Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

หน้า  133

ตอนที่ 5

วัฒนธรรมประเพณี

หนังสือ :สุรินทร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย
แต่งโดย: อาจารย์ศิริ ผาสุก,อาจารย์อัจฉรา ภาณุรัตน์,อาจารย์เครือจิต ศรีบุญนาค
ผู้จัดพิมพ์ :ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ ชมรมหัตถกรรมพื้นบ้านไทย พศ.2536

วัฒนธรรมประเพณี   คือสิ่งที่ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน    สำหรับประชาชนชาวสุรินทร์แล้วมีประเพณีที่แตกต่างจากประเพณีของประชาชนในจังหวัดอื่นมากมาย   ซึ่งไม่สามารถจะรวบรวมได้หมดทุกอย่างเพียงแต่ยกตัวอย่างประเพณีที่สำคัญซึ่งมีดังต่อไปนี้

การแต่งกาย

ประเพณีการแต่งกายของชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมร   มีลักษณะคล้ายคลึงกับคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบทุกประเทศนั่นคือ  ผู้ชายนุ่งโสร่ง  ผู้หญิงนุ่งซิ่น  แต่ความแตกต่างอยู่ที่วัสดุที่ใช้ในการทำโสร่งหรือซิ่น   หรือเสื้อผ้านั้น เพราะชาวสุรินทร์นิยมใช้ผ้าไหมในการทำเสื้อผ้าเหล่านี้  สำหรับสตรีชาวสุรินทร์ในยามอยู่บ้านปกติจะนิยมใส่ผ้าซิ่นไหมที่ทอสลับสีกัน  ถ้าเป็นผ้าซิ่นสีเขียวขี้ม้าสลับขาว  เรียกว่า ผ้าสระมอ   ส่วนผ้าสีส้มสลับขาวเรียกว่า ผ้าสาคู   สตรีชาวสุรินทร์ที่อยู่บ้านนิยมใส่ผ้าซิ่น 2 อย่างนี้  แต่ถ้าหากไปงานพิธีต่างๆ หรือเข้าเมือง  หรือติดต่องานสำคัญต่างๆ มักจะนิยมใส่ผ้าซิ่นที่มีลักษณะสวยงามเป็นพิเศษเช่น ผ้าโฮล   หรือผ้ามัดหมี่ลายที่ทอยาก    ส่วนเสื้อก็จะเป็นเสื้อไหมประเภทผ้ายกดอกและมีสไบเฉียงที่ทอด้วยไหมยกดอกด้วยซึ่งเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก   และดูเหมือนจะมีเฉพาะจังหวัดสุรินทร์  อันเป็นที่อยู่ของคนสุรินทร์เชื้อสายเขมรเท่านั้น

ประเพณีโกนจุก

ดูเหมือนจะมีเหตุผลอยู่มากที่เด็กเกิดมาถ้าสุขภาพไม่ดีสามวันดีสี่วันไข้ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวสุรินทร์จึงให้ไว้ผมจุก  คือ ไม่ให้ตัดผมที่ตรงกลางกระหม่อม  ปล่อยให้ยาวไปเรื่อยๆ ถ้าหากพิจารณาในทางสรีระเราก็พอจะเห็นว่าเด็กเกิดใหม่นั้น

กระหม่อมบางถ้าถูกน้ำค้างหรือน้ำฝน หรืออากาศหนาวก็จะเป็นไข้เป็นหวัดได้ง่าย  ดังนั้น  การไว้ผมจุกก็คือให้ผมส่วนนั้นปิดกระหม่อมในส่วนที่บางนั่นเองแต่เมื่อเด็กมีอายุ  9 ขวบ 11 ขวบ หรือ 13 ขวบถือว่าโตแล้ว  ดังนั้นจึงต้องทำพิธีตัดผมจุกออกเสีย  พิธีโกนจุกจึงเกิดขึ้น

การเตรียมพิธีโกนจุกนั้นมีอยู่หลายอย่าง  สิ่งแรกคือ

ขนมชนิดต่างๆ  ต่อมาก็มีบายศรี   เมื่อทำบายศรีเสร็จก็เอาผ้าไหมสำหรับนุ่งโจงกระเบน  ซึ่งเป็นผ้าใหม่ๆห่อหุ้มบายศรีนั้นไว้   ปะรำพิธีเป็นลักษณะเสาต้นกล้วยประกอบไม้ไผ่มีปลายแหลมข้างบน  สำหรับพระสงฆ์และเด็กขึ้นทำพิธีโกนผมพิธีเริ่มในตอนเย็น   คือ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์เย็น  ก่อนถึงเวลาสวดมนต์นั้น  เขาจะจัดข้าวปลาอาหารสุกใส่ถาดมาเซ่น  บอกผีปู่ ผีย่า ผีตาผียาย ให้ช่วยอวยพรให้ลูกหลานอายุมั่นขวัญยืน

หน้า 134

หลังจากนั้นก็แต่งตัวเด็กด้วยผ้านุ่งขาวมีผ้าขาวเฉลียงบ่า  อาจารย์จะเกล้าผมเด็ก  เอาปิ่นปักผมให้และมีกำไลจุกสวมให้ด้วย  หลังจากนั้นก็ใส่ “มงคล” ซึ่งทำจากใบตาลมาตัดแต่งเป็นวงขนาดสวมหัวเด็กพอดี   ขณะที่สวมมงคลนั้นก็สวดคาถาไปพร้อมๆ กัน

ในปะรำพิธีนอกจากมีต้นบายศรีแล้ว  ยังมี  “ประต็วล” ด้วย  มีกระเฌอข้าวเปลือกใบขวาน ไข่ไก่   และมี  “บายปะลึง” ด้วย  เมื่อแต่งตัวเด็กเสร็จแล้วก็พาเข้าไปในปะรำพิธี  นั่งบนฟูกต่อหน้าประต็วล  แล้วเอาข้าวปลาอาหาร เครื่องเซ่นผีปู่ย่าตายายทำการเซ่นบอกว่า ลูกหลานจะทำพิธีโกนจุกแล้วขอบอกให้ทราบ  ขอเชิญมากิน  ดื่มเถิด  สักครู่ก็ยกออกไปเซ่นพระภูมิเจ้าที่ข้างล่าง  บอกเชื้อเชิญเช่นกัน  เมื่อเสร็จแล้วก็นำถาดกลับพร้อมสายสิญจน์ที่ถือว่า  ตายายให้พรมาแล้วเอามาผูกแขนเด็กก่อนนิดหนึ่งอวยชัยให้พรว่า  บัดนี้หนูโตแล้ว  ต่อไปขอให้ช่วยพ่อแม่ทำงานจะได้เป็นที่พึ่งของพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า

เมื่อทำพิธีเสร็จก็กินข้าวปลาอาหารเสร็จ    เมื่อพระสงฆ์นิมนต์มาถึงก็พาเด็กไปนั่งประนมมือนั่งสวดมนต์จนจบแล้วทำพิธีสู่ขวัญเสร็จแล้วโห่สามลาอาจารย์จะสวดมนต์อีกระยะหนึ่งเป็นเสร็จพิธีในวันนั้น

ตอนเช้าวันโกนจุก  จะแต่งตัวเด็กใหม่  คือ  แจกผมเป็นสามหย่อมเอาแหวนพิรอดที่ทำด้วยหญ้าแพรก  9  วงมาผูกติดผมจุกแล้วเกล้าจุกปักปิ่นสวมกำไลจุก   สวมมงคล ทาแป้ง   แต่งผ้าขาวทั้งชุด   มีสร้อยคอทองคำ   แหวนทองคำเต็มตัว

เมื่อลงมาถึงดิน  อาจารย์ก็ว่าคาถา   ขณะเดียวกันก็เดินวนประทักษิณเบญจา  3 รอบ  เสร็จแล้วก็พาขึ้นไปนั่งบนปะรำที่ทำลักษณะใบบัว  พระสงฆ์ขึ้นตาม   อาจารย์ก็ขอสมาทานศีล  5 แล้วกล่าวคำอาจารย์ให้สวดโกนจุก   พระสงฆ์ท่านก็ตั้งนะโมสวดไปโกนผมไปเป็นอันเสร็จพิธี

หน้า135

ประเพณีบวชนาค

ชาวสุรินทร์ทั้งเขมรส่วยลาวล้วนนับถือพุทธศาสนาทั้งสิ้น   ดังนั้นเมื่อลูกชายมีอายุครบ  20 ปีบริบูรณ์ ก่อนที่จะมีเหย้าเรือน   พ่อแม่จะต้องจัดการบวชเพื่อศึกษาพระธรรมในพระพุทธศาสนาเสียก่อน    ซึ่งส่วนมากจะทำก่อนเข้าพรรษา

เพราะเขาถือว่า   ถ้าบวชได้เข้าพรรษาจะได้บุญมากเพราะเป็นช่วงที่พระภิกษุเคร่งวินัยมากกว่าระยะอื่น

ประเพณีการบวชนาคสมัยก่อนนั้น   นับว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มากทีเดียว  เพราะชายหนุ่ม(บิดามารดา)  ในละแวกเดียวกันจะนัดกันบวช   การบวชนั้นก็จะให้ได้ชื่อเสียงหรือได้บุญมาก  จะต้องขี่ช้างแล้วแห่ในระยะไกล ๆ  มีผู้คนแห่นาคเป็นจำนวนนับพัน

ดังนั้นเศรษฐีเมืองสุรินทร์สมัยนั้น  ถ้าจะบวชลูกชายจึงต้องหาช้างแห่กันเป็นสิบ ๆ เชือกทีเดียว   ส่วนหนุ่มสาวก็จะถือโอกาสพบปะพูดคุยกันในงานนี้    การแต่งตัวเพื่ออวดกันนับว่าเป็นสิ่งที่นิยมกันมาก   สิ่งที่นิยมอวดมากที่สุดดูเหมือนจะเป็นผ้าไหม (ซิ่นไหม)   ถ้าหากใครมีผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ลายสวยงามก็จะได้รับการชื่นชมเป็นพิเศษ

ภายหลังจากช้างส่งนาคเข้าวัดแล้ว  ในช่วงพิธีบวชนั้นก็จะมีกลุ่มคนข้างนอกจำนวนมาก   เจ้าภาพก็จะมีการโยนทาน  และแย่งลูกมะพร้าว  การแย่งลูกมะพร้าวนี้ถ้าใครชนะก็จะได้รางวัลตามที่ได้บอกล่วงหน้าไว้

ส่วนช้างนั้นจะมีการแยกช้างตัวหนึ่งออกมาเพื่อเล่นม้าล่อช้าง

จะมีกลุ่มผู้ขี่ม้าจำนวน 5-6 ตัวมาล่อช้าง  เมื่อช้างโกรธก็จะไล่ตีม้า   นับว่าเป็นการเล่นที่สนุกสนานอย่างยิ่ง

หน้า  136

ประเพณีการแต่งงาน

ผ้าไหมดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสุรินทร์มาเป็นเวลาช้านานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรมต่าง ๆ  มักจะนิยมใช้ผ้าไหมเป็นส่วนประกอบเสมอ  ยิ่งในสมัยก่อนแล้วยิ่งเห็นได้ชัดในการแต่งงานของชาวสุรินทร์   เมื่อฝ่ายชายฝ่ายหญิงรักใคร่ชอบคอกันจนได้ตกลงหมั้นกันแล้ว   สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง  จะต้องทำการตกลงกันก็คือ   การพิจารณาเชิญแขก

ในการแต่งงานโดยทั่วไปของคนไทย   แขกมักจะเป็นผู้จัดหาของขวัญให้คู่บ่าวสาวแล้ว  เลี้ยงอาหารแขกก็เป็นพอ   แต่สำหรับการแต่งงานของชาวสุรินทร์

ถ้าหากเป็นญาติสนิทหรือคนที่คู่บ่าวสาวเคารพนับถือ   คู่บ่าวสาวจะต้องจัดหาผ้าไหมเพื่อไหว้บุคคลผู้นั้น

ดังนั้นการพิจารณาแขกผู้ใดควรไหว้นั้น   จะต้องพิจารณาร่วมกัน

เมื่อพิจารณาร่วมกันเสร็จแล้ว  ฝ่ายชายจะต้องเป็นฝ่ายจัดหาวัสดุมาให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้ทอ   การทอผ้าไหมสมัยก่อน  จะใช้วิธีการลงแขก   คือออกปากเชิญหญิงในหมู่บ้านทุกคนให้มาช่วยทอผ้า   ถ้าเป็นคู่แต่งงานที่มีฐานะดี  อาจจะต้องเชิญหญิงสาวหลายหมู่บ้านมาช่วยทอผ้าไหม

ผ้าไหมที่จะทอมีตั้งแต่ผ้าสไบ  โสร่ง  ผ้ายกดอก  ผ้ามัดหมี่  ผ้าโฮล  ฯลฯ

ชนิดของผ้าไหมที่ใช้ไหว้นี้  จะมีความประณีตมากน้อยต่างกันไปตามฐานะของผู้รับไหว้

ในด้านผู้รับไหว้ก็จะต้องเตรียมเงินที่จะไปช่วย(รับไหว้)

เอาไว้ให้เหมาะสมกับของที่เขาใช้ไหว้นั้น   มีคนจำนวนมากรู้ก่อนว่า

คู่บ่าวสาวจะไหว้ตนด้วยผ้าไหมชนิดใด  เพื่อที่จะได้จัดเตรียมเงินที่จะช่วยได้อย่างเหมาะสมในการที่จะรับไหว้ด้วย

หน้า  137

พิธี “โจล มะม๊วด”(รักษาคนป่วย)

 

คนสุรินทร์   เชื้อสายเขมรที่มีอายุตั้งแต่   60-70 ปี   มักจะนิยมรักษาคนเจ็บป่วยด้วยพิธีกรรมอย่างหนึ่ง   ซึ่งเรียกเป็นภาษาเขมรว่า   “โจล มะม๊วด” พิธีกรรมนี้มีลักษณะคล้ายการทรงเจ้า   แต่มีพิธีการมากกว่า

ในการที่จะทำพิธี   “โจล มะม๊วด”  นี้จะต้องจัดระเบียบพิธีครูมะม๊วดเสียก่อน  ถ้าหากผิดครูแล้วจะเล่นไม่ได้   เครื่องบูชาครูมีหลายอย่าง  ผู้รู้บางท่านได้บันทึกไว้ว่าระเบียบครูมะม๊วดมีดังนี้

1.         จวม   ทำด้วยใบตาลฉลุ   และมีด้ายสีแดงพันตั้งอยู่บนแท่นไม้เบา ๆ เมื่อเสร็จพิธีก็จะเก็บไว้บนหิ้งบูชา

2.         กรวย 1  ทำด้วยใบตองทรงกรวย   มีดอกไม้หรือยอดไม้เสียบไว้  บางแห่งเรียกขันธ์ 5

3.         หมากพลู 1 คำ

4.          เทียนบิดเป็นเกลียว   1  คู่

5.          เทียนขี้ผึ้งมาพันกันปล่อยยอดให้แยกจากกัน  1 คู่

6.         เทียนทรงกลม 1 คู่

7.          เทียนทำด้วยขี้ผึ้งแท้  1 คู่

8.         เทียนไขธรรมดา 1 คู่

9.         กรวยเอก  กรวยโท   ทำด้วยใบตองเย็บทรงกรวยรูปหูกระต่ายปลายแหลม

10.       เงิน 1 สตางค์  หรือ 1  บาท

11.       ฉัตรเล็กๆ สีแดง

12.       ของประดับ เช่น   รูปนกปักระย้ารอบจวม  มีช้างม้าถือเป็นบริวารเทพเจ้า

13.       จวม 4  จำนวน  1

การจัดระเบียบครูมะม๊วดนี้   ทางที่ถูกต้องจะต้องให้ผู้ที่จะเข้าทรงเป็นผู้บอกจวมครูเหล่านี้สัมพันธ์กับการ  โจล มะม๊วด  อันเป็นพิธีการแบบพราหมณ์

สะท้อนถึงอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์  ซึ่งคนภาษาอื่นไม่มี    ปัจจุบันหาดูยากขึ้นทุกที   เทวดาและภูตผีที่คนสุรินทร์นับถือมีมากมาย  จากหนังสือแซมชาย

ของคณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ได้ระบุไว้ถึง  31 ชนิดคือ

1.         พระนารายณ์  พระพรหม  พระอินทร์  พระวิษณุกรรม

2.         พรายแปดเศียร  (ปเรียย  กบาล ปรัมแบ็ย )

3.         แมปรี  ( เจ้าป่า )  แมพนม(เจ้าเขา)

4.         มริง  กองเวียล  (เทพผู้เลี้ยงสัตว์ป่า)

5.         อารักษ์  (เทพผู้รักษาต้นไม้)

6.         จราบ  (ภูตผีที่อยู่ตามจอมปลวกรักษาถนนหนทาง  คลองส่งน้ำ

ปกติรักสงบยกเว้นมีใครไปล่วงเกิน)

7.         เนียะตา (ปู่ตา)

8.         ประภูมิแสร  (พระภูมิที่นา)

9.         กร็องพาลี   (เทพเจ้าผู้รักษาดินเขา)

10.       มนาย  สะโนน  (เทพปั้นลูกในครรภ์)

11.       ครูกำเนิด  (เทพประจำคน)

12.       ครูมะม๊วด   (เทพประจำคนทรง)

13.       ทมบ  (ผีปอบ)

14.       อาบ  (กะหัง)

15.       ปะกำ   ผีประจำสิ่งของ   เช่น  เชือกคล้องช้าง

16.       สาวนาง   (เป็นเทพประจำเครื่องมือช่างเงินช่างทองฯ)

17.       ครูเวทย์มนต์

18.       ปเรียย  จนีร  (พรายกรรมพันธ์)  เป็นผีร้ายที่เกิดอยู่ในตัวคนตามกรรมพันธุ์  (สายโลหิต)

19.       มหาจมปู   (เป็นแม่มดประเภทหนึ่ง)

20.       ตำบองแตก   (ตระบองเหล็ก)

21.       กร็องแฉ็จ  (ผีประจำเมือง)

22.       สำโปง เสาะทม   (เทพผมใหญ่)

23.       บอง  บ๊อด  (ผีฟ้า)

24.       แบ็ย  สาจ  (ปีศาจ)

25.       เปรียยอากาแซ(พรายเบ็ดเตล็ด)

หน้า   138

26.       โกนกรอก  (กุมารทอง)

27.       อำเปอ  (คุณไสย)

28.       ซาระบาด  ระบาล   (ผีห่าหรือโรคระบาด)

เทพหรือผีเหล่านี้ม  2  พวก  คือ   พวกที่อยากได้สิ่งของโดยให้คนจัดให้

กับพวกที่มาคอยดูแลมนุษย์   พวกแรกนั้น  จะต้องจัดพิธีโจรมะม๊วด

โจร  มะม๊วด   จะทำขึ้นเมื่อมีผู้ป่วย  ซึ่งพยายามรักษาโดยวิธีการปกติธรรมดาแล้วไม่หาย  เข้าโรงพยาบาลแล้วก็ไม่หาย  จึงต้องจัดพิธีกรรมโจร

มะม๊วดขึ้น

การหาสาเหตุของคนป่วย  ต้องมีคน 2 กลุ่มคือ    ผู้เข้าทรงแล้วบอกว่ามีเทวดาขออยู่ด้วยคนนี้มีหูทิพย์ตาทิพย์  ส่วนอีกกลุ่มคือ  คนถามถึงสาเหตุของการเจ็บป่วย   เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็ถามต่อไปว่า   จะให้ทำอย่างไรจึงจะหาย

พิธีกรรมการโจรมะม๊วด  มีดังนี้

1.  เลือกวัน    มักเลือกวันอังคารหรือวันพฤหัสบดี  ถือเป็นวันครู  จะไม่เล่นวัน  เลข 15  ค่ำ  ทั้งขึ้นและแรม

2.         การนั่งทรง  จะต้องหันไปทิศตะวันออกเสมอ

3.         โรงปะรำต้องมีเสา  9  ต้น  เพื่อใช้ต้นกลางผูก  “ประต็วล”  จะไม่เล่นบนบ้านจึงต้องทำปะรำพิธีเสมอ

4.           เสากลางมี  “ประต็วล”  ผูกไว้ใส่ไก่ต้ม 1  ตัว  ขนม  ข้าวต้ม กรวย  5 เทียน 2  เล่ม  ด้านล่างติดกับดิน  วางกะเฌอใส่ข้าวเปลือกใบขวานโยนใส่ข้าวสุก 1 ปั้น  (ในรูปใบขวาน  และวางไข่ดิบบนข้าวสุกอีกทีหนึ่ง)   มีกรวย 5 วางบนข้าวเปลือก

5.         ที่นั่งทรงมักจะปูฟูกแบบครึ่งท่อน  มีผ้าขาวปูทับอีกชั้นหนึ่ง

ข้างบนมีบายศรีปากชาม  วางข้างซ้าย 1  ขวา  1  มีจวม 4   มีข้าวสารอีก  1  จาน

เทียน  1  เล่ม  เงิน  1  บาท  และจวมเปรียย  1  คู่

6.           คำว่า “ตอก”  (ขันโตก)   เป็นขันใบใหญ่  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  25-35 ซม.   ใส่ข้าวสารประมาณครึ่งขัน  ใบพลู 3 ใบ  หมาก  1 ลูกกรวยอันซอม  1  คู่   กรวยหูกระต่าย  1  คู่   เทียน 1  คู่   เมื่อเริ่มเข้าทรงเขามักจุดเทียนให้สว่างขึ้นปักไว้กับข้าวสาร  แล้วเพ่งแสงเทียนนั้น

7.         ดาบ  หอก  ปืน  มักใส่ถาดวางไว้ข้าง  ๆ และสิ่งของขลังเครื่องราง  เช่น   เขี้ยวหมูตัน   งาช้าง  นอระมาด   นอกจากนี้ก็มีเสื้อผ้าแพรพรรณเครื่องสำอาง  ฯลฯ

8.         นอกปะรำจะมี “เป”    ทำด้วยก้านกล้วย 3  ก้าน  เอาไม้เสียบตรงกลางแยกเชิงข้างล่างเป็นขายัน 3 มุม   ทางยอดมัดติดกัน   เสียบไม้สีแดงหรือดอกมะละกอสาแหรกตรงกลาง  ณ   ที่เสียบไม้นั้นทำเป็นร้านวางของได้  วางแป้งที่ปั้นเป็นรูปคน   ข้าวแกงหรือลาบก้อย  บางทีมีข้าวสีดำด้วย   นัยว่าเป็นอาหารของผีร้ายชั้นต่ำ   นอกจากนั้นมีไข่ไก่  1  ใบ   เอามาเสกคลึงเจ้าภาพเพื่อไล่ผีร้ายออกจากตัวเจ้าภาพ

ข้างพื้นดินที่วางขาเปนี้  โดยมากใช้กระด้งรอง   มีเปเล็ก ๆวางไว้  1

อัน  ใส่แป้งที่ปั้นรูปคนและอาหารต่าง ๆ ไว้  เปนี้ทำแบบมี 4  ขาสั้นๆแบบโต๊ะ

ที่กล่าวทั้งหมดนี้เป็นเครื่องใช้ในการประกอบพิธีกรรม  “โจร มะม๊วด”   ของชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมร

เมื่อจัดสิ่งเหล่านี้เสร็จแล้วก็เริ่มเล่นได้

หน้า  139

ครู  มะม๊วด   จะเข้าที่นั่งทรง    ดนตรี  คือ  กันตรึม   ก็เริ่มบรรเลง  ในขณะเดียวกันผู้ทรงจะเอามือทั้ง 2   จับขันในขณะที่จุดเทียนไว้บนขันนั้นเขาจะเพ่งที่เทียน ในขณะที่หมุนขันไปมา   ครูประจำตัวก็จะเริ่มเข้าประทับทรง จะมีการแต่งตัว  แล้วร่ายรำดาบ  ทำท่ารบพุ่งกับภูติผีปีศาจทั้งหลายที่อยู่นอกปะรำ

เมื่อมะม๊วดเดินเข้าปะรำ  ปล่อยให้เทพอื่นที่มิใช่ครูประจำตนออกจากร่างไปก่อนแล้ว   จากนั้นจึงถึงพวกมะม๊วดเก่าและใหม่เข้าทรงบ้าง  ถ้าหากเข้าทรงแล้ว  มักจะมีการกัดเทียนซึ่งไฟยังติดอยู่   บางทีกัด 2 เล่มพร้อมกัน   อาการของคนทรง   มักจะมีลักษณะอากัปกริยาที่ต่างไปจากคนเดิม  บางคนร้องไห้  บางคนแสดงอาการโกรธผู้ป่วยเพราะทำผิด

ขณะเดียวกันเจ้าภาพและญาติต้องถามว่า  ความผิดนั้นจะทำอย่างไรจึงจะพ้นผิด   หลังจากนั้นก็จะทำพิธีตามที่ผู้เข้าทรงบอก   เป็นการจัดพิธีถวายเพื่อให้หายป่วย  ดูเหมือนว่ามีหลายรายที่หายป่วยได้จริง ๆ

ประเพณีตรุษสงกรานต์

 

ตรุษสงกรานต์คือ   การทำบุญตามประเพณีของชาวบ้านของไทย  ซึ่งถือว่าเดือน 5   เป็นเดือนขึ้นปีใหม่   สำหรับชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมร   ตรุษสงกรานต์ดูเหมือนจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน  จะมีแตกต่างก็ตรงที่พิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะคนสมัยก่อนเมื่อ  40-50 ปีมาแล้ว  ถือกันเป็นประเพณี  คือ วันแรม 13-14 ค่ำ เดือน 4  ผู้เฒ่าผู้แก่ของแต่ละหมู่บ้าน จะเดินบอกชาวบ้านทุกหลังคาเรือนว่า

บัดนี้วันปีใหม่ของเราจะมาถึงแล้ว  คือ  วันขึ้น 1 ค่ำ  เดือน 5   ฉะนั้นจึงขอให้พวกเราหยุดงานกัน 3 วัน   ไม่ว่าจะเป็นทำไร่  ตีมีด  ทอผ้า  หรือทำกิจการใด ๆ ให้หยุดหมด   มาร่วมฉลองปีใหม่กันเสียก่อน

สำหรับชาวสุรินทร์เชื้อสายเขมรในบริเวณอำเภอเมือง  อำเภอปราสาทกาบเชิง   จะมีพิธีกรรมดังนี้

วันขึ้น  1  ค่ำเดือน  5  วันขึ้นเขาสวาย   (วนอุทยานพนมสวายปัจจุบัน)

โดยพากันไปนมัสการพระพุทธรูป  และสาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนานมาก

ในขณะที่หยุดงาน(ตอม)  3 วันนี้ บางหมู่บ้านก็จะมีการละเล่นมากมายหลายอย่าง ดังนี้

หน้า 140

1.         เรือมตรด  (รำตรุษ) เป็นการจัดกระบวนดนตรีของหนุ่มสาวในหมู่บ้าน  แต่งตัวแบบตลก   ซึ่งมีบางคนที่เป็นผู้ชายแต่งกายผู้หญิง  ผู้หญิงแต่งกายผู้ชายเดินกันเป็นแถวอาจจะมีถึง  10-20 คน   เดินไปตามบ้านของเพื่อนบ้านทุกหลังคาเรือ  คณะนักร้องของคณะ “เรือมตรด”   นี้จะประกอบด้วย  ผู้ถือบาตรและบัญชีรับบริจาค  1  คน   เดินข้างหน้ากลองยาว 1 หรือ 2  ใบนำ  และผู้ที่มีความชำนาญในการร้อง  “เจรียง”    เดินนำ  1   คน   ต่อด้วยคณะ ตรุษ   ซึ่งมีทั้งหญิงและชายคนละแถว   เป็น 2 แถวเดินตาม

เมื่อไปถึงหน้าบ้านของผู้ใด  ก็จะเริ่มตีกลองผู้ร้องนำก็เริ่มร้อง   เมื่อผู้ร้องนำร้องเสร็จ  ผู้ร้องตามก็จะร้องพร้อมกัน   พร้อมกับจังหวะการรำไปทางซ้ายทีขวาที  ดูแล้วน่าชมยิ่ง  เนื้อร้องทำนองเพลงนั้นแบ่งเป็น3 ตอน  โดยเนื้อหาคือ

ตอนแรก   เป็นการบอกกล่าวว่าบัดนี้ถึงวันปีใหม่แล้ว  จึงขอบอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาทำบุญร่วมกัน  ในขณะเดียวกัน เจ้าของบ้านเมื่อเห็นคณะ

“เรือมตรด”   มาถึงบ้านก็จะรีบเอาเสื่อมาปูพร้อมน้ำดื่มขันใหญ่  1 ขัน และเหล้าขาว 1 ขวด   พร้อมกับมาเชิญผู้ถือบัญชีขึ้นบ้านทักทายกินน้ำ  และถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญ

ในขณะเดียวกันญาติเจ้าของบ้านคนใดคนหนึ่ง  จะเอาเหล้าขาวไปรินให้คณะที่รำอยู่ข้างล่าง

ตอนที่ 2   เมื่อเจ้าของบ้านทำบุญแล้ว   คณะ “เรือมตรด”   ก็จะร้องเพลงอวยพรให้มีอายุมั่นขวัญยืน  คิดสิ่งใดขอให้สมปรารถนา  บางทีก็มีการกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้าง

ตอนที่ 3   เมื่อผู้ถือบัญชีลาเจ้าของบ้าน   คณะก็เริ่มร้องเพลงลา   แล้วก็เริ่มเดินไปบ้านถัดไป

การร้องเช่นนี้จะทำทุกหลังคาเรือน   จะไม่มีเว้น   บางทีต้องใช้เวลา 2 –

3 วันจึงจะครบ

2.         การทำบุญหมู่บ้าน เมื่อเรือมตรดเสร็จแล้ว  ก็กำหนดพิธีการทำบุญหมู่บ้าน  ก่อนถึงวันพิธีก็จะมีการขนทรายก่อเจดีย์เพื่อเป็นสิริมงคลกับหมู่บ้าน  โดยนิมนต์พระมาฉัน  และมอบเงินที่ได้จากการเรือมตรดและจากผู้บริจากเพิ่มถวายวัดเพื่อเป็นการทำบุญร่วมกันต่อไป

3.         การเล่นสะบ้า ในช่วงหยุดสงกรานต์นี้มีการละเล่นมากมายหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่นิยมกันก็คือ การเล่นสะบ้า โดยใช้เม็ดมะค่าโมง จำนวนข้างละ  20-30 เมตร ตั้งแล้วเอาเม็ดอีกจำนวนหนึ่งโยน ถ้าใครโยนล้มหมดก่อนฝ่ายนั้นก็จะชนะ ผู้ชนะมักจะได้เข็ดหัวเข่าฝ่ายแพ้ การเล่นเช่นนี้ถ้าแพ้บ่อย หัวเข่าบวมก็มี.

 

 

-------------------------------------------------------------------------------------------------