หมวด: โชยติษะศาสตร์
จำนวนผู้อ่าน: 10968

สุริยัน จันทรา และราหูที่ปราสาทพนมรุ้ง: ข้อสังเกตทางโบราณดาราศาสตร์

ที่มา... วารสารเมืองโบราณ http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=160

Asger Mollerup (ทอง): เรื่องและภาพ
ศรัณย์ ทองปาน : แปลและเรียบเรียง


ปราสาทพนมรุ้ง
ความนำ

เท่าที่ผ่านมา ปราสาทพนมรุ้งมักได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ว่าเป็นศาสนสถานเขมรโบราณ ที่ซึ่งแสงแดดสามารถสาดส่องผ่านทะลุช่องประตูทั้ง ๑๕ ช่องเข้าไปต้องพระศิวลึงค์ที่ประดิษฐานภายในองค์ปราสาทประธานได้ โดยจุดสนใจจะอยู่ที่ช่วงอาทิตย์ขึ้นในเดือนเมษายนเป็นหลัก

ต่อมา เมื่อผลการสังเกตการณ์ของผู้เขียนในช่วงอาทิตย์ตกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ และการคำนวณปรากฏการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ปราสาทพนมรุ้งจึงได้รับการประชาสัมพันธ์ว่ามี “ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์” เกิดขึ้นถึงปีละสี่ครั้ง

ทว่า อีกสิ่งหนึ่งซึ่งสาธารณชนยังมิได้รับรู้กันก็คือ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ที่ปราสาทพนมรุ้งนี้ ยังเกี่ยวเนื่องกับดวงจันทร์ด้วย ดังนั้น จึงสมควรต้องเรียกว่า “ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ – ดวงจันทร์”

นั่นก็คือในวันที่ดวงอาทิตย์ตกตรงกับช่องประตูทั้งหมดของพนมรุ้ง จากนั้นในช่วงค่ำ ให้สังเกตตำแหน่งดวงจันทร์บนทรงกลมท้องฟ้า (celestial sphere) ว่าอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ใด หรืออยู่ในจักรราศีใด อีกสี่สัปดาห์ต่อมา ในวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงกับช่องประตูของพนมรุ้ง เช้ามืดก่อนอาทิตย์ขึ้น ดวงจันทร์จะกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิมอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนั้นแล้ว ปรากฏการณ์ท้องฟ้าที่พนมรุ้งก็ยังรวมถึงการเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา ด้วย ในกรณีนี้ ระยะห่างระหว่างปรากฏการณ์ทั้งสองอาจมีได้ตั้งแต่ ๑๔ วัน ๒๘ วัน ๖ เดือน ๑๙ ปี ฯลฯ ในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๙ เกิดจันทรุปราคาบางส่วนขึ้น และในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง ๑๕ ช่องประตูของพนมรุ้ง อีก ๖ เดือนต่อมา เช้าตรู่วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๐ เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง อีก ๓ วันต่อมา ดวงอาทิตย์ขึ้นตรง ๑๕ ช่องประตู ในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐

ปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทพนมรุ้งเป็นศาสนสถานเขมรโบราณในศาสนาฮินดู สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระศิวะ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วในจังหวัดบุรีรัมย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่สูงกว่าบริเวณโดยรอบทำให้สามารถแลเห็นพื้นราบเบื้องล่าง ได้กว้างไกล เฉกเช่นเดียวกับที่อาจสังเกตการณ์ปรากฏการณ์บนฟากฟ้าได้ชัดเจน


เสาประดับกรอบประตูของปราสาทอิฐ
โบราณดาราศาสตร์

โบราณดาราศาสตร์ (Archaeo-astronomy) เป็นสาขาวิชาสหวิทยาการที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ คำว่า “โบราณดาราศาสตร์” เกิดจากการรวมคำว่า “โบราณคดี” กับ “ดาราศาสตร์” เข้าด้วยกัน ปัจจุบันมีการเรียนการสอนวิชานี้ในระดับปริญญาเฉพาะที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) ในประเทศอังกฤษเท่านั้น

ส่วนผู้เขียนบทความนี้สนใจศึกษาโบราณดาราศาสตร์ด้วยตนเอง เริ่มเก็บข้อมูลภาคสนามของโบราณสถานเขมรด้วยระบบ GPS (๑) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เคยเดินทางไปสำรวจโบราณสถานเขมรมาแล้วราว ๒๔๐ แห่ง นอกจากนั้น ยังสนใจค้นคว้าทดลองด้านดาราศาสตร์ และมีสถานที่ทดลองอยู่ในเขตเทือกเขาภูพาน จังหวัดมุกดาหาร โดยในขั้นแรก ผู้เขียนได้ทดลองสร้างปฏิทินสุริยคติ (solar calendar) ขึ้น จากนั้นจึงวางระบบกำหนดทิศทางด้วยการใช้เฉพาะดวงอาทิตย์เท่านั้น

การศึกษาโบราณดาราศาสตร์ในสถานที่หนึ่งๆ ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณ ประกอบด้วยตำแหน่งที่ตั้ง ทิศทางการหันหน้า และกำหนดอายุของแหล่งนั้นๆ

ตำแหน่งที่ตั้ง : ประตูทิศตะวันออกของปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่ที่พิกัด ๑๔.๕๓๑๙๘ องศาเหนือ และ ๑๐๒.๙๔๐๘๖ องศาตะวันออก (๒)

ทิศทางการหันหน้าประตูทั้ง ๑๕ ช่องของปราสาทพนมรุ้ง : ๘๔.๕ องศาจากขั้วท้องฟ้าเหนือ (celestial north) (๓)

กำหนดอายุการก่อสร้างปราสาทพนมรุ้ง : ยังไม่อาจระบุได้แน่ชัด ปราสาทประธานและประตูทั้ง ๑๕ ช่อง ตลอดจนระเบียงคด มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ทว่า สิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดในบริเวณปราสาท คือซากปราสาทอิฐภายในวงระเบียงคด ซึ่งหันหน้าไปยังทิศทางเดียวกับอาคารรุ่นต่อๆ มา ปราสาทอิฐองค์นี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ โดยกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะของเสาประดับกรอบประตู ส่วนอาคารรุ่นก่อนหน้านั้น ซึ่งคงก่อสร้างด้วยวัสดุที่เสื่อมสลายไปหมดแล้ว (เช่นไม้) ยังไม่ปรากฏหลักฐานแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี จากตำแหน่งที่ตั้งบนยอดเขาอาจสันนิษฐานได้ว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่ประกอบ พิธีกรรมมาก่อนหน้าการก่อสร้างปราสาทอิฐดังกล่าวแล้ว

ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะทดลองคำนวณปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่นอุปราคา ซึ่งจะสังเกตเห็นได้จากบนพนมรุ้ง ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา

ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์
กฎตายตัวของปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ที่ปราสาทพนมรุ้ง คือจะเกิดขึ้น ๑๔ วันก่อนและหลังวันวิษุวัต (equinoxes) (๔) โดยในแต่ละรอบของปรากฏการณ์นี้ จะสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ผ่านช่องประตูทั้ง ๑๕ ช่องของพนมรุ้งได้ติดต่อกัน ๓ วัน โดยวันที่สองดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงแนวแกนของปราสาทมากที่สุด

ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ ดวงอาทิตย์จะตกตรงช่องประตูในวันที่ ๖, ๗ และ ๘ (วันที่ ๗ มีนาคม จะตกตรงกลางประตู เวลา ๑๘.๑๓.๕๕ น.) ส่วนในเดือนเมษายน ๒๕๕๐ ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงช่องประตูปราสาทพนมรุ้งในวันที่ ๓, ๔ และ ๕ (วันที่ ๔ เมษายน จะขึ้นตรงกลางประตูเวลา ๐๖.๐๗.๕๔ น. (ดูภาพลายเส้นที่ ๑ และ ๒)

ภาพลายเส้นที่ ๑ ดวงอาทิตย์ตก ๗ มีนาคม
ภาพลายเส้นที่ ๒ ดวงอาทิตย์ขึ้น ๔ เมษายน
ปรากฏการณ์ดวงจันทร์

ในทางดาราศาสตร์จะมีระบบเดือนของดวงจันทร์ถึงห้าแบบ ทว่ามีเพียงสามแบบที่จะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ – ดวงจันทร์ ที่ปราสาทพนมรุ้ง :

- เดือนจันทรคติ (Synodic month) มีระยะ ๒๙.๕ วัน (๕) สังเกตเห็นได้ง่าย และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป นับจากวันเพ็ญหนึ่งถึงอีกวันเพ็ญหนึ่ง

- เดือนดาราคติ (Sidereal month) มีระยะ ๒๗.๓ วัน (๖) เป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์จะกลับไปยังตำแหน่งเดิมบนทรงกลมท้องฟ้า

ทุกคืน ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งไป เมื่ออ้างอิงตำแหน่งกับดาวฤกษ์ที่อยู่ประจำที่ และภายในหนึ่งเดือนดาราคติ ดวงจันทร์จะโคจรกลับมายังตำแหน่งเดิมใน ๑๒ จักรราศีอีกครั้งหนึ่ง (ภาพลายเส้นที่ ๓ และ ๔) จักรราศีเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของโลกไปรอบดวงอาทิตย์ บัณฑิตเขมรโบราณน่าจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ “นักษัตร” (naksatras) หรือ “เรือนจันทร์” (lunar houses) ทั้ง ๒๗ (๗) ชาวเขมรโบราณใช้ระบบนักษัตรแบบอินเดีย ทั้งในการคำนวณปฏิทินและการทำนายทางโหราศาสตร์ สุริยวิถี (ecliptic) จะถูกแบ่งออกเป็น ๒๗ ส่วนเท่าๆ กัน แต่ละส่วนประมาณ ๑๓ องศา ๒๐ ลิปดา (๒๐ อาร์คมินิต)

ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ทั้งหมด (ยกเว้นพลูโต) จะอยู่ภายในพื้นที่สองข้างสุริยวิถีที่มีความกว้างด้านละแปดองศา แถบนี้เรียกกันว่า “จักรราศี” (rasicakra ในภาษาสันสกฤต) จักรราศีจะถูกแบ่งเป็น ๒๗ นักษัตรเท่าๆ กัน เพื่อใช้ระบุตำแหน่งดวงจันทร์ที่สัมพันธ์กับดาวฤกษ์อื่นๆ ในแต่ละวัน กลุ่มดาวนักษัตรแต่ละกลุ่ม (๘) จะได้รับชื่อตามดาวดวงสำคัญที่เรียกว่า “โยคะตารา” (yogataras) เช่น โยคะตาราของนักษัตรจิตรา คือ Spica-ά Virginis (Sen, p. 274).

คัมภีร์สตปาถพรหม (Satapatha Brahmana) (๙) ระบุว่ากลุ่มดาวนักษัตรทั้ง ๒๗ นี้คือชายา ๒๗ องค์ของพระจันทร์ ซึ่งในแต่ละเดือน พระจันทร์จะอยู่กับชายาแต่ละองค์ได้เพียงหนึ่งคืน หลังจากดวงอาทิตย์ตกในวันที่ ๗ มีนาคม ดวงจันทร์อยู่ในนักษัตรจิตรา ๒๗.๒ วัน ต่อมา ในวันที่ ๔ เมษายน ดวงจันทร์ก็กลับมาสถิตในนักษัตรจิตราอีกครั้งหนึ่ง

เดือนดาราคติ (sidereal month) ระหว่างช่วงวสันตวิษุวัต พ.ศ. ๒๕๕๐ แสดงดวงจันทร์ในนักษัตรจิตรา
ภาพลายเส้นที่ ๓ ช่วงหัวค่ำ ๗ มีนาคม ๒๕๕๐
ภาพลายเส้นที่ ๔ ช่วงเย็นก่อนอาทิตย์ตก ๔ เมษายน ๒๕๕๐


- เดือนมังกรหรือเดือนราหู (Draconic month) ระยะเวลา ๒๗.๒ วัน (๑๐) เป็นระบบเดือนแบบที่สามที่เกี่ยว ข้องกับทิศทางการหันหน้าของปราสาทพนมรุ้ง เดือนมังกรจำเป็นสำหรับการคำนวณอุปราคา เนื่องจากเป็นเดือนที่นับเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่กลับมาสู่โหนด (node) เดิม โหนดคือจุดตัดระหว่างวงโคจรของดวงจันทร์กับระนาบสุริยวิถี (ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้) อุปราคาจะเกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้กับโหนดใดโหนดหนึ่ง เมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านขึ้นมาทางเหนือระนาบ จากจุดนั้นจะเรียกว่าโหนดขึ้น (ascending node) และเมื่อโคจรผ่านระนาบสุริยวิถีไปทางใต้ จะเรียกว่าโหนดลง (descending node) (๑๑)

เดือนมังกรนี้ “แฝงฝัง” ตัวอยู่ในทิศทางการหันหน้าของปราสาทพนมรุ้งด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากจันทรุปราคาบางส่วนในเดือนกันยายน ๒๕๔๙ และจันทรุปราคาเต็มดวงในเดือนมีนาคม ๒๕๕๐

ราวสี่ชั่วโมงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๙ เกิดจันทรุปราคาบางส่วน จากนั้นเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ก็สามารถมองเห็นได้ผ่านประตู ๑๕ ช่องของปราสาทพนมรุ้ง สิบนาทีต่อมา ดวงจันทร์ลับฟ้า และคงสามารถมองเห็นผ่านประตูทั้ง ๑๕ ช่องของพนมรุ้งได้เช่นกัน (หากไม่มีเมฆบัง) จากนั้นในวันที่ ๙ กันยายน ดวงอาทิตย์ก็ขึ้นตรงกับแนวแกนปราสาท

หกวันเพ็ญต่อมา เช้ามืดวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๐ เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ๐๕.๐๕ น. (หนึ่งชั่วโมงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น) คราสกำลังจะจับเต็มดวง ดวงจันทร์จะถูกบังหมดเวลา ๐๖.๒๑ น. และอีกห้านาทีต่อมาก็จะลับฟ้าเมื่ออาทิตย์ขึ้นพอดี จึงสามารถสังเกตเห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกันได้

เย็นวันเดียวกันนั้น แสงอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้าจะส่องเข้ามาต้องพระศิวลึงค์ในปราสาทประธาน ๒๐ นาทีต่อมา ดวงจันทร์ข้างแรมที่เกือบเต็มดวงก็จะส่องแสงเข้ามาแทน อย่างไรก็ดี ในวันนี้จะยังไม่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ผ่านช่องประตูทั้ง ๑๕ ช่องได้ กว่าที่แสงอาทิตย์ตกจะส่องตรงกับประตูทั้งหมดได้ก็ต้องรออีกสามวันถัดมา

“ระยะห่าง ๖ เดือนระหว่างจันทรุปราคาเต็มดวง” นี้ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักดาราศาสตร์ตั้งแต่สมัยโบราณ “ชาวบาบิโลเนียนสามารถสังเกตเห็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้วว่า จันทรุปราคาแต่ละครั้งจะห่างกัน ๖ เดือนจันทรคติ หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจเป็นการทวีคูณของรอบ ๖ เดือนจันทรคติ หักออกด้วยหนึ่ง (อันเป็นระยะห่าง ๕ เดือนที่มีในบางครั้ง)” (Goldstein, p. 2)

จากหลักฐานการจดบันทึกตั้งแต่เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อน ชาวบาบิโลเนียนยังพบด้วยว่า วงรอบการเกิดขึ้นของอุปราคานั้นจะซ้ำกันทุกๆ ระยะ ๑๘ ปี กับ ๑๐.๓๓ วัน พวกเขาตั้งชื่อเรียกวงรอบนี้ว่า ซารอส (Saros) หมายถึงการซ้ำ

อุปราคาที่เกิดขึ้นในระยะใกล้เคียงกับปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ที่ ปราสาทพนมรุ้งมักจะมาเป็น “กระจุก” ที่มีระยะห่างกันราว ๘ – ๑๐ ปี : ในช่วงปี ๒๕๔๙ – ๒๕๕๐ ก็ได้แก่จันทรุปราคาที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น (๑๒) “กระจุก” ต่อไปคือจันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ และหกเดือนต่อมา คือจันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ จากนั้น ในวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๘ และวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๙ ก็จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงขึ้นอีก โดยเกิดขึ้นห่างกันหกเดือนเช่นเดียวกัน


จันทรุปราคาบางส่วน วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๙ และจันทรุปราคาเต็มดวง ขณะเมื่อคราสเริ่มจับ วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๐ บันทึกจากบนพนมรุ้ง
การสร้างปราสาทพนมรุ้งเกี่ยวข้องกับ สุริยุปราคาหรือไม่?

ผู้เขียนมักได้รับคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พนมรุ้งจะวางศิลาฤกษ์ในวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงแนวกับ แนวแกนหลักของปราสาท และเป็นวันเดียวกับที่เกิดสุริยุปราคา

หากคำถามนี้หมายถึงสุริยุปราคาเต็มดวง ผู้เขียนสามารถปฏิเสธได้ทันทีว่า “เป็นไปไม่ได้ !”

สุริยุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นน้อยครั้งกว่าจันทรุปราคาเต็มดวงมาก เช่นในระยะตั้งแต่ พ.ศ. ๑๒๔๓ (ค.ศ. ๗๐๐) ถึง พ.ศ. ๑๔๗๔ (ค.ศ. ๙๑๓) (๑๓) มีสุริยุปราคาเต็มดวงเพียงครั้งเดียวที่สามารถมองเห็นได้จาก ปราสาทพนมรุ้ง นั่นก็คือในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๑๓๑๑ (ค.ศ. ๗๖๘) ซึ่งก็มิได้เป็นวันเดียวกันกับที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงแนวกับประตูของปราสาท อิฐบนยอดพนมรุ้ง หากแต่อีก ๑๘ เดือนเพ็ญต่อมา คือวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๑๓๑๒ (ค.ศ. ๗๖๙) ดวงอาทิตย์ซึ่งกำลังเกิดสุริยุปราคาบางส่วน (๖%) จะขึ้นเกือบตรงแนวกับตัวปราสาท

ต่อมาในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๑๓๔๓ – ๑๔๔๒ (คริสต์ศตวรรษที่ ๙) (๑๔) เรามี “ตัวเลือก” เพียงสองเท่านั้น และทั้งสองครั้งก็เป็นเพียงสุริยุปราคาบางส่วน สุริยุปราคาทั้งสองครั้งเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่ดวงอาทิตย์ส่องตรงกับแนว แกนหลักของปราสาท ดังนั้น สุริยุปราคาทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ จึงไม่ควรจะมีนัยสำคัญเพียงพอสำหรับการวางศิลาฤกษ์สถาปนาปราสาทพนมรุ้ง

หรือแม้จะปรับเปลี่ยนคำถามข้างต้นให้ครอบคลุมถึงจันทรุปราคา ผู้เขียนก็ยังต้องปฏิเสธเช่นเดิม เพราะแม้ว่าจะสามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาได้บ่อยครั้งกว่า แต่ก็ไม่น่าจะมีจันทรุปราคาครั้งใดในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. ๑๒๔๓ – ๑๔๔๒ (คริสต์ศตวรรษที่ ๘ – ๙) ที่สำคัญเพียงพอสำหรับการสถาปนาปราสาทพนมรุ้ง ทิศทางการหันหน้าของปราสาทน่าจะเกี่ยวข้องกับ “ระยะห่าง ๖ เดือนระหว่างจันทรุปราคาเต็มดวง” ดังกล่าวมาแล้วมากกว่า


พระราหูและพระเกตุ ศิลปะอินเดีย พุทธศตวรรษที่ ๑๖ พระราหูจับดวงจันทร์ไว้ในมือ ส่วนพระเกตุมีหางเหมือนงูหรือมังกร (๑๗) © The John C. and Susan L. Huntington Archive of Buddhist and Related Art
พระราหูและพระเกตุ

ตามเทพปกรณัมของเขมร โหนดของดวงจันทร์จะมีบุคลาธิษฐานเป็นพระราหู (โหนดขึ้น - ascending node) และพระเกตุ (โหนดลง - descending node) พระราหูนั้นเป็นอสูร (๑๕) ผู้ลักลอบดื่มน้ำอมฤตที่เกิดขึ้น ในระหว่างการกวนเกษียรสมุทร แต่พระอาทิตย์และพระจันทร์สังเกตเห็นเข้า จึงไปฟ้องพระนารายณ์ (พระวิษณุ) พระองค์จึงขว้างจักรไปตัดพระราหูขาดเป็นสองท่อน (๑๖) แต่ด้วยฤทธิ์ของน้ำอมฤตที่ทำให้ ผู้ดื่มเป็นอมตะ พระราหูกลับไม่ตาย ทว่าเหลือเพียงศีรษะ ซึ่งจะคอยแก้แค้นพระอาทิตย์และพระจันทร์ด้วยการกลืนไว้ในปาก ซึ่งก็ปรากฏเป็นสุริยุปราคาและจันทรุปราคานั่นเอง

พระราหูและพระเกตุนับเป็นเทพในกลุ่มของเทวดานพเคราะห์ (navagraha ดาวเคราะห์ทั้งเก้า) ในศิลปะอินเดีย ภาพเทวดานพเคราะห์จะเริ่มด้วยพระอาทิตย์ที่ด้านซ้ายสุด ถัดมาคือพระจันทร์ ดาวเคราะห์ทั้งห้า (๑๘) ปิดท้ายด้วยพระราหูและพระเกตุ ภาพสลักชุดนี้มักพบในเทวสถานที่สร้างอุทิศแก่พระศิวะ

ส่วนภาพชุดเทวดานพเคราะห์ในศิลปะเขมรนั้น จะต่างไปจากต้นแบบในศิลปะอินเดีย กล่าวคือแม้จะเริ่มต้นด้วยพระอาทิตย์ พระจันทร์ และจบด้วยพระราหู พระเกตุเหมือนกัน ทว่า ภาพเทวดาประจำดาวเคราะห์ห้าองค์จะถูกแทนที่ด้วยทิกปาลก (dikpalaka เทพประจำทิศ) (๑๙) โดยมีพระอินทร์ เทพผู้รักษาทิศตะวันออก และหัวหน้าแห่งทิกปาลก อยู่ตรงกลาง ภาพสลักพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณยังมักพบเหนือประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ของศาสนสถานเขมรด้วย

นอกจากนั้น ยังพบภาพสลักชุดเทวดานพเคราะห์ที่พนมรุ้ง สภาพชำรุดมาก เหลือเพียงเทพสี่องค์ ซึ่งสามารถระบุได้เพียงสององค์ คือพระราหูจับดวงจันทร์ไว้ในมือ และพระเกตุทรงสิงห์ (๒๐)


พระราหูและพระเกตุ ทับหลังเทวดานพเคราะห์จากกู่เปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ปัจจุบันอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง ราหูมีกายท่อนล่างเป็นพายุหมุน ในมือถือดวงจันทร์ ส่วนพระเกตุทรงสิงห์เป็นพาหนะ
ประตูของปราสาทพนมรุ้ง

ศาสนสถานเขมรโบราณที่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดูมักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เพื่อให้แสงอาทิตย์แรกขึ้นสาดส่องเข้ามาต้ององค์รูปเคารพประธานภายใน

ศาสนสถานเขมรราวหนึ่งในสามจะหันหน้าตรงไปทางทิศตะวันออก หรือมีแนวแกนหลักของอาคารตามแนวที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในช่วงวันวิษุวัต วันวสันตวิษุวัต (Spring equinox) ถือเป็นวันปีใหม่ตามสุริยคติของพราหมณ์ ในศิลาจารึกเขมรจะระบุวันเดือนปีตามปฏิทินสุริยคติ – จันทรคติ โดยเริ่มนับจากข้างขึ้นก่อนหน้าวันวิษุวัต

ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าเฉียง ๕.๕ องศาจากทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับศาสนสถานเขมรอื่นอีกราว ๒๐ % (๒๑) ลักษณะพิเศษของพนมรุ้งก็คือที่ตั้งที่อยู่บนยอดเขา และการมีแนวประตูตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก ซึ่งทำให้แสงอาทิตย์ช่วงอาทิตย์ขึ้นและตกสามารถสาดส่องเข้าไปต้องรูปเคารพใน ปราสาทประธาน อันได้แก่พระศิวลึงค์ สัญลักษณ์องคชาติของพระศิวะได้

ประเด็นทางด้านดาราศาสตร์ของปราสาทพนมรุ้งจึงได้แก่


โคนนทิ พาหนะของพระศิวะ และศิวลึงค์ที่ต้องแสงอาทิตย์ ในปราสาทพนมรุ้ง
ข้อสรุป :

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการก่อสร้างปราสาทพนมรุ้งจะเกิดขึ้นร่วมกับปรากฏการณ์ทาง ดาราศาสตร์ใด (เช่นอุปราคา)

ช่องประตูทั้ง ๑๕ ช่องของปราสาทพนมรุ้ง เปรียบเสมือนอุโมงค์ยาว ๗๖ เมตร ซึ่งอาจใช้เป็นที่วางระบบปฏิทินสำหรับผู้สังเกตการณ์ที่มีความรู้ด้านดารา ศาสตร์ได้ อย่างไรก็ดี เราไม่มีหลักฐานว่าสิ่งนี้เป็นเจตนาของผู้สร้างหรือไม่ จากศิลาจารึกเท่าที่ค้นพบก็มิได้ปรากฏหลักฐานว่านักบวชที่พำนักอยู่ ณ ศาสนสถานแห่งนี้จะให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ ทิศทางการหันหน้าของปราสาทพนมรุ้ง

อย่างไรก็ดี ศิลาจารึกเขมรร่วมสมัยหลักอื่นๆ ก็มักกล่าวสรรเสริญกษัตริย์และพราหมณ์ว่าเป็นผู้มีความรู้ลึกซึ้งในศาสตร์ แขนงต่างๆ ซึ่งดาราศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในศิลปศาสตร์เหล่านั้น

ดังนั้น เมื่อพิจารณาร่วมกับประติมากรรมเทพผู้รักษาทิศ และเทวดานพเคราะห์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่มากมาย น่าจะส่อแสดงว่า ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ นั้น ย่อมไม่อาจเล็ดรอดสายตาของนักบวชผู้ไตร่ตรอง ผู้ซึ่งสักการะพระศิวลึงค์เป็นประจำทุกวัน ณ เทวาลัยบนยอดเขาแห่งนี้

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านไม่พลาดปรากฏการณ์บนฟากฟ้าที่น่าสนใจ หลายครั้งในรอบปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นี้

ภาคผนวก

ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๐

เดือน วันที่ เวลา ปรากฏการณ์ หมายเหตุ
มีนาคม ๐๔ ๐๖:๒๐:๕๖ จันทรุปราคาเต็มดวง เริ่มตั้งแต่ ๐๔:๓๐:๐๐ น.
มีนาคม ๐๗ ๑๘:๑๓:๕๕ ดวงอาทิตย์ตกตรงช่องประตู ๑๕ ช่องors ดวงจันทร์อยู่ในนักษัตรจิตรา
มีนาคม ๒๑ ๐๗:๐๗:๒๕ วันวิษุวัต วันวสันตวิษุวัต
มีนาคม ๑๙ ๐๘:๒๔:๐๐ สุริยุปราคาบางส่วน เริ่มเวลา ๐๗:๕๐:๕๕ น. คราสจับเต็มที่ ๗.๐%
เมษายน ๐๔ ๐๖:๐๗:๕๔ ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงช่องประตุ ๑๕ doors ดวงจันทร์อยู่ในนักษัตรจิตรา
สิงหาคม ๒๘ ๑๘:๒๒:๑๙ จันทรุปราคาเต็มดวง เกิดจันทรุปราคาเมื่อดวงจันทร์ขึ้น พร้อมกับที่ดวงอาทิตย์ตก
กันยายน ๑๐ ๐๕:๕๗:๔๗ ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงช่องประตู ๑๕ ขอ่ง ดวงจันทร์อยู่ในนักษัตรมาฆะ
กันยายน ๑๑ ๑๗:๓๑:๒๑ สุริยุปราคาบางส่วน มองไม่เห็นในประเทศไทย
กันยายน ๒๓ ๑๖:๕๑:๑๓ วันวิษุวัต วันศารทวิษุวัต
ตุลาคม ๐๗ ๑๗:๕๒:๒๙ ดวงอาทิตย์ตกตรงช่องประตู ๑๕ ช่องors ดวงจันทน์อยู่ในนักษัตรมาฆะ


บรรณานุกรม

Sen, S.N. and K.S. Shukla, History of Astronomy in India. Indian National Science Academy, New Delhi, 1985.
Goldstien, Bernard R. On the Babylonian Discovery of the Periods of Lunar Motion, Journal for the history of astronomy Vol. 33, no. 1 (2002): 1-13.
The author's website: http://www.sundial.thai-isan-lao.com/phanomrung2007.html

เชิงอรรถ

GPS = Global Position System
ค่าเฉลี่ย GPS ที่ผู้เขียนวัดได้
Celestial north หรือทิศเหนือภูมิศาสตร์ จะเกี่ยวข้องกับแนวแกนของโลก และจะแตกต่างจากทิศเหนือแม่เหล็ก หรือ magnetic north.
วันวิษุวัต (visuvat ในภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาอังกฤษว่า equinox) คือวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นใกล้จุดขอบฟ้าทิศตะวันออกมากที่สุด และตกใกล้จุดขอบฟ้าทิศตะวันตกมากที่สุด ช่วงกลางคืนและกลางวันจะมีระยะเวลาเท่าๆ กัน วันวิษุวัตจะมีสองครั้งในรอบปี คือ วสันตวิษุวัต (vernal equinox) (๒๐ หรือ ๒๑ มีนาคม) และศารทวิษุวัต (autumnal equinox) [สา-ระ-ทะ] (๒๒ หรือ ๒๓ กันยายน)
ระยะเวลาโดยเฉลี่ยของเดือนจันทรคติ คือ ๒๙.๕๓๐๕๘๙ วัน
เดือนดาราคติ (บางครั้งเรียกว่า the orbital period) มีระยะเวลาเฉลี่ย ๒๗.๓๒๑๖๖๑๕๕ วัน
บางครั้งอาจนับเป็น ๒๘ นักษัตรก็มี
จุดเริ่มต้นของการแบ่งนักษัตรจะเปลี่ยนแปลงไปในยุคต่างๆ คัมภีร์สูรยะสิทธันตะ (Surya-siddhanta) ได้เปลี่ยนจุดเริ่มต้นของนักษัตรไปยังตำแหน่งตรงข้ามกับนักษัตรจิตรา วันวสันตวิษุวัตที่ตรงกับนักษัตรนี้จะอยู่ในปี ค.ศ. ๒๘๕ และเมื่อถึงราว ค.ศ. ๔๐๐ เมื่อคัมภีร์นี้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ตำแหน่งของจุดอีควินอกซ์ (equinoctial point) ก็อยู่ไม่ห่างจากนั้นมากนัก
อายุประมาณ ๓,๐๐๐ ปี
๑๐ เดือนมังกรหรือเดือนราหู (draconic month บางครั้งก็เรียกว่า nodal month) มีระยะเฉลี่ยน ๒๗.๒๑๒๒๒๐๘๒ วัน
๑๑ โหนดปรากฏในวิชาดาราศาสตร์ทั้งของตะวันตกและตะวันออก โหนดขึ้น (ascending node) และโหนดลง (descending node) ยังมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่าหัวมังกร (the dragon's head) และหางมังกร (the dragon's tail) ด้วย
๑๒ อีก ๑๕ วันต่อมา (๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐) เกิดสุริยุปราคาบางส่วน ติดตามด้วยจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่สองในอีกหกเดือนจันทรคติต่อมา ในตอนอาทิตย์ตกของวันที่ ๒๘ สิงหาคม คือ ๑๓ วันก่อนหน้าวันที่จะเห็นดวงอาทิตย์ตกตรงช่องประตูปราสาทพนมรุ้งในเดือน กันยายน
๑๓ คำนวณตามกำหนดอายุของปราสาทอิฐบนเขาพนมรุ้ง
๑๔ วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๑๓๕๘ (ค.ศ. ๘๑๕) ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสงต้องรูปเคารพภายในปราสาท หลังจากนั้น ๓ ชั่วโมง เกิดสุริยุปราคา ๕ % ถัดมาในวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๑๓๗๗ (ค.ศ. ๘๓๔) ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสงไปยังรูปเคารพประธาน แล้วเกิดสุริยุปราคา ๔๕ % ในอีกสองชั่วโมงครึ่งต่อมา
๑๕ อสูรเป็นศัตรูของเทพ หรือเทวดา
๑๖ อาวุธรูปแผ่นแบนกลม ในทางนิรุกติศาสตร์ the ecliptic = zodiac = rasicakra / จักรราศี
๑๗ พระเกตุ (the descending node) นี้ ตรงกับที่เรียกในตำนานของตะวันตกว่า “หางมังกร” (the Dragon's Tail) ส่วนพระราหู (the ascending node) คือ “หัวมังกร” (the Dragon's Head)
๑๘ ดาวเคราะห์ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า : พุธ ศุกร์ อังคาร พฤหัส และเสาร์
๑๙ ดังนั้น เมื่อเทวดาประจำดาวเคราะห์ต่างๆ หลายองค์ ถูกแทนที่ด้วยเทพรักษาทิศแล้ว ก็อาจเรียกว่า “นพเทพ” เหมาะสมกว่าเรียกว่า “นพเคราะห์”
๒๐ สิงห์เป็นสัตว์ในจินตนาการ มีลักษณะคล้ายสิงโต ทว่า สิงโต (lion) เป็นสัตว์ที่มิได้มีอยู่ตามธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒๑ สถิติดังกล่าวมาจากการสำรวจของผู้เขียน จากศาสนสถานจำนวนราว ๒๔๐ แห่ง ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘