชาถวายทานติดต่อกัน ๗ วัน ด้วยมหาทานอันยิ่งใหญ่  ในวันที่ ๗ พระราชาทรงถวายบังคมแล้วกราบทูลพระทศพลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด" ในบริษัทนั้น มีอำมาตย์ ๒ ท่าน คือท่านกาฬะ และท่านชุณหะ ฝ่ายท่าน กาฬะ คิดอกุศลว่า "สมบัติของราชตระกูลจะฉิบหาย" ส่วนท่านชุณหะ คิดเป็นกุศลว่า "ความเป็นพระราชานี้ยิ่งใหญ่ ใครอื่นจะทำสิ่งเหล่านี้ได้" เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรวจดูอัธยาศัยของบริษัทก็ทรงทราบอัธยาศัยของ อำมาตย์ทั้งสองท่าน ทรงพระดำริว่า "ถ้าตถาคตจะแสดงธรรมตาม อัธยาศัยของชุณหะในวันนี้ ศีรษะของกาฬะจักแตกเป็น ๗ เสี่ยง ตถาคตบำเพ็ญบารมีมาด้วย ความสงสารสัตว์ แม้ในวันอื่น เมื่อตถาคตแสดงธรรม ชุณหะ ก็คงจักแทงตลอด มัคคผล สำหรับวันนี้ จักเห็นแก่กาฬะ" (เป็นการแสดงถึงบุพเพนิวาสานุสสติญาณ และจุตูปปาตญาณของพระพุทธองค์) ทรงตรัสคาถา ๔ บท แก่พระราชาว่า
พวกคนตระหนี่ จะไปเทวโลกไม่ได้
พวกคนโง่ จะไม่สรรเสริญทานเลย
แต่นักปราชญ์ พลอยยินดีตามทาน
เพราะเหตุนั้นเอง  เขาจึงมีความสุขในโลกหน้า
พระ ราชาได้รับฟังธรรมเพียงเล็กน้อย ไม่พอกับพระราชหฤทัยประสงค์ทรงข้องพระทัย ภายหลังเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว เสด็จไปถวายอภิวาท และทูลถามพระบรมศาสดา ถึงสาเหตุที่ทรงแสดงธรรมเพียง ๔ บท แก่พระองค์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ได้ถวายมหาทานถึง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกความปริวิตกของอำมาตย์ กาฬะ พระราชาตรัสถามกาฬะว่า "เธอเดือดร้อนอะไรด้วยเล่าในการถวายทานของพระองค์" จากนั้นตรัสเรียกชุณหะ มาถามความจริง และทรงประทานทรัพย์จากพระราชวังให้อำมาตย์ชุณหะ ถวายทานดุจราชาเป็นเวลา ๗ วัน อย่างที่พระองค์ถวาย ครั้นถวายเสร็จแล้วในวันที่ ๗ พระราชากราบทูลพระพุทธองค์โปรดแสดงธรรมแก่พระองค์
พระบรมศาสดาทรงกระทำอนุโมทนาทาน แม้ทั้งสองครั้งให้เป็นอันเดียวกัน เหมือนทรงกระทำแม่น้ำใหญ่สองสายให้เต็มด้วยห้วงน้ำเดียวกัน  ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ใหญ่ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านอำมาตย์ชุณหะ ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล พระราชาทรงเลื่อมใส ทรงถวายผ้าชื่อ "ปาวาย" แด่พระทศพล พึงทราบว่าก็ลาภสำเร็จยิ่งแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ด้วยอาการอย่างนี้
จบการให้พร (แสดงพระธรรมเทศนา) ของพระภิกษุสงฆ์ แล้วคณะเจ้าภาพกฐิน รับด้วย สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ พร้อมกราบสักการะพระภิกษุสงฆ์พร้อมกัน

๑๒. กราบบูชาคุณพระรัตนตรัย อีกครั้ง

๑๓. กรวดน้ำอุทิศบุญกุศลเป็นอัปปมัญญา ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ ไปสู่สัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ อันประกอบด้วย เปรต อสุรกาย สัตว์นรก และสัตว์เดรัจฉาน

คำกรวดน้ำอัปปมัญญา
ปุญญัสสิทานิ กะตัสสะ ยานัญญานิ กะตานิ เม
เตสัญจะภาคิโน โหนตุ สัตตานันตาป ปะมาณะกา
สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
จงมีส่วนแห่งบุญ ที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้ และแห่งบุญอื่น
ที่ได้ทำไว้ก่อนแล้ว และจงเป็นพลวปัจจัย ให้ทุกท่าน
ถึงซึ่ง มัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
โดยเฉียบพลันในปัจจุบันกาลชาตินี้ เทอญ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

๑๔. อัญเชิญเทพพรหมเทวากลับทิพยวิมาน
เทวะตาอุยยะ โยชะนะคาถา
ทุกขัปปัตตา จะ นิททุกขา,      ภะยัปปัตตา จะ นิพภะยา
โสกัปปัตตา จะ นิสโสกา,        โหนตุ สัพเพปิ ปาณิโน,
เอตตา วะตา จะ อัมเหหิ,         สัมภะตัง ปุญญะสัมปะทัง,
สัพเพ เทวานุโมทันตุ,        สัพพะสัม ปัตติสิทธิยา,
ทานัง ทะทันตุ สัทธายะ,        สีลัง รักขันตุ สัพพะทา,
ภาวะนาภิระตา โหนตุ,        คัจฉันตุ เทวะตาคะตา,
สัพเพ พุทธา พะลัปปัตตา,        ปัจเจกานัญจะ ยัง พะลัง,
อะระหัน ตานัญจะ เตเชนะ,    รักขัง พันธา มิ สัพพะโส.

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

๑๕. การอนุโมทนามหากุศลที่ได้บำเพ็ญมา ซึ่งกันและกัน ในวารกาลสุดท้าย เราท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญมหากุศล กฐินทานอันเป็นกาลทานถูกต้องตามพระธรรมวินัย มาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๓๐ ประการ (กายกรรม ๑๐ วจีกรรม ๑๐ มโนกรรม ๑๐)  ทั้งบุพพเจตนา เจตนาก่อนกระทำ มุญจเจตนา เจตนาขณะกำลังกระทำและอปรเจตนา เจตนาภายหลังกระทำ เป็นไปในกระแสมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑ และน้อมนำกระแสบุญไปยังสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ให้ได้มีส่วนในมหากุศลอันเป็นทานมัยถูกต้องตามพุทธวินัย เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็เข้าสู่กระแสพุทธอริยะ สมควรที่เราท่านทั้งหลายควรเปล่งวาจาอนุโมทนามหาทานอันเป็นกระแสแห่งโลกุ ตตระ อนุโมทนาซึ่งกันและกันพร้อมสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ในวาระแห่งปัจฉิมกาลพร้อมกัน เทอญ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


 

 

 


สังฆกรรมส่วนของพระภิกษุสงฆ์



คำถวายผ้ากฐิน
อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ,
โอโณชะยามะ  สาธุ โน ภัณเต,  สังโฆ,  อิมัง สะปะริวารัง, 
กะฐินะจีวะระทุสสัง,  ปะฏิคคัณหาตุ,  ปะฏิคคะเหตวา จะ, 
อิมินา,  ทุสเสนะ,  กะฐินัง,  อัตถะระตุ,  อัมหากัง,
ทีฆะรัตตัง,  หิตายะ,  สุขายะ,
นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
(คำแปล)
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าทั้งหลาย  ขอน้อมถวาย  ซึ่งผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระสงฆ์   ขอพระสงฆ์จงรับ  ซึ่งผ้ากฐินจีวรกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้  ของข้าพเจ้าทั้งหลาย  ครั้นรับแล้ว   จงกรานกฐิน  ด้วยผ้าผืนนี้   เพื่อประโยชน์  และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย 
และสัตวะทั้ง ๓๑ ภูมิ ให้ถึงซึ่งมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑ โดยเฉียบพลันในปัจจุบันชาตินี้เทอญ

คำอุปโลกน์กฐินแบบ ๒ รูป
ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้  เป็นของ ....... พร้อมด้วย ....... ผู้ประกอบด้วยศรัทธาอุตสาหะพร้อมเพรียงกันนำมาถวาย แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้
ก็แลผ้ากฐินทานนี้เป็นของบริสุทธิ์ ดุจเลื่อนลอยมาโดยนภากาศ แล้วแลตกลงในที่ประชุมสงฆ์  จะได้จำเพาะเจาะจง ลงว่าเป็นของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ มีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า  ให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง  เพื่อจะทำซึ่งกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาต และมีคำพระอรรถกถาจารย์ ผู้รู้พระบรมพุทธาธิบาย สังวรรณนาไว้ว่า ภิกษุรูปใดประกอบด้วยศีลสุตาธิคุณ มีสติปัญญาสามารถ รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพกิจ เป็นต้น  ภิกษุรูปนั้นจึงสมควร เพื่อจะกระทำกฐินัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตได้   
บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวง จะพิจารณาเห็นสมควรแก่ภิกษุรูปใด จงพร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปนั้น เทอญ.

รูปที่ ๒
ผ้ากฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นสมควรแก่ .......  เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถเพื่อกระทำกฐินัตถารกิจ  ให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าพระภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควรจงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์  (หยุดนิดหนึ่ง)    ถ้าเห็นสมควรแล้วไซร้จงให้สัททสัญญาสาธุการขึ้นให้พร้อมกันเทอญ.
(พระสงฆ์ทั้งปวงนั้นอนุโมทนาพร้อมกันว่า "สาธุ")

คำอุปโลกน์กฐินแบบ ๔ รูป
ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้  เป็นของ ............... ผู้ประกอบด้วยศรัทธาอุตสาหะน้อมนำมาถวาย แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้
ก็แลผ้ากฐินทานนี้ เป็นของบริสุทธิ์  ดุจเลื่อนลอยมาทางนภากาศ  แล้วแลตกลงในที่ประชุมสงฆ์  จะได้จำเพาะเจาะจง ลงว่าเป็นของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ มีพระบรมพุทธานุญาตไว้ให้แก่ภิกษุผู้มีจีวรอันเก่า หรือจีวรทพพลภาพ หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งมีสติปัญยาสามารถกระทำกฐินัตถารกิจ มิให้เพี้ยนผิด ต้องตามวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต
เมื่อได้กรานกฐินแล้วไซร้ อานิสังสคุณจะพึงบังเกิดมี ๕ ประการ คือ อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ ไม่ต้องอาบัติด้วยทุติยกฐินสิกขาบท ๑ เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ ไม่ต้องอาบัติด้วยปฐมกฐินสิกขาบท ๑ ฉันคณโภชน์ปรัมปรโภชน์ได้ ไม่ต้องอาบัติด้วยคณโภชนะและปรัมปรโภชนะสิกขาบท ๑  เข้าไปในละแวกบ้านได้ ไม่ต้องอาบัติด้วยอนามันตจาริกสิกขาบท ๑ จีวรลาภที่บังเกิดขึ้นในอาวาสจะเป็นของภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว ๑ ทั้งจีวรกาลจะยืดออกไปอีก ๔ เดือน ตลอดเหมันตฤดู ดังนี้
บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งหลายจะมีความยินยอมพร้อมกันรับกฐินนี้หรือไม่  ถ้ามีความยินยอมพร้อมกันรับกฐินนี้แล้วไซร้ จงให้สัททสัญญา สาธุการขึ้นให้พร้อมกัน เทอญ
(สาธุ)

รูปที่ ๒
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตกฐินัตถารกิจนั้น ให้เป็นการเฉพาะบุคคล สงฆ์ก็ดี คณะก็ดี จะกรานกฐินไม่ได้ แต่เพราะอนุโมทนาแห่งสงฆ์และคณะและอัตถารกิจแห่งบุคคล  กฐินเป็นอันสงฆ์อันคณะบุคคลกรานได้ ก็แลผ้ากฐินทานนี้ ควรแก่ภิกษุผู้มีจีวรเก่า หรือมีจีวรอันทุพพลภาพ หรือภิกษุรูปใดจะมีอุตสาหะและสามารถทำจีวรกรรม ในวันเดียวนี้ ให้เป็นกฐินัตถารกิจ ต้องตาม พระบรมพุทธานุญาตมิให้วิธีวินัยนิยมทั้งปวงเคลื่อนคลาดได้
บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวงจะเห็นสมควรแก่พระภิกษุรูปใด จงพร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปนั้น เทอญ
(ไม่ต้องสาธุ)
รูปที่ ๓
ผ้ากฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นสมควร แด่.............. ผู้เป็น ........... ในวัดนี้  ซึ่งเป็นพหุสูตทรงธรรม ทรงวินัย เป็นผู้ชี้แจงชักนำให้สพรหมจารีสงฆ์บริษัทรื่นเริง เป็นผู้ให้โอวาทานุศาสน์แก่ภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ เป็นผู้ทรงกฐินมาติกาฉลาดรู้ในวินัยกรรม จะไม่ให้วินัยนิยมนั้นๆ กำเริบได้ และเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถ อาจกระทำกฐินัตถารกิจ ให้ต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงพิจารณาเห็นว่า พระสงฆ์ทั้งปวงจะยินยอมพร้อมกันถวายผ้ากฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้แด่ ...................  ถ้าพระภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควร จงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ (หยุดนิดหนึ่ง) ถ้าเห็นสมควรแล้วไซร้ จงสัททสาธุการขึ้นให้พร้อมกัน เทอญ.

รูปที่ ๔
ผ้ากฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ ถ้าแลพระสงฆ์บริษัทมีเอกฉันทานุมัติ พร้อมกัน ยอมถวายแด่................................... แล้ว ขอพระสงฆ์จงอย่าได้ถือเอาผ้าไตรจีวร ซึ่งเป็นบริวารแห่งผ้ากฐินตามลำดับ ผ้าจำพรรษาเลย จงถวายแด่ .................................... ด้วยอปโลกนวาจานี้ ส่วนผ้ากฐินทานนั้น ถึงพระสงฆ์ทั้งปวงจะยินยอมพร้อมกันถวายด้วย อปโลกนวาจาก็ไม่ขึ้น ต้องถวายด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ตามพระบรมพุทธานุญาต
เพราะฉะนั้น ขอพระสงฆ์จงทำกรรมสันนิษฐานว่า จะถวายผ้ากฐินทานนั้น แด่......................... ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาอันไม่กำเริบ ตามสมควรแก่สถานะ ณ กาลบัดนี้ เทอญ ฯ
(สาธุ)



คำสัตตาหะ
ภิกษุผู้จำพรรษาแล้ว มีกิจจำเป็นต้องไปค้างที่อื่น ท่านให้ทำสัตตาหะกับภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แล้วไปค้างที่อื่นได้ ๗ ราตรี

สัตตาหะกะระณียัง กิจจัง เม อัตถิ
ตัสมา มะยา คันตัพพัง
อิมัสมิง สัตตาหัพภันตะเร นิวัตติสสามิ.

พิธีการกรานกฐิน

แบบกรรมวาจาสวดให้ผ้ากฐิน
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ     
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ

สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ, อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง,   ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสมะโต (อิตถันนามัสสะ) ทะเทยยะ, กะฐินัง อัตถะริตุง, เอสา ญัตติ ฯ
สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ, อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสมะโต   (อิตถันนามัสสะ) เทติ, กะฐินัง  อัตถะริตุง, ยัสสายัสมะโต ขะมะติ อิมัสสะ กะฐินะทุสสัสสะ อายัสมะโต (อิตถันนามัสสะ)  ทานัง, กะฐินัง อัตถะริตุง, โส ตุณหัสสะ, ยัสสะ นักขะมะติ, โส ภาเสยยะ ฯ
ทินนัง อิทัง สังเฆนะ กะฐินะทุสสัง, อายัสมะโต (อิตถันนามัสสะ) กะฐินัง อัตถะริตุง, ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสมา ตุณหี, เอวะเมตัง ธาระยามิ ฯ

หมายเหตุ ในวงเล็บ (อิตถันนามัสสะ)  ให้ใส่ชื่อผู้ครองกฐินแทน

เมื่อสวดจบแล้ว ทำบุพพกรณ์เสร็จแล้ว ผ้ากฐินนั้นทำเป็นจีวรชนิดใด พึงปัจจุทธรณ์ (ถอน) จีวรชนิดนั้นของเดิมแล้วอธิษฐานจีวรใหม่โดย ชื่อนั้น กระทำโดยพระภิกษุองค์ครองกฐิน

วิธีถอน (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยกผ้าเก่าทับผ้าใหม่แล้วกล่าวคำถอนว่า
" อิมํ สงฺฆาฏิ ปจฺจุทธรามิ,
อิมํ อุตฺตราสงฺคํ ปจฺจุทธรามิ,
อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทธรามิ."
(จะถอนผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

วิธีอธิษฐาน (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยกผ้าใหม่ทับผ้าเก่าแล้วกล่าวคำอธิษฐานว่า
" อิมํ สงฺฆาฏิ อธิฏฐามิ,
อิมํ อุตฺตราสงฺคํ อธิฏฐามิ,
อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิฏฐามิ."
(จะอธิษฐานผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

การ กรานกฐิน พระภิกษุองค์ครองกฐินหันหน้าไปทางพระประธาน กราบพระประธานองค์แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวนะโม ๓ ครั้ง แล้วว่ากรานกฐินให้สงฆ์ได้ยินทั่วกัน จะกรานผ้าสังฆาฏิ อุตตราสงค์ หรืออันตรวาสก ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ คำกรานว่าดังนี้
"อิมาย สงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ"   (อิมายะ สังฆาฏิยา กะฐินัง อัตถะรามิ) 
(คำแปล)  ข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าสังฆาฏิผืนนี้
"อิมาย อุตตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" (อิมินา อุตตะราสังเคนะ กะฐินัง อัตถะรามิ)
(คำแปล)  ข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์ผืนนี้
"อิมาย อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" (อิมินา อันตะระวาสะเกนะ กะฐินัง อัตถะรามิ)
(คำแปล)  ข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันตรวาสกผืนนี้

เมื่อกรานจะพึงทำอย่างไรด้วยจีวรนั้นท่านมิได้กล่าวไว้ แต่โดยอาการที่ทำกันมา มือจับหรือลูบผ้านั้นด้วย ในขณะเปล่งคำกรานนั้นๆ ครั้นกรานเสร็จแล้ว พึงหันหน้ามาหาสงฆ์ทั้งปวง ประนมมือกล่าวว่า
"อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินํ
ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทถ"
(คำแปล) "ท่านเจ้าข้า กฐิน ของสงฆ์ กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด"
ภิกษุเหล่านั้น พึงประนมมือ กล่าวคำอนุโมทนาว่า

"อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินํ
ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทาม"
(คำแปล) "แน่ะเธอ  กฐินของสงฆ์ กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เราทั้งหลายขออนุโมทนา"
ผู้อนุโมทนาที่พรรษามากกว่าผู้กรานพึงว่า
"อาวุโส" แทน "ภันเต"
เมื่อว่าพร้อมกันถึง "ภันเต"
พึงนิ่งเสีย เพียงเท่านี้ เป็นเสร็จพิธีกรานกฐิน


 

 

สังฆกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการทอดกฐิน


หากวัดใดมีพระภิกษุเพียง ๑ รูป ๒ รูป ๓ รูป ก็สามารถนิมนต์ พระภิกษุวัดอื่นมาร่วมสังฆกรรมได้ อาทิ
- การให้อุปสมบทในปัจจันตประเทศ   ต้องมีสงฆ์      ๕     รูป
- การให้อุปสมบทในมัชฌิมประเทศ    ต้องมีสงฆ์      ๑๐    รูป
- ภิกษุต้องสังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ           ต้องมีสงฆ์      ๒๐    รูป
- ทำสังฆทานทั่วไป                         ต้องมีสงฆ์      ๔     รูป
- สังฆอุโบสถ                                 ต้องมีสงฆ์      ๔     รูป ขึ้นไป
จำพรรษา : อยู่ประจำวัด ๓ เดือน ในฤดูฝน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (ปุริมพรรษา = พรรษาต้น)  หรือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (ปัจฉิมพรรษา = พรรษาหลัง)
วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า "ปุริมิกา-วัสสูปนายิกา"
วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ เรียกว่า "ปัจฉิมิกา-วัสสูปนายิกา"
ผ้าจำนำพรรษา คือ ผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วในวัดนั้น ภายใน เขตจีวรกาล (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) ทายกผู้ฉลาดจะตั้งเจตนาถวาย ผ้ากฐินและผ้าจำนำพรรษา แก่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปโดยไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง
ปวารณา :     ๑. ยอมให้ขอ เปิดโอกาสให้ขอ
๒. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน
เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน
ปวารณา เป็นชื่อสังฆกรรมที่พระภิกษุสงฆ์กระทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่ามหาปวารณา คือ พระภิกษุทุกรูป (ไม่ว่าพรรษามากหรือพรรษาน้อย) จะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกัน ว่ากล่าวตักเตือน เพื่อการแก้ไขปรับปรุงตนเอง ที่ไม่ถูกกันหรือขัดแย้งกันต้องพูดดีมีสามัคคีต่อกัน ฯลฯ ปวารณาเป็นสังฆกรรมประเภท ญัตติกรรม คือทำโดยตั้งญัตติ (เผดียงสงฆ์) อย่างเดียว ไม่ต้องสวดอนุสาวนา (คำขอมติ) เป็นกรรมที่ต้องทำโดยสงฆ์ปัญจวรรค คือภิกษุตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป (สังฆปวารณา) อันเป็นผลที่ให้รับการทอดกฐินได้
สังฆปวารณา    : ปวารณาที่ทำโดยสงฆ์ คือมีภิกษุ ๕ รูป ขึ้นไป
คณปวารณา     : ปวารณาที่ทำโดยคณะ คือมีภิกษุ ๒ - ๔ รูป
ปุคคลปวารณา : ปวารณาที่ทำโดยบุคคล คือมีพระภิกษุรูปเดียว

ศัพท์คำว่า "กฐิน"

คำว่า "กฐิน" ใช้ประกอบคำอื่นมีความหมายอีก หลายประการคือ
ผ้ากฐิน กฐินกาล เทศกาลกฐิน ฤดูกฐิน หน้ากฐิน จองกฐิน ทอดกฐิน ผู้ครองกฐิน ผู้กรานกฐิน องค์ครองกฐิน องค์กฐิน เครื่องกฐิน บริวารกฐิน เจ้าภาพกฐิน แห่กฐิน ฉลองกฐิน อนุโมทนากฐิน กรานกฐิน จุลกฐิน มหากฐิน กฐินหลวง กฐินต้น กฐินพระราชทาน อานิสงส์กฐิน เป็นต้น
การกรานกฐิน : พิธีการที่กระทำคือ ภิกษุสงฆ์จำพรรษาครบ ๓ เดือน ในวัดเดียวกันจำนวน ๕ รูปขึ้นไป ประชุมกันในพระอุโบสถ พร้อมใจกันมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ต้องเป็นภิกษุผู้รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพพกรณ์ ๗ เป็นต้น เพื่อทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในวันนั้น แล้วประกาศแก่ภิกษุสงฆ์ผู้มอบผ้าให้รับทราบ  เพื่ออนุโมทนา เมื่อภิกษุสงฆ์ได้อนุโมทนาแล้ว เรียกว่า "กรานกฐิน" ภิกษุผู้เย็บจีวรเช่นนี้ เรียกว่า "ผู้กราน" ถ้าเป็นจีวรสำเร็จรูป จะไม่มีการกรานกฐิน

กาลิก ๔

กาลิก : เนื่องด้วยกาล ขึ้นกับกาล ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไป ซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้ และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น ๔ อย่าง ได้แก่
๑. ยาวกาลิก หมายถึง อาหารทุกอย่าง เช่นข้าว ปลา เนื้อ ผลไม้ ขนมต่างๆ รวมทั้ง นม ไมโล โอวัลติน (เว้นจากกาลิก ๓ อย่าง ที่จะกล่าวต่อไป) ภิกษุรับอังคาสแล้ว ฉันได้ตั้งแต่อรุณขึ้น จนถึงเที่ยงตรง
๒. ยามกาลิก หมายถึง น้ำผลไม้ ๘ อย่าง อัฏฐปานะ รวมทั้งน้ำผลไม้สงเคราะห์ต่างๆ (เว้นน้ำผลไม้ที่มีผลใหญ่ เช่นมะพร้าว แตงโม สับปะรด ฯลฯ) ภิกษุรับอังคาสแล้ว ฉันได้ชั่วยาม หมายถึง ยามสุดท้าย คือหมดเขต เมื่ออรุณขึ้น
๓. สัตตาหกาลิก หมายถึง เภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (พวกน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊ป น้ำตาลปึก ก็สงเคราะห์ในน้ำอ้อยด้วย) ภิกษุรับอังคาสแล้ว เก็บไว้ฉันได้ ๗ วัน หมดเขตเมื่อ อรุณขึ้นของวั้นที่ ๘ (๐๖.๐๐ น.)
๔. ยาวชีวิก หมายถึง ยารักษาโรคต่างๆ ทั้งแผนโบราณ และแผนปัจจุบัน ภิกษุรับอังคาสแล้ว เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต
กาลิกทั้ง ๔ นี้ ถ้าระคนปนกันในการอังคาส จะนับอายุตามกำหนดเวลาของกาลิกที่มีอายุสั้น เช่น น้ำอัฏฐปานะระคนกับอาหาร ก็ฉันได้เพียงเช้าถึงเที่ยงวัน  น้ำผึ้งระคนกับน้ำอัฏฐปานะ จะฉันได้เพียงวันคืนหนึ่งภายในก่อนอรุณขึ้น หรือยารักษาโรคระคนกับน้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็เก็บไว้ฉันได้เพียง ๗ วัน อย่างนี้เป็นต้น

เภสัช ๕ ภิกษุฉันในเวลาวิกาลได้

ครั้งหนึ่งในฤดูสารท (ฤดูอับลม) ภิกษุเป็นอันมาก เกิดเจ็บไข้ไม่สบาย ฉันอาหารไม่ค่อยได้ ฉันแล้วอาเจียน เป็นโรคผอมแห้งแรงน้อย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเหตุนั้นแล้ว จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุ ฉันเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นยาได้ เพราะฉะนั้น เภสัชเหล่านี้จึงจัดเป็นยาก็ได้ เป็นอาหารก็ได้ ดังพระบาลีว่า
อิมานิ โข ปน เภสชฺชานิ เสยฺยถิทํ สปฺปิ นวตีตํ เตล มธุ
ผาณิตํ เภสชฺชานิ เจว เภสชฺชสมฺมตานิ จ โลกสฺส อาหารตฺถญฺจ
ผรนฺติ น โอฬาริโก อาหาโร ปญฺญายติ อนุชานามิ ภิกฺขเว ตานิ
ปญฺจ เภสชฺชานิ ปฏิคฺคเหตฺวา กาเลปิ วิกาเลปิ ปริภุญฺชิตุ ํ  ฯ
เภสัช ๕ เหล่านี้คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชอยู่ในตัว และเขาสมมุติว่าเป็นเภสัช  ทั้งสำเร็จประโยชน์อาหารกิจแก่สัตว์ และไม่ปรากฏเป็นอาหารหยาบ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้รับอังคาสเภสัช ๕ นั้นแล้ว บริโภคได้ทั้งในกาลทั้งในเวลาวิกาล
สำหรับ ปลา เนื้อ นมสด นมข้น  สี่อย่างนี้เป็นปณีตโภชนะ ไม่จัดเป็นเภสัช ๕ ดังกล่าว ทั้งไม่จัดเข้าในยาวชีวิก (ยา) และยามกาลิก (น้ำปานะ) ดังนั้น ภิกษุสามเณรจึงไม่ควรดื่มนม หรือเครื่องดื่มผสมนมในเวลาวิกาล
ข้าวได้ชื่อว่า "ปพฺพณฺณ" ถั่วได้ชื่อว่า "อปรณฺณ" ทั้งสองอย่างนี้ในพระบาลี และอรรถกถาจัดเป็นยาวกาลิก ภิกษุสามเณรไม่ควรฉันในเวลาวิกาล แม้จะต้มหรือกรองหรือทำเป็นเครื่องดื่มต่างๆ ก็ไม่ควรฉัน

นอกจากนั้น น้ำแห่งผลไม้ใหญ่ ๙ ชนิด คือ ตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม และฟักทอง ก็ไม่ควรฉันในเวลาวิกาลเช่นเดียวกัน
น้ำอัฏฐบาน (น้ำปานะ ๘ อย่าง)  คือน้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ๘ ชนิด ได้แก่
๑. อมฺพปานํ         น้ำมะม่วง
๒. ชมฺพุปานํ         น้ำชมพู่ หรือน้ำหว้า
๓. โจจปานํ          น้ำกล้วยมีเม็ด
๔. โมจปานํ         น้ำกล้วยไม่มีเม็ด
๕. มธุกปานํ         น้ำมะทราง
๖. มุทฺทิกปานํ      น้ำลูกจันทน์ หรือองุ่น
๗. สาลุกปานํ       น้ำเหง้าอุบล
๘. ผารุสกปานํ     น้ำมะปราง หรือลิ้นจี่

วัตถุอนามาส
(สิ่งที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง)

นอกจากกายของมาตุคามและเงินทองแล้ว ยังมีวัตถุอื่นๆ อีกที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง ซึ่งล้วนเป็นวัตถุแห่งอาบัติทั้งสิ้น ดังนี้
๑. กายของมาตุคาม ถ้าจับต้องด้วยรู้ว่าเป็นมาตุคาม แม้ไม่มีความกำหนัด ต้องอาบัติทุกกฎ  จับต้องด้วยความกำหนัด ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
๒. ผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับของมาตุคาม แต่สิ่งใดแม้เป็นของเนื่องด้วยกาย ถ้ามาตุคามถวายแล้วไม่เอาคืน ภิกษุสามารถถือเอาสิ่งนั้นได้ เช่นภิกษุถูกโจรชิงจีวรไป อุบาสิกาจึงเปลื้องผ้านุ่ง หรือผ้าห่มวางแทบเท้า ภิกษุควรเพื่อถือเอาผ้านั้นทำเป็นจีวร ไม่เป็นโทษ
๓. รูปปั้น ที่ทำด้วยวัตถุต่างๆ รูปไม้แกะสลัก แม้รูปเขียนที่ทำให้มีสัณฐานผู้หญิง ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฎ
๔. ธัญชาติ ๗ ชนิด ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้ ถ้ายังเป็นข้าวเปลือกอยู่ ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฎ แต่ถ้าสีให้เป็นข้าวสารแล้ว จับต้องไม่ต้องอาบัติ
๕. อปรัณชาติ มีถั่วเขียว และถั่วเหลือง เป็นต้นก็ดี ผลไม้มีขนุน มะพร้าว กล้วย และมะม่วงก็ดี ที่เกิดอยู่บนต้น ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฎ
๖. รัตนะ ๑๐ ประการ ได้แก่ มุกดา (ไข่มุก) มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม บุษราคัม ภิกษุจับต้องรัตนะ ๑๐ เหล่านี้ ต้องอาบัติทุกกฎ เงินและทอง ภิกษุรับเพื่อประโยชน์ตน ต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ รับเงินทองเพื่อผู้อื่น แม้รับให้สงฆ์ ก็ไม่พ้นอาบัติทุกกฎ สิ่งของมีค่ารวมทั้งรัตนะเหล่านี้ ถ้าตกในวัด หรือที่อยู่ของภิกษุ ภิกษุต้องเก็บเอาไว้คืนเจ้าของ ถ้าไม่เก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฎ เพราะถ้าเจ้าของหาทรัพย์ที่ตกในวัดไม่พบ อาจเข้าใจว่าภิกษุลักถือเอาไป พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุเก็บไว้เพื่อป้องกัน ข้อติเตียน แต่ถ้าสิ่งของมีค่าตกอยู่นอกวัด ห้ามภิกษุเก็บ ถ้าเก็บย่อมมีโทษ ต้องอาบัติปาจิตตีย์
๗. อาวุธ เครื่องประหารทุกชนิด เช่น มีด ขวาน หอก ดาบ ธนู ปืน เป็นต้น ภิกษุไม่ควรจับต้อง แต่ถ้ามีผู้ถวายและสามารถใช้เป็นกัปปิยภัณฑ์ (ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ) ได้ ควรรับตามสมควร
๘. เครื่องดักสัตว์ และจับสัตว์ทั้งหลาย เช่น แห อวน ตาข่าย เบ็ด ข้อง เป็นต้น เป็นอนามาสทุกอย่าง
๙. เครื่องดนตรี มีพิณและกลองที่ขึงด้วยหนัง เป็นต้น ก็เป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏ
พระวินัยแม้เล็กน้อยเหล่านี้ คฤหัสถ์ควรทราบไว้ เพื่อไม่เลื่อมใสในผู้ปฏิบัติผิด เพื่ออนุเคราะห์แก่ภิกษุผู้ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งเป็นการดำรงพระพุทธศาสนา กุศลของอุบาสก อุบาสิกาผู้เข้าใจพระธรรมวินัย ย่อมเป็นกุศลที่ถึงพร้อมด้วยความรู้ถูก มีความเห็นถูก ในพระพุทธธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ปฐมเหตุการทอดกฐิน

ปฐมเหตุ การทอดกฐิน (จากกฐินขันธกะ พระวินัยปิฎก และอรรถกถาแปล เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาคที่ ๒ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๗/๙๑ น.๑๙๓) ความว่า

สมัยเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ วัดเชตวันมหาวิหารอารามของท่านอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี แคว้นโกศล ครั้นนั้น พระภิกษุ ภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป (ระดับภูมิธรรมระหว่างพระโสดาบัน – พระอนาคามี) ชาวเมืองปาไฐยรัฐ ล้วนถืออารัญญิกธุดงค์ (ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร) บิณฑปาติกธุดงค์ (ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร) และเตจีวริกธุดงค์ (ถือการครองผ้า ๓ ผืน เป็นวัตร) เดินทางไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เดินทางมาไม่ทัน เพราะจวนเข้าพรรษา จึงต้องหยุดจำพรรษา ณ เมืองสาเกต พระภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาด้วยใจรัญจวนว่า : พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ ๆ เราระยะทางห่างกันเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระพุทธองค์
ครั้นล่วงไตรมาส พระภิกษุเหล่านั้นออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว ได้มุ่งตรงมายังวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ขณะนั้นในชมพูทวีปยังมีฝนตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลนโคลนตม มีน้ำขังอยู่ในที่ต่างๆ ตามทางที่เดินทางผ่านมา พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูป ได้รับความลำบากจากการเดินทาง มีจีวรชุ่มชื้นไปด้วยน้ำและมีหล่มเลนโคลนตม อีกทั้งยังต้องฝ่าแดด กรำฝน ลำบากกาย จีวรขาดวิ่น จนมาถึงวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ก็มิได้รั้งรอ เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลายนั้นเป็น พุทธประเพณี

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระภิกษุเหล่านั้นว่า


พระผู้มีพระภาคเจ้า :    
“ ดู ก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกันร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ”

พระภิกษุภัททวัคคีย์ :
“ พวก ข้าพระพุทธเจ้ายังพอทนได้ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้าในชุมนุมนี้  เป็นภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป เดินทางมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจวนถึงวันเข้าพรรษาไม่สามารถจะเดินทางให้ทันวันเข้าพรรษาในพระนครสาวัต ถี  จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ในระหว่างทาง พวกข้าพระพุทธเจ้านั้นจำพรรษามีใจรัญจวนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใกล้ๆ เราระยะทางเห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นล่วงไตรมาส พวกข้าพระพุทธเจ้าออกพรรษา ทำปวารณาเสร็จแล้ว เมื่อฝนยังตกชุก พื้นภูมิภาคเต็มไปด้วยน้ำ และมีหล่มเลน โคลนตม มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ ฝ่าแดด กรำฝน ลำบากกาย เดินทางมา พระพุทธเจ้าข้า ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า :
“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน พวกเธอผู้ได้กรานกฐินแล้วจักได้อานิสงส์กฐิน ๕ ประการคือ
๑. อนามนฺตจาโร เที่ยวไปไหน ไม่ต้องบอกลา (ภิกขาจารไปโดย ไม่ต้องบอกลา)
๒. อสมทานจาโร ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ (ผ้า ๓ ผืน : สบง จีวร สังฆาฏิ)
๓. คณโภชนํ ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันเป็นหมู่ ได้ คือภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เจ้าภาพสามารถบอกชื่ออาหาร คือ โภชนะ ๕ ได้แก่ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ)
๔. ยาวทตฺถจีวรํ เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ปกติเก็บไว้ ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน)
๕. โย จ ตตฺถ จีวรุปฺปาโท โส เนสํ ภวิสฺสติ จีวรลาภอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่ พวกเธอ (ลาภสักการะที่สมควรแก่พระภิกษุ เช่นไตรจีวร ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า เครื่องใช้ต่างๆ เจ้าภาพถวายแล้ว พระภิกษุเก็บไว้ได้เอง โดยไม่เป็นของสงฆ์)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๕ ประการนี้ จักได้แก่พวกเธอทั้งหลายผู้ได้กรานกฐินแล้ว ”


พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงปรารภเรื่องนี้เป็นปฐมเหตุ ทรงมีฉันทานุมัติตามพุทธประเพณีที่มีมา ต้องมีพระภิกษุ ๓๐ รูป ซึ่งเป็นพระภิกษุปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในธุดงควัตร อยู่ป่าเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร และปฏิบัติกิจด้วยผ้า ๓ ผืน เป็นวัตร อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะท่านได้สะสมบารมีมา พระภิกษุภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ รูป เคยได้เห็นพระภิกษุ ๓๐ รูป ในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ท่านได้ถวายภัตตาหารในพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ และท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ถ้าได้เกิดมาภพหนึ่ง ชาติใดในพระพุทธศาสนา ขอให้ได้เป็นเอตทัคคะ หรือเป็นผู้ได้รับฉันทานุมัติเป็นท่านแรกหรือเป็นคณะแรกทั้ง ๓๐ ท่าน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงฉันทานุมัติให้ยกเว้น หรือได้อานิสงส์จากการกรานกฐิน ๕ ประการ บุรุษทั้ง ๓๐ ท่านได้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เกิดมาพบกันทุกชาติ เพราะสร้างกุศลมาร่วมกัน มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละชาติ การที่ท่านได้มาเกิดในสมัยของพระสมณโคดมพุทธเจ้า จะได้สร้างกุศลใหญ่ คือท่านจะเป็นปฐมเหตุ ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับผ้ากฐิน กรานกฐิน และได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ เมื่อออกพรรษาแล้ว เมื่อเป็นดังนี้ พระภิกษุภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าและได้สดับฟังพระธรรมีกถาเรื่อง “อนมตัคคิยกถา” ได้บรรลุ “พระอรหัตตผล” ทุกรูป ในวาระกาลจบพระธรรมเทศนา
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระภิกษุจึงได้รับผ้ากฐินตามพระวินัยบัญญัติ มหาอุบาสิกาวิสาขา (พระโสดาบัน) ได้ทราบพระพุทธานุญาต จึงได้เป็นท่านแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ในบวรพุทธศาสนา

สาธุ สาธุ อนุโมทามิ


 

 

องค์คุณแห่งผู้รับกฐิน


องค์คุณแห่งภิกษุผู้ควรรับผ้ากฐิน
ในคัมภีร์ปริวารกล่าวว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรกรานกฐิน ธรรม ๘ ประการ นั้นคือ
(๑) รู้จักบุพพกรณ์ ๗ ประการ ได้แก่ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาผ้า ๑ เย็บผ้า ๑ ย้อมผ้า ๑ พินทุผ้า ๑

(๒) รู้จักถอนไตรจีวร  วิธีถอนไตรจีวร (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยก ผ้าเก่าทับผ้าใหม่ แล้วกล่าวคำถอนว่า
" อิมํ สงฺฆาฏิ ปจฺจุทธรามิ,
อิมํ อุตฺตราสงฺคํ ปจฺจุทธรามิ,
อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทธรามิ.
(จะถอนผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

(๓) รู้จักอธิษฐานไตรจีวร การอธิษฐานผ้าใหม่ (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยก ผ้าใหม่ทับผ้าเก่า แล้วกล่าวคำอธิษฐานว่า
" อิมํ สงฺฆาฏิ อธิฏฐามิ,
อิมํ อุตฺตราสงฺคํ อธิฏฐามิ,
อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิฏฐามิ."
(จะอธิษฐานผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

(๔) รู้จักกรานกฐิน (ตามข้อความการกรานกฐิน)

(๕) รู้จักมาติกา คือหัวข้อแห่งการเดาะกฐิน
มาติกา ๘  ลักษณะข้อกำหนดในการเดาะกฐิน
การเดาะกฐิน หมายถึงการรื้อหรือการทำกฐินให้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกอานิสงส์กฐิน ที่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาต้นครบ ๓ เดือนแล้ว จะพึงได้รับตามพุทธานุญาต สาเหตุของการเดาะกฐิน มี ๘ ประการคือ
๕.๑  ปกฺกมนฺติกา กำหนดด้วยการหลีกไป หมายถึง ภิกษุนำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไปโดยไม่คิดจะกลับมาอีก
๕.๒ นิฏฺฐานนฺติกา กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จแล้ว หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมาโดยคิดว่า "จะให้ทำจีวรที่ภายนอกสีมานี้แหละ โดยจะไม่กลับมาอีก" แล้วให้ทำจีวรนั้นจนแล้วเสร็จ
๕.๓ สนฺนิฏฐานนฺติกา กำหนดด้วยตกลงใจ หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมา โดยตกลงใจหรือตัดสินใจว่า "จะไม่ให้ทำจีวรนี้ และจะไม่กลับมาอีก"
๕.๔ นาสนนฺติกา กำหนด้วยผ้าเสียหาย หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมาโดยคิดว่า "จะให้ทำจีวรภายนอกสีมานี้แหละ และจะไม่กลับมาอีก" แต่ในขณะทำจีวรนั้น จีวรเกิดเสียหายเสียก่อน
๕.๕ สวนนฺติกา กำหนด้วยได้ทราบข่าว หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า "จะกลับมา" แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จนั้น ก็ได้ทราบข่าวว่า "ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว"
๕.๖ อาสาวจฺเฉทิกา กำหนด้วยสิ้นหวัง หมายถึง ภิกษุหลีกออกไปโดยหวังว่า "จะได้จีวร" แม้ในขณะที่อยู่ภายนอกสีมาก็ยังคิดว่า "จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีความหวังว่าจะได้จีวร จะไม่กลับมาอีก" แต่เมื่อเข้าไปยังที่นั้นแล้ว ความหวังว่าจะได้จีวรของเธอกลับสิ้นสุดลง
๕.๗ สีมาติกกนฺติกา กำหนดด้วยล่วงเขต หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า "จะกลับมา" แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จ และคิดว่า "จะกลับมา จะกลับมา" ปรากฎว่ากลับมาไม่ทันเขตกฐิน
๕.๘ สหุพฺภารา กำหนด้วยเดาะพร้อมกัน หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า "จะกลับมา" แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จ และคิดว่า "จะกลับมา จะกลับมา" ในขณะที่กำลังกลับมาถึงอาวาสนั้นเอง ปรากฏว่าสงฆ์ภายในวัด พร้อมใจกันเดาะกฐินเสียแล้ว
ดังนั้นการเดาะกฐินหรือการทำกฐินให้เสียหาย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ย่อมทำให้อานิสงส์กฐิน ที่จะพึงได้รับตามพุทธานุญาต สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง

(๖) รู้จักปลิโพธ กังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน ปลิโพธ มี ๒ ประการคือ
๖.๑ อาวาสปลิโพธ
๖.๒ จีวรปลิโพธ
ภิกษุกรานกฐินแล้วมีกังวลอาลัยอยู่ในอาวาส หรือหลีกไปผูกใจอยู่ว่าจะกลับมา ชื่อว่ายังมี "อาวาสปลิโพธ"
ภิกษุยังไม่ได้ทำจีวรเลย หรือทำค้างอยู่ หรือหายไปเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นความหวังที่จะได้จีวรอีก ชื่อว่ายังมี "จีวรปลิโพธ"
ถ้าตรงกันข้ามทั้ง ๒ ปลิโพธ นั้น เป็นสิ้นเขตจีวรกาล เรียกว่า "กฐินเดาะ"

(๗) รู้จักการเดาะกฐิน มีความรู้หลายประการที่ควรรู้เช่น รู้จักกฐินเป็นอันกราน กับกฐินไม่เป็นอันกราน (กฐินเดาะ)
๗.๑ กฐินเป็นอันกราน หมายถึง การกรานกฐินที่ปฏิบัติได้ถูกต้องตามพุทธานุญาต มี ๑๗ ประการคือ
๗.๑.๑ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่
๗.๑.๒ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่
๗.๑.๓ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า
๗.๑.๔ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสกุล
๗.๑.๕ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน
๗.๑.๖ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา
๗.๑.๗ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา
๗.๑.๘ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา
๗.๑.๙ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน
๗.๑.๑๐ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่เป็นนิสสัคคีย์
๗.๑.๑๑ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำพินทุ
๗.๑.๑๒ กฐินเป็นอันกราน ด้วยสังฆาฏิ
๗.๑.๑๓ กฐินเป็นอันกราน ด้วยอุตตราสงค์
๗.๑.๑๔ กฐินเป็นอันกราน ด้วยอันตรวาสก
๗.๑.๑๕ กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕  ที่ตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๗.๑.๑๖ กฐินเป็นอันกราน เพราะมีบุคคลกราน
๗.๑.๑๗ กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
๗.๒ กฐินไม่เป็นอันกราน (กฐินเดาะ) หมายถึง การกรานกฐินที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพุทธานุญาต มี ๒๔ ประการคือ
๗.๒.๑ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงมีรอยขีด
๗.๒.๒ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงซักผ้า
๗.๒.๓ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงกะผ้า
๗.๒.๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงตัดผ้า
๗.๒.๕ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเนาผ้า
๗.๒.๖ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเย็บผ้า
๗.๒.๗ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม
๗.๒.๘ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำรังดุม
๗.๒.๙ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต
๗.๒.๑๐ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า
๗.๒.๑๑ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงดามผ้า
๗.๒.๑๒ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น
๗.๒.๑๓ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา
๗.๒.๑๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา
๗.๒.๑๕ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ยืมเขามา
๗.๒.๑๖ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน
๗.๒.๑๗ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์
๗.๒.๑๘ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ทำพินทุ
๗.๒.๑๙ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากสังฆาฏิ
๗.๒.๒๐ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากอุตตราสงค์
๗.๒.๒๑ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากอันตรวาสก
๗.๒.๒๒ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากจีวรมีขันธ์๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๗.๒.๒๓ กฐินไม่เป็นอันกราน เพราะเว้นจากบุคคลกราน
๗.๒.๒๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
ดังนั้นกฐินที่เป็นอันกราน หมายถึง ได้กรานกฐินถูกต้องตามพุทธานุญาต ภิกษุผู้กรานกฐิน ย่อมมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ ส่วนกฐินไม่เป็นอันกราน หมายถึง มิได้กรานกฐินให้ถูกต้องตามพุทธานุญาต จะมิได้รับอานิสงส์ของกฐินแต่ประการใด

(๘) รู้จักอานิสงส์กฐิน คือรู้จักอานิสงส์ของกฐิน ๕ ประการที่พระภิกษุจะพึงได้รับจากการจำพรรษา และได้กรานกฐินถูกต้องตามพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ดังแสดงไว้ในเรื่องปฐมเหตุการทอดกฐิน


 

 

 

หน้าที่พุทธบริษัท4


๑. พุทธบริษัท ๔ ต้องเป็นผู้รู้ เข้าใจ และสามารถปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง ตามพระพุทธธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ (พระพุทธพจน์ พระไตรปิฎก ปริยัติ)
๒. พุทธบริษัท ๔ ต้องสามารถ แนะนำ สั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
๓. เมื่อมีผู้ใดกล่าว ติเตียน จ้วงจาบ แสดงคำสอน ผิดพลาด พุทธบริษัท ๔ ต้องสามารถ ชี้แจง แก้ไข ให้ถูกต้อง ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระยามาราธิราชว่า
"ดู ก่อนมารผู้มีบาป  ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นสาวก สาวิกา ของตถาคตยังไม่ฉลาด ไม่ได้รับแนะนำ ยังไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตน จักบอก จักแสดง จักบัญญัติ จักแต่งตั้ง จักเปิดเผย จักจำแนก จักทำให้ตื้น จักแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปวาท ที่เกิดขึ้น ให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้ เพียงใด ดูก่อนมารผู้มีบาป ตถาคตจักยังไม่ปรินิพพาน เพียงนั้น"
(มหาปรินิพพานสูตร)


เราท่านทั้งหลายต้องอนุโมทนาสาธุการต่อพระยามาราธิราช ที่ท่านทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงปรินิพพาน นั่นหมายถึงเป็นเหตุให้เกิดพุทธบริษัท ๔  และมีหน้าที่ของพุทธบริษัท ๔ เกิดขึ้น เพื่อความมั่นคงสถาวรของพระพุทธศาสนาสืบไป พระยามาราธิราชทูลอาราธนาปรินิพพาน เพื่อเอื้อประโยชน์แก่พุทธบริษัท ๔ อันเป็นประเพณีของพระโพธิสัตว์ (พระยามาราธิราช) พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ เป็นศาสดาของเทวดา (พระเจ้า) และมนุษย์ (พระเจ้า.... พระเจ้าอยู่หัว... พระคุณเจ้า... พระผู้เป็นเจ้า... เจ้าชาย... เจ้าหญิง... ฯลฯ) ส่วนที่รู้กันว่าเป็นพระเจ้า เข้าใจกันว่าเป็นพระเจ้า จริงๆ นั้นไม่มีในคำสอนของพระพุทธศาสนา มีแต่เทวดา พรหม อรูปพรหม ซึ่งเป็นพระเจ้าที่แท้จริงเท่านั้น
พุทธบริษัท ๔ : ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา (สามเณร สามเณรี สิกขมานา ปัณฑรังคบรรพชิต)

พุทธบริษัท ๔ ควรรู้เรื่องกฐิน

๑. กฐิน หมายถึงผ้าพิเศษที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพุทธานุญาตเฉพาะกฐินกาล เป็นกาลทาน ในปีหนึ่งมีเขตกฐินเพียง ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันออกพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑  ไปถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ตามศัพท์ กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับตัดจีวร ในทางพระวินัยใช้เป็นชื่อเรียก สังฆกรรมอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพุทธานุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ ๕ รูป ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัดเดียวกัน และเป็นผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส (๓ เดือน) ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยไม่ขาดพรรษาเพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ โดยพระภิกษุสงฆ์พร้อมใจกันมอบผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (ไตรจีวร : สบง จีวร สังฆาฏิ) ที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้มีคุณสมบัติสมควรแก่การรับผ้ากฐินผืนนั้น พระภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ควรเป็นภิกษุผู้รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพพกรณ์ เป็นต้น ได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ดำเนินการกรานกฐินในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเจ้าภาพถวายผ้ากฐินสำเร็จรูปก็ตาม พระภิกษุผู้เป็นองค์ครองกฐินจะต้องมีคุณสมบัติอันสมควรนี้ และเมื่อทำผ้าจีวรได้สำเร็จแล้ว จะต้องประกาศให้คณะสงฆ์รับทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อคณะสงฆ์อนุโมทนาแล้ว พระภิกษุองค์ครองจึงจะมีสิทธิในผ้ากฐินนั้น และพระภิกษุในวัดทุกรูปมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ ตามพระพุทธานุญาต

๒. พระพุทธานุญาตเรื่องกฐิน กฐินเป็นพระพุทธานุญาตพิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ เช่นการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือการถวายน้ำปานะเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงประทานอนุญาต เมื่อมีผู้ศรัทธามาทูลขอพระพุทธานุญาต เรื่องถวายผ้าอาบน้ำฝน  ถวายน้ำปานะ  แต่เรื่องกฐินไม่มีผู้ใดมาทูลขอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระพุทธานุญาตด้วยพระองค์เอง

๓. พระพุทธประสงค์เรื่องกฐิน 
พุทธประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ทรงพุทธานุญาตให้พระภิกษุกรานกฐินนั้น คือ
๑) เพื่อให้พระภิกษุได้พักผ่อน พอพื้นดินแห้งสมควรแก่การเดินทาง
๒) เพื่อสงเคราะห์ ให้พระภิกษุได้เปลี่ยนผ้าครอง
๓) เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สงฆ์ ได้ช่วยกันตัดเย็บจีวรเป็นผ้ากฐิน
๔) เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ ได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ

๔. จีวร หมายถึง ผ้าทุกชนิดที่ชนทั้งหลายถวาย ไม่ว่าจะเป็นกาลจีวรก็ดี อกาลจีวรก็ดี อัจเจกจีวรก็ดี วัสสิกสาฏิกาก็ดี ผ้านิสีทนะก็ดี ผ้าปูลาดก็ดี ผ้าเช็ดหน้าก็ดี (ฯลฯ)
ถ้าเป็นผ้า ๓ ผืน เรียกว่าไตรจีวร (จีวร ๓ ผืน)
ถ้าเป็นผ้า ๒ ผืน เรียกว่าไทวจีวร (จีวร ๒ ผืน)
ไตรจีวรคือ อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) อุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าทาบคลุมกันหนาว) ในความหมายโดยทั่วไป เข้าใจกันว่า จีวร คืออุตตราสงค์ (ผ้าห่ม)
จากพระวินัยปิฎกมหาวรรค จีวรขันธกะ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม ๗/๙๑ น. ๒๖๔ ความว่า : พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพุทธานุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ จีวรทำด้วยเปลือกไม้ ๑ จีวรทำด้วยฝ้าย ๑ จีวรทำด้วยไหม ๑ จีวรทำด้วยขนสัตว์ ๑ จีวรทำด้วยป่าน ๑ จีวรทำด้วยของเจือกัน ๑ (จากวัสดุ ๕ ชนิดมาปนกัน)
จีวร นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระพุทธานุญาตให้ตัดอย่างคันนาชาวมคธ  ดังมีเรื่องกล่าไว้ในพระวินัยปิฎกมหาวรรค จีวรขันธกะ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่ม ๗/๙๑ น. ๒๗๕  ความว่าครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ เสด็จพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคีรีชนบท ได้ทอดพระเนตรเห็นคันนาของชาวมคธสวยงาม มีจังหวะเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงตรัสถามพระอานนทเถระว่า สามารถตัดจีวรของพระภิกษุให้เหมือนนาของชาวมคธได้หรือไม่ พระเถระทูลสนองว่า สามารถตัดได้และได้ตัดเป็นตัวอย่างสำหรับพระภิกษุหลายรูปไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดและสรรเสริญพระอานนทเถระว่าเป็นผู้ฉลาด เป็นคนเจ้าปัญญา ทรงอนุญาตให้ใช้จีวรตัด และใช้แบบที่พระอานนทเถระถวายเป็นตัวอย่าง เป็นต้นมา

๕. การประชุมทำผ้ากฐินในครั้งพุทธกาล เป็นการประชุมใหญ่มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ ว่า : ครั้งเมื่อพระอนุรุทธเถระ ได้ผ้าบังสุกุลมา จะทำจีวรเปลี่ยนผ้าครองสำรับเก่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ เสด็จเป็นประธานในวันนั้นพร้อมพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พร้อมพระอสีติมหาสาวกร่วมประชุมช่วยทำ พระมหากัสสปะเถระนั่งอยู่ต้นผ้า พระมหาสารีบุตรเถระนั่งอยู่ท่ามกลาง พระอานนทเถระนั่งอยู่ปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้าย พระบรมศาสดาทรงสนเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้อุดหนุนกิจการทั้งปวง แสดงถึงพลังความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ อันเป็นพระพุทธประสงค์ในการทำผ้ากฐิน

๖. กฐินเป็นกาลทาน ใน ๑ ปี มีเขตกฐิน เพียง ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันออกพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ถ้าพ้นเขตกฐินแล้ว แม้จะไปทอดกฐินก็ไม่เป็นกฐิน ไม่ได้อานิสงส์กฐิน จะได้แต่เป็นอานิสงส์ของสังฆทาน หรือผ้าบังสกุล

๗. พระภิกษุองค์ครองผ้ากฐิน ควรเป็นภิกษุผู้ได้รับการอุปสมบทด้วย "ญัตติจตุตถกรรม" โดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย  ด้วยกล่าวขออุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์และคณะสงฆ์ต่อหน้าพระประธานองค์แทนพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าภายในพระอุโบสถ ด้วยคำกล่าว "อุกาสะ วันทามิ ภันเต..." อันมีเหตุมาแต่สมัยพุทธกาล (ดังเรื่องพระราธพราหมณ์  ข้อ ๒๖)

๘. พระภิกษุองค์ครองผ้ากฐิน จะต้องเป็นผู้รู้ธรรม ๘ ประการ คือ
๑) รู้จักบุพพกรณ์(บุพพกิจ) ๒) รู้จักถอนไตรจีวร ๓) รู้จักอธิษฐานไตรจีวร ๔) รู้จักกรานกฐิน ๕) รู้จักมาติกา ๖) รู้จักปลิโพธ กังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน ๗) รู้จักการเดาะกฐิน ๘) รู้จักอานิสงส์กฐิน แล้วจึงกรานกฐิน หากภิกษุองค์ครองไม่รู้ธรรม ๘ ประการ อานิสงส์ก็น้อยลงตามลำดับ หรือไม่ควรเป็นผู้รับผ้า (เป็นเรื่องของสงฆ์ที่จะต้องรู้และศึกษาวิธีในการกรานกฐิน) เมื่อเป็นผ้าสำเร็จรูปแล้ว ภิกษุองค์ครองต้องประกาศให้สงฆ์ทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อสงฆ์อนุโมทนาแล้ว จะได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ ขยายยาวออกไปถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (ปกติพระภิกษุได้รับอานิสงส์พรรษา มีกำหนด ๑ เดือน แม้จะไม่ได้กรานกฐิน)

๙. พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นปกตัตตะภิกษุ คือเป็นพระภิกษุปกติไม่ต้องโทษ ไม่ต้องอาบัติ พระภิกษุที่ต้องอาบัติข้อใดข้อหนึ่งควรปฏิบัติดังนี้ สำหรับ ครุกาบัติ (อาบัติหนัก : ปาราชิก สังฆาทิเสส) ถ้าภิกษุต้องอาบัติปาราชิกควรลาสิกขาบทจากความเป็นภิกษุทันที ส่วนภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสสควรเข้าปริวาสกรรมทันที ส่วนลหุกาบัติ (อาบัติเบา) สามารถปลงอาบัติได้ พระภิกษุควรปลงอาบัติทุกวัน เพื่อพ้นจากอาบัติ และบริสุทธิ์ พร้อมในการปฏิบัติธรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงป้องกันพุทธสาวกของพระพุทธองค์ โดยทรงพุทธานุญาตให้ปลงอาบัติ เปิดเผยความผิด การปลงอาบัติมีพลานิสงส์มาก ทำให้กลับมาเป็นปกตัตตะภิกษุได้ตามเดิม

๑๐. สังฆราชี วัดใดหากพระภิกษุในวัดเดียวกันทะเลาะกัน โกรธ ไม่พูดจากัน ขัดใจกัน เป็นสังฆราชี (ความร้าวรานของสงฆ์) เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พระภิกษุทุกรูปจะต้องประชุมกันเพื่อทำสังฆกรรมที่เรียกว่า มหาปวารณา คำว่า "มหา" มีความหมายลึกซึ้งตั้งแต่ มหากุศลในกามาวจร มหากุศลในรูปาวจร มหากุศลในอรูปาวจร และมหากุศลในโลกุตตระ เมื่อกระทำกุศลถูกต้องตามพระธรรมวินัยจิตสามารถดำเนินเข้าสู่กระแส มัคค ผล นิพพาน ได้ แต่ถ้าละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอกุศลจิต ก็มี "มหานรก" เป็นที่รองรับ วันมหาปวารณาเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์สามารถว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ตามหลักธรรมของพระธรรมวินัย มีการบอกกล่าวความขัดใจ ความไม่พอใจความโกรธซึ่งกันและกันได้ และจะมีการงดโทษหรือยกโทษให้แก่กันและกัน หากวัดใดยังมีพระภิกษุที่ยังไม่คืนดีต่อกัน ยังโกรธกัน ไม่พูดดีต่อกัน วัดนั้นไม่มีสิทธิ์รับกฐิน เพราะจะเป็นกฐินเดาะ ไม่ได้อานิสงส์กฐิน

๑๑. ผ้าจำนำพรรษา ถ้าวัดใดมีพระภิกษุไม่ครบ ๕ รูป จะไม่มีสิทธิ์รับผ้ากฐิน แต่จะมีสิทธิ์รับผ้าจำนำพรรษา (ผ้าจำนำพรรษา คือผ้าที่ทายกถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือน (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ในวัดนั้นๆ ได้ทุกรูป (๔ รูป ๓ รูป ๒ รูป ๑ รูป) ภายในเขตจีวรกาล (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒)  ภิกษุเข้าพรรษาหลัง (แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) ไม่มีสิทธิ์รับผ้ากฐิน และผ้าจำนำพรรษา ทายกผู้ฉลาดตั้งเจตนาถวายผ้ากฐินและผ้าจำนำพรรษาแก่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปในวัด จึงจะได้อานิสงส์มาก ถ้าพระภิกษุไม่ครบ ๕ รูป แม้จะนิมนต์พระภิกษุมาจากวัดอื่น เพื่อให้ทำสังฆกรรมครบ ๕ รูป ก็ไม่เป็นกฐิน อย่างนี้เป็นบาปมหันต์ ส่วนสังฆกรรมอื่นสามารถนิมนต์พระภิกษุมาจากวัดอื่นได้ เช่นการบรรพชาอุปสมบท สังฆกรรมอุโบสถหรือการสวดอัพภานเพื่อพระภิกษุที่ต้องสังฆาทิเสส ซึ่งต้องใช้พระภิกษุ ๒๐ รูป เป็นต้น

๑๒. กฐินไม่ใช่เงินทอง กฐิน หมายถึง ผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (สบง จีวร หรือสังฆาฏิ) ไม่ได้หมายถึง เงินหรือทอง (ตามที่เข้าใจกันเป็นส่วนมากในปัจจุบัน)

๑๓. การจองกฐิน เป็นเรื่องบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินการ  บุคคลหมายถึง ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา (ที่ไม่ได้อยู่จำพรรษาวัดนั้น) เทวดา อุบาสก อุบาสิกา สามารถนำกฐินไปทอดได้ เริ่มตั้งแต่การถามเจ้าอาวาสของวัดว่า วัดของท่านมีผู้จองกฐินแล้วหรือยัง ถ้าท่านบอกว่า ยังไม่มีใครมาจองกฐิน ก็ถามอีกว่าท่านต้องการกฐินหรือต้องการเงิน ถ้าท่านบอกว่าต้องการเงิน เพราะยังมีสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย เราก็ไม่ไปทอด หรือถ้าท่านตอบว่าต้องการทั้งกฐินและเงิน เราก็ไม่ไปทอด เพราะกฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐิน ถึงนำกฐินไปทอด ก็ไม่ได้อานิสงส์กฐิน แต่ถ้าเจ้าอาวาสบอกว่าต้องการกฐินแสดงว่าเจ้าอาวาสรู้พระวินัย เราก็สามารถทอดกฐินวัดนี้ได้ เพราะการทอดกฐินก็เพื่ออานิสงส์ของพระภิกษุสงฆ์ และแจ้งข่าวให้ทราบทั่วกัน ถ้าเป็นวัดหลวง ต้องได้รับพระราชทานเสียก่อน จึงจะจองได้

๑๔. การบอกบุญกฐิน โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่า เชิญร่วมบุญกฐินเพื่อสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานต่างๆ เช่นสร้างเจดีย์ โบสถ์ วิหาร ศาลา หอระฆัง หอฉัน เมรุ โรงครัว ห้องสุขา ฯลฯ หรือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เช่น เพื่อช่วยคนพิการ คนชรา เด็กอนาถา สร้างโรงเรียน เป็นต้น กฐินนั้นจะเดาะตั้งแต่เริ่มตั้งบุพพเจตนาเพราะหวังจะได้เงินทอง ปรารถนาจะได้เงินเข้าวัดมากๆ เพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ จิตที่ทำงานจะเป็นจิตโลภะ หรือการทำกฐินเป็นกองๆ แจ้งว่ากองละเท่านั้นเท่านี้ ก็เช่นกัน กฐินเป็นเรื่องผ้ากฐิน ไม่มีเป็นกองๆ เป็นเงินทอง ล้วนแต่เป็นเรื่องโลภะจิตทำงาน กฐินเดาะตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้อานิสงส์กฐิน แต่ถ้าเป็นเจตนาเพื่อซื้อเครื่องกฐิน สามารถทำได้

๑๕. การแจ้งข่าวกฐิน ให้สาธุชนทั้งหลายรับทราบ ควรทำใบแจ้งการทอดกฐิน พร้อมกำหนดการโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการสร้างวิหารทานใดๆ ถ้าวัดนั้นมีเจ้าภาพสร้างวิหารทานด้วย ควรทำใบแจ้งต่างหาก แยกออกจากใบกฐิน เพราะพิธีการทอดกฐินก็เป็นเรื่องของกฐินโดยเฉพาะ เมื่อเสร็จพิธีทอดกฐินแล้ว จึงจะแจ้งข่าวเรื่องการสร้างมหาทานอื่นๆ ต่อไป

๑๖. การประกาศขอกฐิน โดยพระภิกษุในวัดรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาโดยตรง หรือโฆษณาทางสื่อต่างๆ เช่นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ให้มาทอดกฐินที่วัดของตน ๆ กฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐินเพราะผิดพระวินัย

๑๗. การถวายผ้ากฐิน ต้องเกิดด้วยศรัทธาของทายกเอง ไม่ใช่พระภิกษุในวัดไปพูดแย้มพรายหรือพูดเลียบเคียงให้ถวาย ห้ามใช้ผ้าที่ไม่เป็นสิทธิ์ เช่น ผ้าที่ขอยืมเขามาทอด ไม่ใช้ผ้าที่ได้มาโดยอาการมิชอบ เช่นการทำนิมิตหรือพูดเลียบเคียง ไม่ใช้ผ้าที่เป็นสันนิธิ คือผ้าที่ทายกมาทอดแล้วพระภิกษุเก็บไว้ค้างคืน ไม่ใช้ผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ คือผ้าที่พระภิกษุเสียสละ เพราะต้องโทษตามพระวินัยบัญญัติ

๑๘. ผ้ากฐินตามพระวินัยควรเป็น "ผ้าขาว" ทำจากเปลือกไม้ ฝ้าย ไหม ป่าน ขนสัตว์ หรือผ้าผสมกัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเทียมใหม่ ผ้าเก่า ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าทิ้งตามตลาด อย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ (ปัจจุบันใช้จีวรสำเร็จรูป) เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพุทธานุญาตให้การทอดกฐินนั้นเป็นสังฆกรรม คือการงานของสงฆ์ให้ตั้งญัตติทุติยกรรม มอบให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้สมควรและสามารถในการนี้ ผู้รู้จักธรรม ๘ ประการ มีบุพพกรณ์เป็นต้น ผู้ดำเนินการกรานกฐิน ทำผ้าให้สำเร็จภายในวันนั้น ด้วยความร่วมมือของพระภิกษุทุกรูปในวัดนั้น ก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองกันตามพระพุทธประสงค์

๑๙. ผ้าขัณฑ์ ผ้าไตร ๓ ผืน ไม่ว่าจะเป็นผืนใดผืนหนึ่ง (สบง จีวร หรือสังฆาฏิ) จะต้องเป็นผ้าขัณฑ์ (ขัณฑ์ = ตอน ท่อน ส่วน ชิ้น เช่น จีวรมีขัณฑ์ ๕ คือมีผ้า ๕ ชิ้น มาเย็บติดกันเป็นผ้าผืนเดียวกัน)

๒๐. ไตรจีวรสำเร็จรูป  เจ้าภาพกฐินที่ซื้อไตรจีวรสำเร็จรูป ต้องตรวจสอบว่า ผ้าสังฆาฏิ จีวร สบง  เป็นผ้ามีขัณฑ์ทั้ง ๓ ผืนหรือไม่ ถ้าไม่ครบต้องหาให้ครบ และตรวจสอบผ้าทั้ง ๓ ผืน ว่าต้องเป็นผ้าที่มีการตัดก่อนแล้วจึงเย็บ หากไม่ตัดผ้า แต่มีการพับผ้าแล้วเย็บ จะไม่เป็นกฐินไม่ได้อานิสงส์กฐิน

๒๑. วัดที่จะรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุในวัดเดียวกันครบ ๕ รูป (เป็นอย่างน้อย) จำพรรษาครบ ๓ เดือนโดยไม่ขาดพรรษา จึงจะกรานกฐิณได้ (ภิกษุที่ขาดพรรษาหรือเข้าปัจฉิมพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไม่ควรรับการกรานกฐิน) ถ้าพระภิกษุในอารามนั้นไม่ครบคณะสงฆ์ ๕ รูป ถ้ามีสามเณรอายุครบอุปสมบทได้ (๒๐ ปี) จำพรรษาในอารามนั้น อุปสมบททันในเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ ข้างขึ้น ๑-๒-๓-๔ รูป ก็ดี ให้พอครบคณะสงฆ์ ๕ รูป สามารถรับกฐินและได้อานิสงส์กฐิน

๒๒. เจ้าภาพที่ปรารถนาจะทอดกฐินหลายวัด โดยนัดพระภิกษุวัดนั้นๆ มาประชุมรับผ้ากฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่งในวันเดียวกันนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะผิดพระวินัย เจ้าภาพต้องนำกฐินไปทอดเฉพาะวัดแต่ละวัดเท่านั้น  (ในสมัยก่อน ถ้ามีผู้นำผ้าไปทอดหลายๆคน ท่านผู้ใดนำผ้าไตรกฐินเข้าเขตวัดก่อน ผ้าของท่านผู้นั้นจะเป็นผ้ากฐินทันที)

๒๓. กฐินตกค้าง ต้องไม่มีเจ้าภาพจองจริงๆ ไม่ใช่มาประกาศบอกข่าวล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆอย่างนี้ไม่เรียกว่า กฐินตกค้าง เพราะกฐินตกค้างที่แท้จริงต้องใกล้วารกาลที่จะหมดกาลเวลาของ กฐินจริงๆ หมดเขตกฐิน (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒) วัดนั้นๆ ไม่มีผู้จองไปทอดกฐินจึงจะเป็นกฐินตกค้าง ไม่ใช่ประกาศแจ้งว่าเป็นกฐินตกค้างล่วงหน้ากันนานๆ และมีเป็นจำนวนมากวัดอย่างในปัจจุบัน

*เหตุที่ไม่มีผู้จองกฐิน เนื่องมากจากความเข้าใจผิดว่า การทอดกฐินจะต้องใช้เงินทองจำนวนมาก กฐิน กลายเป็นหมายถึง เงินทองต้องหาเงินให้วัดเป็นจำนวนมากๆจึงจะทำ  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง เนื่องจากการปลูกฝังความเข้าใจผิดนี้ มีต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ถ้าได้อ่านสิกขาในพระพุทธธรรมคำสอนแล้วจะรู้ว่า กฐิน หมายถึง ผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (สบง จีวร สังฆาฏิ) ไม่ใช่หมายถึงเงินทอง ดังนั้น เมื่อเกิดความเข้าใจผิด ทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าไปทอดกฐิน เพราะไม่สามารถจะหาเงินทองจำนวนมากๆ มาถวายวัดได้ จะเห็นว่ามีวัดเป็นจำนวนมากที่ไม่มีผู้จองกฐิน ทำให้พระภิกษุขาดอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ
ถ้าพุทธศาสนิกชนได้รับความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องกฐิน วัดในประเทศไทย ๓๐,๐๐๐ กว่าวัด ถ้ามีพระภิกษุครบ ๕ รูป จำพรรษาครบ ๓ เดือนในแต่ละวัด ก็จะสามารถรับกฐินได้ เพราะกฐินคือผ้า ไม่ใช่เงินทอง ซึ่งทายก ทายิกา ของแต่ละวัดก็สามารถที่จะหาผ้ากฐินผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน มาทอดได้ โดยไม่ต้องใช้เงินทองจำนวนมาก จะทำให้เจ้าภาพและพระภิกษุได้รับอานิสงส์ของกฐิน ส่วนการทำบุญสังฆทานวิหารทานอื่นๆ สามารถทำได้ในโอกาสต่อไป

๒๔. เจ้าภาพกฐินต้องไม่จัดเลี้ยงสุราเมรัยน้ำเมาทั้งหลาย เจ้าภาพกฐินต้องไม่ฆ่าสัตว์ มาทำเป็นอาหารเลี้ยงกันในงานบุญ เจ้าภาพกฐินต้องไม่มีอารมณ์โกรธฉุนเฉียว ดุด่าว่ากล่าวบุคคลอื่น ถ้ามีเหตุการณ์ดังกล่าว กฐินจะกลายเป็น กฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง ไม่เป็นที่อนุโมทนาของเทพพรหมเทวาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนั้น เจ้าภาพกฐินต้องตั้งใจ น้อมใจ ให้กุศลจิตขึ้นมาทำงานอยู่เสมอ มีเจตนาทาน ที่พร้อมไปในกุศลทั้ง ๓ ประการ คือ
๑) บุพพเจตนา เจตนาก่อนการะทำเต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
๒) มุญจเจตนา (มุญจนเจตนา) เจตนาขณะกำลังกระทำ เต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
๓) อปรเจตนา (อปราปรเจตนา) เจตนาหลังกระทำแล้ว เต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
งานบุญกฐินของท่านเจ้าภาพจะเต็มไปด้วยมหากุศล เป็นที่อนุโมทนาของเทพพรหมเทวา และมนุษย์ทั้งหลาย

๒๕. โทษของการทอดกฐิน โดยละเมิดพระธรรมวินัย ทำให้เจ้าภาพกฐินไม่ได้รับอานิสงส์อันประเสริฐในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ สำหรับมวลหมู่มนุษย์ การทำกฐินผิดพระธรรมวินัย เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เป็นอกุศลจิต นำไปเก็บที่ดวงจิต อุเปกขาสหคตัง สันตีรณจิตตัง อสังขาริกัง กามาวจร อกุสลวิปากจิตตัง (ซึ่งเป็นวิบากจิตที่เก็บผลจากการทำอกุศล (โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒) เมื่อจุติแล้วไปปฏิสนธิในอบายภูมิ สำหรับคฤหัสถ์ จุติแล้วปฏิสนธิจิต นำไปมหานรกขุม ๗ (มหาตาปนนรก) รับผลกรรมในนรกขุมนี้ยาวนานครึ่งอันตรกัปสำหรับพระภิกษุ การทอดกฐินผิดพระธรรมวินัย อย่างเบา ต้องอาบัติสังฆาทิเสส หรืออย่างหนัก ต้องอาบัติปาราชิก จุติแล้วปฏิสนธิจิตนำไป มหานรกขุม ๘ (อเวจีมหานรก) รับผลกรรมในนรกขุมนี้ยาวนาน หนึ่งอันตรกัป

๒๖. อสัทธรรมภิกษุ พระภิกษุในวัดใด ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า เจริญธรรมในสำนักของพระพุทธองค์ ไม่ได้สิกขาพระพุทธธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่กระทำตนเป็นเกจิอาจารย์ ปลุกเสก สักเลข สักยันต์ ลงอาคม ทำเครื่องลางของขลัง อยู่ยงคงกระพัน เป็นหมอดู โชคชะตาราศี  เป็นหมอทำนายทายทัก เป็นหมอดูดวงต่างๆ แก้เวร แก้กรรม สะเดาะเคราะห์ สะเดาะโศก สะเดาะโรค สะเดาะภัยทั้งหลาย ทำเล่ห์เสน่ห์ยาแฝด เป็นร่างทรงต่างๆ ตั้งศาลบวงสรวง ภูติผีปีศาจ วิชาไสยศาสตร์ทั้งปวง ล้วนไม่ใช่พุทธสาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า สมควรที่จะลาสิกขาบท ออกไปจากความเป็นพระภิกษุ ไปอยู่เป็นคฤหัสถ์ ประกอบอาชีพตามความถนัดของตนต่อไป (เหมือน ภิกษุพม่าหากเข้าข่ายอสัทธรรม จะลาสิกขาบทไปเป็นฤษี ฯลฯ)

พุทธสาวก คือผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า เจริญธรรมในสำนักของพระพุทธองค์ สิกขาในพระพุทธธรรม คำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อให้ถึงกระแสนวโลกุตตรธรรมเจ้า ๙ ประการ (มัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑) พระภิกษุได้อุปสมบทด้วย "อุกาสะ วันทามิ ภันเต..." มาตั้งแต่สมัย พุทธกาล (จากคาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ น. ๒๘๖ - ๒๘๙) ความว่า : พระบรมศาสดาปรารภเรื่องพระราธะ ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารว่า ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ ราธพราหมณ์ เป็นคนตกยากอยู่ในกรุงสาวัตถี อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ในสำนักภิกษุทั้งหลาย ช่วยดายหญ้า กวาดบริเวณและรับใช้ภิกษุ เป็นต้น ภิกษุทั้งหลายสงเคราะห์แล้ว แต่ไม่ปรารถนาจะให้บวช พระบรมศาสดาทอดข่ายพระญาณตรวจดูสัตว์โลก ทรงทราบว่า ราธพราหมณ์จักได้เป็นพระอรหันต์* (แสดงถึงบุพเพนิวาสานุสสติญาณ และจุตูปปาตญาณของพระพุทธเจ้า) จึงเสด็จไปสู่สำนักของพราหมณ์ ตรัสถามทราบความว่า ภิกษุเหล่านั้นสงเคราะห์เพียงอาหาร แต่ไม่อนุเคราะห์ให้บวช พระศาสดามีรับสั่งประชุมสงฆ์ ตรัสถามว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระภิกษุเหล่านั้นว่า


พระบรมศาสดา :          " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีใครที่ระลึกถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง"
พระมหาสารีบุตรเถระ :  " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาต
อยู่ในกรุงราชคฤห์  พราหมณ์ผู้นี้เคยถวายภิกษาอันเป็น
ส่วนของตน แก่ข้าพระองค์ทัพพีหนึ่ง ข้าพระองค์ระลึก
ถึงคุณของพราหมณ์นี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า"
พระบรมศาสดา :           " ดูก่อนสารีบุตร การที่เธอจะเปลื้องพราหมณ์ผู้มีอุปการคุณนี้
ออกจากทุกข์ ไม่ควรหรือ"
พระมหาสารีบุตรเถระ :   " ดีละ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักให้ราธะบวช"

พระมหาสารีบุตรเถระ จึงอุปสมบท ราธพราหมณ์ ด้วย "ญัตติจตุตถกรรม" เป็นภิกษุองค์แรก เมื่อบวชแล้ว พระราธะเป็นผู้ว่าง่ายปฏิบัติตามคำพระอุปัชฌาย์พร่ำสอนอยู่ ๒-๓ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พระบรมศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า  
"ราธะผู้นี้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายของตถาคต ผู้มีปฏิภาณ"
ภิกษุทั้งหลายกล่าวสรรเสริญพระมหาสารีบุตรเถระว่า เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ระลึกถึงอุปการะสักว่าภิกษาทัพพีเดียว อนุเคราะห์ให้พราหมณ์ราธะผู้ตกยากได้บวช สรรเสริญพระราธะว่า แม้พระราธะก็เป็นผู้อดทนต่อโอวาท ย่อมได้ท่านผู้ควรแก่การให้โอวาทเช่นกัน
พระราธะกล่าวขออุปสมบทด้วย "อุกาสะ วันทามิ ภันเต..." ในที่นี้ภันเต หมายถึง พระมหาสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์การอุปสมบทแบบ "อุกาสะ วันทามิ ภันเต..." จึงมีเหตุมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และพระภิกษุในสมัยปัจจุบัน ได้กล่าวขอบรรพชาอุปสมบทต่อหน้าพระพุทธปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ และคณะสงฆ์ว่าจะขอทำพระนิพพานให้แจ้ง  เป็นการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่แท้จริงของพุทธสาวก ในองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

เครื่องกฐินที่สำคัญ คือ อัฏฐบริขาร ๘
ได้แก่ : ไตรจีวร (สบง จีวร สังฆาฏิ) ประคดเอว บาตร มีดโกน เข็ม (รวมถึงกล่องเข็ม) ด้าย เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก)

อานิสงส์ภิกษุผู้รับกฐิน


อานิสงส์พระภิกษุสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย ผู้ได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการคือ
๑. อนามนฺตจาโร เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. อสมทานจาโร เที่ยวไปไหนไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ (ผ้า ๓ ผืน คือสบง จีวร สังฆาฏิ)
๓. คณโภชนํ ฉันคณะโภชน์ได้ (ฉันเป็นหมู่ได้ คือภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เจ้าภาพสามารถ บอกชื่อ อาหาร คือโภชนะ ๕ ได้แก่ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ)
๔. ยาวทตฺถจีวรํ เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา (ปกติเก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน)
๕. โย  จ  ตตฺถ  จีวรุปฺปาโท  โส  เนสํ  ภวิสฺสติ
จีวร ลาภอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ (ลาภสักการะที่สมควรแก่พระภิกษุ เช่นไตรจีวร ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว เครื่องใช้ต่างๆ เจ้าภาพถวายแล้ว พระภิกษุเก็บไว้ได้เอง โดยไม่เป็นของสงฆ์)


 

 

กฐิน โดย ท.เลียงพิบูลย์

จากหนังสือกฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เล่ม ๓



เมื่อหนังสืออนุสรณ์งานกฐินปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้แจกไปแล้ว ก็มีผู้มาถามถึงเรื่องหน้าปกหนังสือนั้นมี “รูปจระเข้” ข้างหนึ่ง และมี “รูปนางมัจฉา” อีกข้างหนึ่ง มีความหมายอย่างใด ไม่นึกว่ายังมีไม่น้อยที่ท่านไม่เข้าใจความหมายรูปจระเข้กับนางมัจฉา ข้าพเจ้าขอเรียนว่า เป็นธงหมายถึงการบุญทอดกฐินโดยเฉพาะ ซึ่งสมัยนี้ทางจังหวัดพระนครไม่ค่อยได้เห็น แต่ตามชนบทภาคกลางบางแห่ง ก็ยังใช้ธงเครื่องหมายประจำกฐิน ในยุคนี้ส่วนมากก็ใช้ธงธรรมจักรแทน และใช้ได้ทั่วไปในงานกุศล

เรื่องนี้สมัยที่ข้าพเจ้ายังเด็ก เคยเห็นมีการแห่กฐินไปทอดตามวัดนั้น ส่วนมากเขามีธงจระเข้กับนางมัจฉาซึ่งเอาลำไม้ไผ่ทำเป็นเสาธง โดยลิดกิ่งข้างล่างออกเอาไว้แต่ปลายกิ่งเล็กๆ อยู่บนยอด แล้วมีผ้าขาวกว้างประมาณศอกกว่า ยาวประมาณ ๒ เท่าของส่วนกว้าง หรือจะกว้างกว่ายาวกว่าก็ได้ เขียนรูปจระเข้และรูปนางมัจฉาด้วยหมึกสีดำ ผ้าธงนี้เขาใช้เย็บข้างล่างและข้างบนเป็นช่อง เพื่อจะเอาไม้ขนาดนิ้วมือสอดเข้าไปให้ไม้โผล่ออกมา เพื่อใช้เชือกผูกโยงสองข้างเป็นสามเหลี่ยม ผูกติดปลายส่วนข้างล่าง สอดไม้ไว้เช่นกัน เพื่อให้ธงกางอยู่ตลอดเวลา

เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็จะต้องเอาธงนี้ไปปักหน้าวัด เพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมารู้ว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินแล้ว ผู้คนสมัยก่อนก็จะยกมือขึ้นอนุโมทนาในการกุศลกฐินด้วย ฉะนั้น ธงจระเข้และนางมัจฉานั้นจึงเป็นเครื่องหมายการกฐินที่จำเป็นสมัยก่อน เพราะเวลาแห่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นแห่กฐิน ผิดกว่างานบุญอื่นๆ หรือแห่ผ้าป่าก็นิยมทอดกันมาก ธง จระเข้สมัยก่อนยังมีประโยชน์ เมื่อจวนเวลาจะสิ้นวันฤดูหมดหน้ากฐินแล้ว ก็จะมีหมู่ผู้ศรัทธาใจบุญจะใช้เรือเดินทางไปตามแม่น้ำลำคลอง ในเรือมีไตรเครื่องกฐินไปพร้อม และพร้อมที่จะทอดได้ทันที สมัยก่อนมีเพียงไตรเดียวก็ทอดได้

เมื่อเห็นว่าวัดไหนไม่มีธงจระเข้ปักไว้หน้า วัด ก็จะรู้ว่าวัดนั้นกฐินตกค้าง ทั้งไม่มีใครรับทอด ก็จะขึ้นไปหาท่านสมภาร เมื่อรู้แน่ว่าวัดนี้ไม่มีใครจองไม่มีใครทอด เมื่อเกินเวลาผ่านเลยไปแล้วก็จะเป็นกฐินตกค้างปี ท่านผู้ศรัทธาใจบุญก็จะจัดการทอดทันที แต่มีผ้าไตรครองผืนเดียวนอกนั้นก็ถวายปัจจัยและง่ายดีไม่ต้องมีพิธีอะไรมาก มาย

แต่ยุคนี้การทอดกฐินต้องเป็นกฐินสามัคคีส่วนมาก บางวัดพระอยากได้เงินเข้าวัดมากๆ ต้องสร้างโน่นสร้างนี่ ต้องรวมทุนทรัพย์เพราะทั้งโบสถ์และศาลาเก่าแก่กำลังจะผุพัง ต้องบอกบุญเรี่ยไรเป็นการใหญ่ นี่เป็นปัจจุบันนี้ ทำให้มนุษย์ใจบาปหยาบช้าไม่มีศาสนาสวมรอยทำชั่ว หลอกลวงพระและต้มชาวบ้านที่มีจิตศรัทธา ทำให้ศาสนามัวหมอง

กฐินส่วนบุคคลก็น้อยลงหายไป ธงจระเข้ก็หายไปด้วยมีธงธรรมจักรสีแดงพื้นเหลืองมาแทน เพราะใช้กับงานทางศาสนาได้ทุกอย่าง จึงแยกไม่ออกว่างานกฐินหรืองานบุญใด ฉะนั้น คนรุ่นหลังไม่รู้ความหมายของธงจระเข้มีความเป็นมาอย่างใด

ต้นเรื่องการเป็นมาของธงจระเข้งานกฐินนี้ ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ คล้ายนิยายตำนานของบ่อเกิดแห่งต้นเหตุ ท่านเล่านิยายโบรมโบราณให้ฟังว่า

ครั้งก่อนมีเศรษฐีเหนียวแน่นผู้หนึ่ง ไม่ชอบทำบุญให้ทาน อดทนต่อการกินอยู่ง่ายๆ ไม่ใช้จ่ายเท่าที่ควร ได้เงินก็ได้แต่เก็บไว้ ไม่ทำตัวเป็นคนบุญใจ คนมีก็เหมือนคนจนยากแค้น เพราะไม่ใช้เงินให้เป็นประโยชน์ มีแต่ความงกทรัพย์สิน ได้รวบรวมเงินทองใส่โอ่งนำไปฝังไว้ในที่ดินของตนอยู่ใกล้บ้านโดยไม่ให้ใคร รู้เห็น

แม้แต่บุตรภรรยาก็ไม่รู้ที่ฝังทรัพย์สมบัตินั้นใกล้กับลำแม่น้ำ ฉะนั้น เมื่อตนตายไปแล้วก็เกิดเป็น จระเข้คอยเฝ้าสมบัติ เป็นจระเข้ที่ดุร้าย เป็นเจ้าถิ่นใหญ่กว่าจระเข้ทั้งหลายอยู่ในแถบนั้น เพราะหวงสมบัติ

ต่อมาน้ำค่อยๆ เซาะตลิ่งพังลงทีละเล็กละน้อยจวนจะถึงที่ฝังสมบัติ จระเข้ตัวนั้นไม่รู้จะทำอย่างไรดี ถ้าตลิ่งพังก็จะทำลายทรัพย์สมบัติที่ตนได้อุตส่าห์หาได้แล้วนำมาฝังไว้ หากตลิ่งพังทรัพย์สมบัติตกลงไปในน้ำ สายน้ำก็จะพัดกระจัดกระจายไป ก็เป็นอันสุดสิ้นกัน เมื่อไม่มีทางรักษาสมบัติต่อไปได้ จระเข้ตัวนั้นก็ไปเข้าฝันลูกชายในร่างมนุษย์ผู้เป็นพ่อบอกว่า พ่อเดี๋ยวนี้เกิดเป็นจระเข้เฝ้าสมบัติ

แต่บัดนี้ตลิ่งจะพัง กำลังจะทำลายทรัพย์สมบัติที่พ่อหามาได้ฝังไว้ จะพังลงน้ำหมดแล้ว ขอให้ลูกจงไปขุดเอาทรัพย์สินเหล่านั้น แล้วนำไปทอดกฐินและสร้างกุศลที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาต่อไป แล้วอุทิศกุศลกรวดน้ำไปให้พ่อด้วย จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์เสียที ว่าแล้วก็บอกชี้ที่ฝังทรัพย์ให้ลูกชายให้รู้ที่ฝังทรัพย์ พร้อมด้วยมีเครื่องหมายบอกไว้ให้ตรงไปขุดตามที่พ่อบอก อย่าช้าให้รับจัดการ

เมื่อลูกชายตื่นขึ้นก็จำความฝันได้แม่นยำ นึกว่าพ่อเรานี่เป็นคนตระหนี่ แม้จะตายไปแล้วก็ห่วงทรัพย์สมบัติ จิตใจยังจดจ่อกังวลอยู่ในทรัพย์เงินทอง จึงต้องไปเกิดเป็นจระเข้คอยเฝ้าทรัพย์ ควรเราจะไปขุดนำมาทำบุญสร้างกุศล อุทิศเพื่อให้พ่อได้เกิดเป็นมนุษย์ต่อไป แล้วต่อมาลูกชายก็ไปขุดทรัพย์ ตามที่พ่อได้เข้าฝันบอกที่ฝังไว้ ก็ได้ทรัพย์สินจริงตามที่พ่อบอกทุกประการ ลูกชายก็ไปจองกฐินที่วัดแห่งหนึ่งใกล้น้ำ

เมื่อถึงหน้าฤดูกฐินน้ำหลาก ลูกชายก็จัดงานทอดกฐินแห่แหนทางน้ำสนุกสนาน มีเรือองค์กฐินตบแต่งสวยงาม มีธงจระเข้ปักไว้หน้าเรือและถือว่าเจ้าของกฐิน และนับว่าแปลกมหัศจรรย์ที่มีจระเข้ตัวใหญ่นำฝูงว่ายนำเรือกฐินไปถึงวัด แล้วก็จมหายไป

ในสมัยนั้นต่อมาชาวบ้านชาวเมืองพากันเชื่อแน่ว่า เมื่อมีธงจระเข้ปักไว้หน้าเรือกฐิน พวกสัตว์น้ำที่ดุร้ายก็ไม่ดุร้ายทำอันตรายคน ในงานกฐินสมัยก่อน วัดพุทธศาสนามักจะอยู่ริมน้ำ งานกฐินจึงมีการสนุกสนานด้วยการแข่งเรือพาย ทั้งชายหญิงหนุ่มสาวเขาว่ากันว่า แม้เรือจะล่มไปเวลานั้นพวกจระเข้ก็ไม่ทำอันตราย เพราะถือว่าจระเข้ที่มาเวลานั้นต่างมาโมทนากุศลกฐิน นี่เป็นเรื่องเก่าแก่โบรมโบราณเล่าต่อๆ กันมา

เมื่อจะถามว่าแล้ว “นางมัจฉา” มันเกี่ยวอะไรกับกฐินล่ะ ข้าพเจ้ายังหาที่มาตอบให้ทราบไม่ได้ แต่ก็เดาว่าการเขียนจระเข้ตัวแรกนั้นเป็นตัวผู้ ฉะนั้น การที่จะเขียนตัวเมียเป็นคู่คงแยกกันไม่ออก ดูก็ไม่รู้ในสายตาทั่วไป หรือผู้เขียนรูปจระเข้ก็นึกไม่ออกว่าผิดแปลกแตกต่างกันอย่างใดตรงไหน ในระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย ถ้าจะสมมุติก็ต้องเขียนตัวหนังสือไว้ใต้รูปว่าจระเข้ตัวผู้ และอีกตัวว่าจระเข้ตัวเมียเพื่อให้เป็นคู่กัน แต่มันออกจะรุ่มร่ามเกินไปก็คิดว่าควรเขียนนางมัจฉาให้เป็นคู่สมสู่กับ จระเข้ เห็นแล้วเข้าใจง่าย เห็นชัดว่าเป็นตัวเมีย เห็นจะเป็นเหตุนี้ จึงมีนางมัจฉาคู่กับธงจระเข้ในสมัยก่อนตลอดมา แต่ในยุคปัจจุบันนี้เราไม่เห็นหรือจะมีข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ แต่สมัยก่อนมีขายตามร้านสังฆภัณฑ์ แถวเสาชิงช้า เรื่องธงกฐินสมัยก่อน ความหมายของธงกฐิน คิดว่าผู้ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องหน้าปกหนังสืออนุสรณ์งานกฐินปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็คงจะพอเป็นทางที่เข้าใจบ้างไม่มากก็น้อย

เมื่อพูดถึงทอดกฐินภาคกลางแล้ว ก็อดนึกถึงการทอดกฐินภาคอีสานไม่ได้ แม้ในยุคนี้ก็ยังถือเป็นประเพณีการทอดกฐิน บางรายทางภาคอีสานกลางคืนจะมีหมอลำมาแสดงฉลองกฐิน สิ่งที่

อย่างสนุกสนาน ถ้าคิดแล้วก็จะเห็นได้ว่าสร้างบาปในงานบุญ ย่อมจะได้บุญกุศลไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องนัก ถ้าจะถามว่าทำไมต้องทำบาปในงานบุญ เขาก็จะแก้แย้งตอบว่า บ้านนอกบ้านนาถ้าไม่ฆ่าวัวฆ่าควายฆ่าหมูแล้ว จะเอาอาหารเลี้ยงพระเลี้ยงคนมาจากไหน หาซื้อก็ไม่มี นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดควรจะหาทางแก้ไขต่อไป

การที่ข้าพเจ้าได้นำเอาต้นเหตุของธงกฐินและสร้างบาปในงานบุญทางภาคอีสานมา กล่าว เท่าที่ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องธงกฐินจากท่านผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และอาจมีตำนานที่ผิดแปลกแตกต่างกับคำที่ข้าพเจ้าได้บรรยายมานี้ เป็นธรรมดานิยายชาวบ้านแต่ละแห่งแต่ละตำบลย่อมจะผิดมากน้อยต่างกันไป หากผู้ใดได้รู้ได้ทราบจะได้กรุณาให้ความรู้แจ่มแจ้งกว่านี้แก่ข้าพเจ้าเพื่อ ประโยชน์แก่เยาวชนต่อไปก็จะเป็นพระคุณยิ่ง หากที่ได้บรรยายมานี้จะผิดถูกประการใดขออภัยด้วย ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียวและขอบคุณท่านที่ได้ติดตามอ่านหนังสือชุดนี้ ตลอดมา

ประเพณี ทอดกฐิน มีมานาน
กฐินทาน คำนี้ มีความหมาย
ทานเศรษฐี มีเงินทอง ของมากมาย
ยามชีพวาย ฝังไว้ ใต้พสุธา
ไปเกิดเป็น จระเข้ เฝ้าสมบัติ
กลัวน้ำพลัด เงินทอง ของมีค่า
สู่ความฝัน บุตรชาย ช่วยนำพา
ทอดกฐิน เพื่อบิดา ได้พ้นกรรม

ท.เลียงพิบูลย์



 

ชนิดของกฐินในประเทศไทย



ตามพระ วินัยแล้ว ไม่ได้จำแนกการทอดกฐิน (การถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์) ออกเป็นชนิด ๆ ไว้แต่อย่างใด คงกล่าวแต่เพียงในส่วนการทำหรือรับผ้ามากรานกฐินของพระสงฆ์เท่านั้น แต่หากพิจารณาจากประเพณีที่นิยมปฏิบัติในปัจจุบัน คงพอจำแนกชนิดของการทอดกฐินได้เป็นสองคือ

 

จุลกฐิน
จุล กฐิน คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีก วันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้เป็น ประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทยและลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า "ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) โปรดให้ทำจุลกฐิน" ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่า นั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า "กฐินแล่น" (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)

เค้า มูลของการทำจีวรให้เสร็จในวันเดียว ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถา กล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้ารับสั่งในคณะสงฆ์ในวัดพระเชตวันร่วมมือกันทำ ผ้าไตรจีวรเพื่อถวายแก่พระอนุรุทธะผู้มีจีวรเก่าใช้การเกือบไม่ได้แล้ว โดยในครั้งนั้นเป็นงานใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงช่วยการทำไตรจีวรด้วย โดยทรงรับหน้าที่สนเข็มในการทำจีวรครั้งนี้ด้วย

สาเหตุประการ หนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ (เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย) ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่าง ๆ

เมื่อ เจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐิน จึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชน ในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน (เพราะสมัยก่อนไม่มีผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปสำหรับขาย) การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความ สามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

 

พระมหาดำรง แห่งสำนักสงฆ์ภูจวจ ตำบลทัพหลวง  อำเภอบ้านไร่   จังหวัดอุทัยธานี  ได้อธิบายความหมายของจุลกฐินไว้ว่า “จุลกฐิน” แปลว่า  กฐินน้อย  หมายถึง  กฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน  คนไทยสมัยก่อน เรียกว่า กฐินแล่น  แม้ในภาคอีสานปัจจุบันก็ยังมีเรียกชื่อนี้อยู่  วิธีจัดการจุลกฐินนี้จะต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว   จึงต้องใช้กำลังคนมาก   มีความสามัคคีมากด้วย   จึงจะบรรลุจุดหมายแห่งศรัทธาอันแรงกล้านี้ได้   มีการสมมติเอาเมล็ดฝ้ายไปหว่าน   จนงอกเป็นต้นฝ้าย  เจริญเติมโต  มีลูกฝ้าย   จนในที่สุดแตกเป็นดอกฝ้าย   ผู้ปฏิบัติพากันเก็บดอกฝ้ายเอามาปั่นเป็นด้าย  พอเป็นผืนผ้า  แล้วนำไปทอดถวายสงฆ์    สงฆ์มอบให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้กรานกฐิน    เป็นพิธีสังฆกรรม     ชาวบ้านก็ช่วยพระทำจีวร   คือตัด   เย็บ   ย้อม   ตากจนเสร็จ   พระทำพินทุอธิษฐานผ้าขั้นสุดท้ายมีการประชุมสงฆ์  เพื่ออนุโมทนา  นี้คือกระบวนการที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน  ๑ วัน  ถ้าไม่เสร็จก็เป็นโมฆะ  แต่ถ้าผู้ต้องการถวายไม่มีกำลังคนมากพอ  ก็จะใช้วิธีรวบรัด  คือเริ่มตั้งแต่การนำผ้าขาวเป็นผืน ๆ  ที่พอจะทำจีวรได้ผืนหนึ่ง  ขนาดกว้าง  ๒  เมตร  ยาว  ๓  เมตร  แล้วทอดถวายสงฆ์  หลังจากพระรูปหนึ่งทำพิธีกรานกฐินแล้ว  คณะผู้ถวายก็จะช่วยพระทำต่อไปอีก  คือ  ซัก  กะ  ตัด เย็บ  จนแล้วเสร็จ

จุลกฐิน   อาจจะเป็นกฐินหลวง   หรือกฐินราษฎร์   ก็ได้  ถ้าทายกผู้มีศรัทธาอันแรงกล้าได้สืบรู้ว่า  วัดใดยังไม่ได้รับกฐิน  และเมื่อเวลาจวนจะถึงวันสุดท้ายของเทศกาลกฐินตามพุทธานุญาต   ฉะนั้น  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติการทุกอย่างให้สิ้นในวันนี้ให้ได้    เหตุที่จะต้องผลิตผ้าเองทุกขั้นตอนก็เพราะสมัยโบราณไม่มีผ้าขาย  จึงกลายเป็นธรรมเนียมในสมัยต่อ ๆ มา   แม้จะมีผ้าขายก็ไม่นิยมซื้อมาถวาย  เพราะถือว่าผิดธรรมเนียมจะไม่ได้กุศลแรง (จ. เปรียญ ๒๕๒๔ / ๑๒๔)



มหากฐิน
มหากฐิน เป็นศัพท์ที่เรียกเพื่อหมายความถึงการทอดกฐินที่มีบริวารกฐินมาก ไม่ต้องทำโดยเร่งรีบเหมือนจุลกฐิน มหากฐินคือกฐินที่ทอดถวายตามวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่จะมีการรวบรวมจตุปัจจัยไทยธรรมและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปเป็นเครื่องประกอบในงานกฐินถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป (มหากฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก) โดยมหากฐินนั้นอาจเป็นกฐินที่มีเจ้าภาพเพียงคนเดียวหรือกฐินสามัคคีก็ได้


 

การทอดกฐินในประเทศไทย



กฐินหลวง
กฐิน หลวง เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จไปพระราชทานแทน กฐินหลวงนี้จัดเครื่องพระราชทานด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และบางครั้งมีการจัดพิธีแห่เครื่องกฐินพระราชทานอย่างใหญ่ โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค หรือกระบวนพยุหยาตราสถลมารถ แล้วแต่พระราชประสงค์ (ในปัจจุบันคงการเสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐินอย่างพิธีใหญ่นั้น คงเหลือเพียงโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคเท่านั้น)

กฐินหลวงใน ปัจจุบันมีเพียง 16 วัดเท่านั้น เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร เป็นต้น

กฐินต้น
กฐินต้น เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานยังวัดราษฎร์เป็นการส่วนพระองค์

กฐินพระราชทาน
กฐิน พระราชทาน เป็นผ้าพระกฐินพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม หรือเอกชน ให้ไปทอดยังพระอารามหลวงต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร (ในปัจจุบันกรมการศาสนารับผิดชอบจัดผ้าพระกฐินและเครื่องกฐินถวาย)

กฐินราษฎร์
กฐิน ราษฎร์ คือกฐินที่ราษฏรหรือประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาจัดถวายผ้ากฐิน และเครื่องกฐินไปถวายยังวัดราษฎร์ต่าง ๆ โดยอาจแบ่งออกเป็นจุลกฐิน และมหากฐิน (กฐินสามัคคี) ในปัจจุบันกฐินราษฎร์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า กฐินสามัคคี

ผู้เป็นประธานหรือเจ้าภาพในการทอดกฐินจะให้ความ สำคัญกับการรวบรวม (เรี่ยไร) เงินและสิ่งของเพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่า เพราะวัดสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ และเนื่องจากการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นงานสำคัญประจำปีของวัดต่าง ๆ โดยทั่วไปในประเทศไทย

ในปัจจุบัน การถวายผ้ากฐินโดยทั่วไปในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับ "บริวารกฐิน" มากกว่าผ้ากฐินซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการกรานกฐิน