หมวด: ดาวเคราะห์และดาวอุปเคราะห์ ในโหราศาสตร์พระเวท
จำนวนผู้อ่าน: 1422

Upagraha Part3 1

ดาวอุปเคราะห์ (กาละเวลา)นั้นเป็นบุตรในเงามืดของดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนับตั้งแต่ดาวอาทิตย์ถึงดาวเสาร์ ดาวเคราะห์แต่ละดวงปกครองช่วงเวลา(ยาม)ประมาณ1.30 ชั่วโมงในช่วงเวลากลางวันและอีกประมาณ1.30 ชั่วโมงในช่วงเวลากลางคืน

องศาของลัคนาในช่วงเริ่มต้นของยามที่ปกครองโดยดาวเคราะห์เหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดการคำนวณตำแหน่งของดาวอุปเคราะห์ ประเภทกาละเวลา  ซึ่งไม่เหมือนกับการคำนวนดาวอุปเคราะห์-อะประการศะ และดาวอุปเคราะห์ทั้งไม่ถือว่าเป็นดาวบาปเคราะห์ไปเสียทั้งหมด

และดาวอุปเคราะห์ที่สำคัญดวงหนึ่งที่มีความสำคัญในการวิเคราะห์ดวงชะตานั่นก็คือ"มานทิ" (मान्दि) บุตรของดาวเสาร์ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาสิ้นสุดของ"คุลิกายาม" ซึ่ง คุลิกะ (गुलिक)  และ มานทิ (मान्दि)  บางมติอาจารย์ถือว่าเป็นดวงดวงเดียวกัน แต่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นดาวดวงเดียวกัน  และองศาของ"มานทิ"จะตกองศาใดองศาหนึ่งภายในยามที่ดาวเสาร์ครอง และองศาคุลิกะ (गुलिक)  และ มานทิ (मान्दि)จะแตกต่างกัน

 “ดาวอุปเคราะห์”(กาละเวลา)ซึ่งก็คือ"ยาม"หรือช่วงเวลาที่กำหนดให้กับดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงเข้าครองเป็นเจ้ายาม (ยกเว้น ราหู และ เกตุ) ของช่วงเวลาในแต่ละวัน


และดาวอุปเคราะห์ (กาละเวลา) ก็เป็นบุตรของดาวเคราะห์ที่เป็นเงามืดอีกเช่นกันกับดาวอะประการศะ โดยดาวอุปเคราะห์ (กาละเวลา) เกิดขึ้นจาก"กาลเวลา"ที่กำหนดให้ดาวเคราะห์แต่ละดวงเข้าครอง โดยแบ่งออกเป็น 8 ยาม ทั้งกลางวันกลางและกลางคืน ซึ่งแต่ละยามจะมีดาวเคราะห์ทั้ง 7 เป็นเจ้ายามตั้งแต่ดวงอาทิตย์ถึงดาวเสาร์ โดยยามที่ 8 จะเป็นยามที่ไม่มีดาวเคราะห์ใดใดครอง ยามที่ 8 นี้จึงว่างเปล่า (ในบางมติอาจารย์กล่าวว่ายามที่ว่างเปล่านี้ถูกปกครองโดยพระราหู)

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีเวลาเกิดที่ถูกต้องแบบละเอียดแบบเป็นนาที สำหรับการคำนวณหาตำแหน่งดาวอุปเคราะห์(กาละเวลา) ประเภทนี้ และเราก็เพียงแค่ใส่เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์บางอย่างเอาไว้ในดวงชะตาให้พอเป็นที่สังเกตุก็เพียงพอแล้ว

ดาวอุปเคราะห์ (กาละเวลา)

คำนวณจากระยะเวลาของกลางวัน (จากพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก)แบ่งออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆกัน หรือ 8 ยาม และระยะเวลาของกลางคืน (ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น) แบ่งออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆกัน หรือ 8 ยาม เช่นกัน โดยแต่ละยามมีดาวพระเคราะห์ต่างๆครองเป็นเจ้ายาม และให้บุตรของพระเคราะห์นั้นซึ่งเป็นดาวอุปเคราะห์สถิตย์และสำแดงอิทธิพลในยามนั้นๆ  โดยดาวอุปเคราะห์มีชื่อดังนี้

1. กาละ (काल) –เป็นบุตรของพระอาทิตย์

2. ปะริธิ (परिधि) หรือ ปะริเวษะ (परिवेष) –เป็นบุตรของพระจันทร์

3. มฤตยุ (मृत्यु) –เป็นบุตรของพระอังคาร

4. อรรธะประหะระ (अर्धप्रहर) หรือ อรรธะยามะ (अर्धयाम) –เป็นบุตรของพระพุธ

5. ยะมะฆัณฏกะ (यमघण्ट्क) –เป็นบุตรของพระพฤหัส

6. โกทันทะ (कोदन्द) หรือ การมุกะ( कार्मुक) –เป็นบุตรของพระศุกร์

7. คุลิกะ (गुलिक) –เป็นบุตรของพระเสาร์

8. มานทิ (मान्दि) –เป็นบุตรของพระเสาร์

ข้อควรรู้สำหรับการคำนวณตำแหน่งดาวอุปเคราะห์

1) โดยแบ่งกลางวันและกลางคืนออกเป็น 8 ยามเท่าๆ กัน ซึ่งแต่ละยามจะมีดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงเป็นเจ้ายาม โดยให้เว้นว่างไว้ 1 ยามในแต่ละวัน และในเวลาหรือจุดเริ่มต้นของแต่ละยามที่ครอบครองโดยดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนั้น ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของการคำนวณตำแหน่งของดาวอุปเคราะห์ต่างๆนั่นเอง

2) สำหรับการคำนวณตำแหน่งของ มานทิ มีหลักการและวิธีคำนวณต่างกันอออกไป ตามคัมภีร์กล่าวว่าให้คำนวณตาม घटिका ฆะฏิกะ (มหานาที)  ตามหลักของปฏิทินปัญจางคะของโหราศาสตร์พระเวท เวลาจะถูกกำหนดให้นับเป็น ฆะฏิกะ(มหานาที)โดยแต่ละ 1 ฆะฏิกะ จะเท่ากับเวลา 24 นาที

ดังนั้นในหนึ่งวันจึงมี 60 ฆะฏิกะ (1440 นาที หรือ 24 ชั่วโมง) ซึ่งโดยหลักโหราศาสตร์จะนับตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจากวันหนึ่งไปถึงพระอาทิตย์ขึ้นในวันรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งซึ่งจะนับเป็น 1 วัน

ตัวอย่างเช่น “วันศารทวิษุวัต" (Vernal Equinox) เวลากลางวันและกลางคืนจะยาวเท่ากัน ดังนั้นเวลากลางวันก็จะแบ่งออกเป็น 30 ฆะฏิกะและส่วนกลางคืนก็จะแบ่งออกเป็น 30 ฆะฏิกะเท่ากัน แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง และเวลา"ฆะฏิกะ"ของทั้งกลางวัน-กลางคืนจะต้องเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามสัดส่วนเนื่องจากระยะเวลากลางวันหรือกลางคืนในแต่ละวันมีเวลาไม่เท่ากัน

----------------------------------------------------------------------------------------------------------