หมวด: ดาวเคราะห์และดาวอุปเคราะห์ ในโหราศาสตร์พระเวท
จำนวนผู้อ่าน: 1618

Upagraha Part2 Ps

นอกเหนือจากดาวเคราะห์ทั้ง 9 ดวงหรือ"นวครหะ"ที่เรารู้จักกันดีในโหราศาสตร์พระเวทแล้ว แต่ยังมีบางจุดที่ละเอียดอ่อนที่เกิดขึ้นจากการคำนวณโดยวิธีทางโหราคณิตศาสตร์โดยเฉพาะซึ่งเรียกว่าดาวอุปเคราะห์(उपग्रह)ซึ่งมีอยู่ 2ประเภท คือ(1.) ดาวอุปเคราะห์อะประการศะเคราะห์ (अप्रकाशकग्रह) และ (2.) ดาวอุปเคราะห์กาละเวลา” (कालवेला)ซึ่งได้อธิบายไปบ้างแล้วในตอนที่ 1 และพวกดาวอุปเคราะห์เหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินดวงชะตาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูดวงจรหรือการวิเคราะห์ดวงกาลชะตา(ปรัศนศาสตร์)

ดังนั้นในการคำนวณหาตำแหน่งของ “ดาวอุปเคราะห์อะประการศะ” เราไม่จำเป็นต้องไปสนใจในรายละเอียดอื่นๆ นอกจากองศาของดาวอาทิตย์เท่านั้นที่เราจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากนับจากตำแหน่งของดาวอาทิตย์ออกไป จะพบว่ามีจุดบางจุดที่เป็นเงามืดหรือจุดอับแสงหรือจุดดับของแสงพระอาทิตย์ ซึ่งจุดเหล่านี้ถูกอนุมานให้เป็นตำแหน่งของดาวอะประการศะ ทั้ง 5 ดวง

ดาวอุปเคราะห์-อะประการศะ

“ดาวอะประการศะเคราะห์”นั้นเกิดขึ้นจากการคำนวณระยะห่างจากองศาของดาวอาทิตย์ในดวงชะตา ดาวอุปเคราะห์อะประการศะมีจำนวนทั้งหมด 5 ดวง ซึ่งเป็นจุดที่เป็นเงามืดหรืออับแสงหรือจุดดับของแสงพระอาทิตย์ และทั้ง 5 ดวงนี้ล้วนแต่เป็นบุตรของดาวเคราะห์ต่างๆ ซึ่งสำแดงอิทธิพลในด้านลบของดาวเคราะห์ที่เป็นบิดา ซึ่งบางดวงมีชื่อเดียวหรือหลายชื่อ ดังนี้

1.ธูมะ(धूम) เป็นบุตรของพระอังคาร

2.วยะตีปาตะ (व्यतीपात) หรือ ปาตะ(पात) เป็นบุตรของพระราหู

3.ปะริเวษะ (परिवेष) หรือ ปะริธิ(परिधि) เป็นบุตรของพระจันทร์

4.อินทระธะนุ (इन्द्रधनु)  อินทระจาปะ (इन्द्रचाप) จาปะ(चाप) โกทันทะ (कोदन्द) เป็นบุตรของพระศุกร์

5.อุปะเกตุ (उपकेतु) ธวะชา (ध्वजा) หรือ สิขิ (सिखि) เป็นบุตรของพระเกตุ

 

สูตรคำนวณองศาดาวอุปเคราะห์-อะประการศะ

ดาวอุปเคราะห์-อะประการศะ  ซึ่งมีอยู่ 5 ดวงและสถิตย์อยู่ใน 5 ตำแหน่งที่แตกต่างกันในจักรราศี  ดาวทั้งดวงนี้ถือกำเนิดมาพร้อมกับดาวอาทิตย์และโดยทั่วไปแล้วดาวอุปเคราะห์-อะประการศะทั้ง 5 ดวงนี้ถือว่าเป็นดาวบาปพระเคราะห์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีวิธีการคำนวณดังนี้:

1.ธูมะ = องศาอาทิตย์ + 133°20' (หรือ อินทระจาปะ + 180°)

2.วยะตีปาตะ =  360° - ธูมะ  (หรือ ปะริเวษะ + 180°)

3.ปะริเวษะ =  วยะตีปาตะ+ 180°

4.อินทระจาปะ = 360° - ปะริเวษะ (หรือ ธูมะ + 180°)

5.อุปะเกตุ = อินทระจาปะ + 16°40' (หรือ องศาอาทิตย์ - 30°)


วิธีการคำนวณ อะประการศะ :

1) ตรวจดูองศาของดาวอาทิตย์และราศีที่อาทิตย์สถิตย์ในดวงชะตากำเนิด

2) นำราศีที่อาทิตย์สถิตย์แปลงให้เป็นองศาทั้งหมดแล้วนำรวมกับองศาของดาวอาทิตย์

3) ใช้สูตรด้านบนเพื่อหาองศาของอะประการศะ ทั้ง 5

4) เมื่อได้องศาของอะประการศะ ทั้ง 5 แล้ว ก็แปลงกลับไปเป็นราศี ผลลัพธ์ก็จะได้องศาและราศีที่สถิตย์ของอะประการศะ ทั้ง 5



วิธีการคำนวณจากดวงชะตาตัวอย่าง:

เจ้าชะตาเกิดวันที่ 6 มิถุนายน 2562 เวลา 14.50 น. ณ กรุงเทพมหานคร

1) องศาของดวงอาทิตย์ในดวงชะตา - สถิตย์ราศีพฤษภ 21° 13'

2) แปลงราศีเป็นองศา+องศาอาทิตย์ ดังนั้น ราศี 0(เมษ) 30°+  21° 13' =  51° 13'

3) ใช้สูตรในการคำนวณตำแหน่งและองศาของ"อะประการศะ"

ธูมะ  : องศาอาทิตย์ + 133°20' = 51° 13' + 133°20' = 184°33'

วยะตีปาตะ  : 360° - ธูมะ = 360° - 184°33' = 175°27'

ปะริเวษะ : วยะตีปาตะ + 180° = 175°27' + 180° = 355°27'

อินทรชาปา : 360° - ปะริเวษะ = 360° - 355°27' = 4°33'

อุปเกตุ : อินทระจาปะ + 16°40' = 4°33' + 16°40' = 21°13'

4) แปลงองศาของ"ดาวอะประการศะ"ทั้งหมดที่ได้ให้เป็นราศี-องศา

ผลลัพธ์ก็จะได้"ดาวอะประการศะ"สถิตย์ในราศีต่างๆดังนี้

ธูมะ  - สถิตย์ราศีตุลย์ 4°33'

วยะตีปาตะ  - สถิตย์ราศีกันย์ 25°27'

ปะริเวษะ  - สถิตย์ราศีราศีมีน 25°27'

อินทระจาปะ  - สถิตย์ราศีราศีเมษ 4°33'

อุปเกตุ - สถิตย์ราศีราศีเมษ 21°13'

หมายเหตุ: ต้องสังเกตว่า ธูมะ  กับ  อินทรชาปา  จะอยู่ห่างกัน 180° เสมอ และในทำนองเดียวกัน วยะตีปาตะ  และ ปะริเวษะ  ก็จะอยู่ห่างจากกัน 180° เช่นกัน นอกจากนี้ อุปเกตุ  + 30° ก็จะต้องได้ผลลัพธ์เท่ากันกับขององศาอาทิตย์ในดวงชะตากำเนิด(แต่อยู่ราศีที่ 12 ของอาทิตย์กำเนิด) หากผลรวมขณะคำนวณในขั้นตอนที่ 3 เกิน 360°  เราจะต้องลบ 360° จากผลรวมที่เกินมา จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง