หมวด: พิธีแต่งงานแบบไทย
จำนวนผู้อ่าน: 11039

การสู่ขอ

จวบจนเมื่อทุกอย่างลงตัว ก็จะมีการสรุปโดยเป็นการสู่ขอแบบพิธีรีตองกัน โดยมีเฒ่าแก่ หรือผู้ใหญ่ฝ่ายชาย ไปเจรจาตกลงเรื่อง สินสอด ทองหมั้น พิธีกรรมต่าง ๆว่าจะเอาแบบไหน  จะเอารวบรัดตัดความหรือจะเอาแบบอลังการงานสร้าง และสถานที่จะเอาที่ไหน ที่โรงแรมหรือที่บ้านหรือสโมสร และช่วงเวลาที่ต้องการจะทำพิธีหมั้น และพิธีแต่งจะเอาปีไหนเดือนไหน และแต่งงานกันตามธรรมเนียมแบบไหน บางคนจะเอาแบบไทยอีสานหรือไทยเต็มสูตร หรือจะเอาแบบภาคกลาง ภาคเหนือภาคใต้ ต้องสรุปลงที่ตรงนี้

เมื่อได้ช่วงเวลาแล้วก็ต้องตกลงกันว่าจะให้ฝ่ายไหนไปทำหน้าที่อะไร เช่น ไปจองโรงแรม จองสโมสร จองอาหารว่าจะเอาโต๊ะจีน บุฟเฟต์ ค็อคเทล ฯลฯ  จองพระว่าจะเอาวัดไหน และก็ต้องไปหาฤกษ์ และที่สำคัญจะต้องเตรียมงานล่วงหน้าไว้ไม่น้อยกว่า 8 เดือน ถึง1 ปี จึงจะปลอดภัยที่สุด

ปกติการไปสู่ขอนั้นฝ่ายชายมักจะไปกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือที่เรียกกันว่า เฒ่าแก่ ส่วนในอดีต ก็มีพ่อสื่อแม่สื่อไปร่วมด้วย ส่วนพ่อแม่ฝ่ายชายนั้นมักไม่ค่อยไปร่วมเจรจา จะมีบ้างก็น้อย

แต่ในบางกรณี ก็หมั้นกันเอาไว้ก่อนหลายๆปี  เพื่อดูใจกัน หรือไม่ก็รอให้ฝ่ายหญิงเรียนจบเสียก่อน หรือฝ่ายชายไปเรียนเมืองนอก ก็มักจะหมั้นกันเอาไว้ก่อน กลับมาแล้วก็ค่อยแต่ง แต่ในปัจจุบันก็หมั้นแล้วก็แต่งเลย ภายในเดือนสองเดือน หรือไม่ก็หมั้นเช้าแต่งตอนบ้านเลยก็มีบ่อยๆ

 

เคล็ดโบราณว่าด้วยฤกษ์

ในสมัยก่อนคนเชื่อถือฤกษ์ยามกันมาก เวลาจะไปขอลูกสาวบ้านไหนก็ต้องดูฤกษ์ก่อน นัยว่าหากฤกษ์ไม่ดีเดี๋ยวเขาจะไม่ยกลูกสาวให้ ก็เลยก็ต้องหาฤกษ์ โดยเฉพาะทลิทโทฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่ขลังที่สุดเป็นฤกษ์อันดับแรกในจักรวาล ฤกษ์ที่เชื่อกันว่าหากไปขอลูกสาวด้วยฤกษ์นี้ จะมีเสน่ห์ ได้รับความเอ็นดู ได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ ขออะไรก็ได้ดั่งใจนึก ทลิทโทฤกษ์นี้แปลว่าผู้ขอ เรียกอีกทีว่าฤกษ์ชูชก ดังนั้นขออะไรก็ได้หมด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีค่ามากสักปานใด หรือแม้แต่ลูกสาวเจ้าพระยามหากษัตริย์ ก็ยอมยกให้ ที่นี้มีคนมาแปลผิดๆว่าเป็นฤกษ์ขอทาน  อันนี้ไม่ใช่นะครับ หากเป็นฤกษ์ขอทานใครจะยอมยกลูกสาวให้ล่ะ

สินสอด

เรื่องสินสอดบางทีก็เรียกว่า ค่าน้ำนม ในอดีตมักจะเรียกกันไม่มาก เดี๋ยวจะโดนนินทาว่าขายลูกสาวกิน แต่เดี๋ยวนี้บางครั้งก็มากมายเป็นสิบๆล้าน หรือในบางกรณีเมื่อเรียกสินสอดแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวก็มักจะแถมกลับคืนไปให้อีก เพื่อเป็นทุนในการทำมาหากิน

ทองหมั้น

ส่วนทองหมั้น ก็คือทรัพย์สินต่างๆที่เจ้าบ่าวนำไปมอบให้กับเจ้าสาวไว้เป็นหลักประกัน ว่าจะมาขอ บางครั้งก็เป็นทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ เพชร กำไล ต่างหู สร้อย แม้แต่บ้าน รถ และที่ดินก็นำมาเป็นทองหมั้นได้เหมือนกัน สินสอดทองหมั้น ว่ากันตามกฎหมายก็คือ”สินส่วนตัว”อย่างหนึ่งของเจ้าสาวไม่ใช่”สินสมรส”

หากหมั้นแล้วไม่ยอมมาแต่ง

อาจจะเกิดกรณีหลายๆกรณีที่เมื่อการหมั้นได้ทำไปแล้ว แต่ฝ่ายชายไม่ยอมมาแต่ง เหตุผลก็เป็นได้ว่าระหว่างหมั้นฝ่ายชายกเกิดไปชอบพอหญิงอื่นและไม่ยอมมาแต่ง อันนี้ฝ่ายหญิงริบของหมั้นได้ตามกฎหมาย แต่หากฝ่ายชายพบพฤติกรรมว่าหญิงนั้นมีพฤติกรรมนอกใจ หรือมีคู่อยู่ก่อนแล้ว ก็มีสิทธิเรียกของหมั้นคืนได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437

เรื่องการหาฤกษ์ยามสำคัญมาก ขอให้แบ่งหน้าที่กันให้ดี หากทั้งสองฝ่ายไปหาฤกษ์แล้วก็มักจะได้ฤกษ์ไม่ค่อยจะตรงกัน อันนี้ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร หมออาจะเรียนกันมาคนละสำนักคนละตำรา เสร็จแล้วก็มาเถียงกันว่าจะเชื่อหมอไหนดี


แต่บางคนก็ชอบฤกษ์สะดวก เอาวันไหนก็ได้ อันนี้อันตรายมากๆ เพราะว่าวันแต่งงานนั้นสำคัญต่อความรุ่งเรืองและชีวิตสมรสมาก ผมเห็นมากมากนักต่อนัก หากคู่ไหนเลิกร้างกันไป ลองเอาวันแต่งมาคำนวณดูตามหลักวิชาโหร(ใครก็ได้ที่เรียนวิชานี้มา)แล้วก็ ร้อยทั้งร้อย แต่งในวันที่ไม่ดีและไม่สมพงศ์กับดวงชาตาของคู่สมรสทั้งนั้น  วิชาโหรนี้สามารถคำนวณย้อนหลังได้ พิสูจน์ได้ แต่บางคนก็เชื่อฤกษ์ยามแต่มักชอบของถูก ของฟรี ปรากฏว่าก็ได้หมอแบบฟรี ฤกษ์ที่ได้มาก็ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ผลก็พังทลายทั้งชีวิตคู่ ค่าครูดูฤกษ์ครูบาอาจารย์ที่มีหลักวิชาจริงๆ อย่างน้อยก็ต้องเท่ากับค่าแต่งหน้าเจ้าสาว ว่ากันมาอย่างนี้  หรือบางคู่ไม่ยอมหาฤกษ์แต่ง เอาแต่ฤกษ์สะดวก พิธีแต่งจัดกันอย่างใหญ่โต มโหฬารลงทุนนับล้าน แต่อยู่กันหม้อข้าวไม่ทันจะดำ ก็ต้องเลิกร้างกันไป

เพราะวิชามีครูก็ต้องมีค่าครู วิชานี้หากใครดูให้ไม่คิดค่าบูชาครูของก็จะเข้าตัวเพราะถือว่าไม่เคารพวิชา   อันนี้อันตรายทั้งคนมาดูและคนที่ให้ฤกษ์