Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***


ตำราสารัมภ์


หลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) เรียบเรียง

ทำสำเร็จเมื่อ ณ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘


ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนมัสการพระรัตนไตรแล้ว ขอประพันธ์คัมภีร์สารัมภ์ อันกล่าวด้วยการคำนวณ จันทรุปราคา และสุริยุปราคาไว้ ให้โหรทั้งหลายได้เล่าเรียนสืบไป และก่อนที่จะกล่าวเรื่องการคำนวณจันทรุปราคาและสุริยุปราคานั้น จะได้แสดงเหตุผลที่นักปราชญ์ในสมัยนี้ได้ค้นหาเหตุผลมาแสดงไว้ พอเป็นเครื่องสดับสติปัญญาดังนี้ :-

(๑) พระอาทิตย์เป็นดาวดวงใหญ่ที่สุดในจักรวาลอันนี้ ขั้วเหนือและใต้ ได้เอียงอยู่กับเส้นดิ่งอากาศสัก ๗ องศา เดินเวียนรอบในที่แห่งหนึ่ง ชาวยุโรปเรียกว่า โฟคัส ศูนย์กลางแห่งโฟคัสนั้นว่า อยู่ในราศีพฤษภ ตรงดาวแอลไซโอนี ในหมู่ดาวลูกไก่นั้น หมุนรอบตัวเองครั้งหนึ่งใน ๒๕ วันกับ ๑๒ ชั่วโมง แล้วเวียนรอบศูนย์กลางจังหวัดดูดที่เรียกว่า โฟคัสนั้น รอบหนึ่งประมาณโกฏิแปดล้านปี                     (๒) โลกเรานี้เป็นดาวดวงหนึ่ง ขั้วเหนือใต้ เอียงอยู่กับเส้นดิ่งอากาศ ๒๓ องศา กับ ๓๐ ลิบดา

หมุนรอบตัวเองครั้งหนึ่งใน ๒๔ ชั่วโมงและเวียนรอบดวงอาทิตย์รอบหนึ่งใน ๓๖๕ วัน ๕ ชั่วโมง ๔๘ นาฑี กับ ๕๑ วินาฑี

(๓) ดวงจันทร์เป็นดาวดวงหนึ่ง ขั้วเหนือใต้ เอียงอยู่กับเส้นดิ่ง ๑ องศากับ ๓๐ ลิบดาเวียนรอบโลกถึงที่เล็งกับดวงอาทิตย์ใน ๒๙ วัน ๑๒ ชั่วโมง ๔๔ นาฑี กับ ๓ วินาฑี พร้อมกับหมุนไปรอบตัวเองครั้งหนึ่งใน ๒๙ วัน กับเศษนั้นด้วย

(๔) ราหูนี้ไม่ปรากฎว่าเป็นดาว แต่เป็นจุดแห่งหนึ่งในอากาศ ที่โลกและดวงจันทร์โคจรร่วมหรือเล็งกันในจุดที่หมายอันนี้ แล้วจะเกิดเป็นสุริยุปราคาและจันทรุปราคาขึ้น จุดนี้เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ ผ่านไปเหนือบ้างใต้บ้าง ตัดผ่ากับทางโคจรของโลก เป็นมุม ๕ องศา ตรงที่ผ่านกันนั้นเรียกว่าโนต คือที่หมายในการผ่านกันและมีระดับสูงต่ำเป็นอย่างเดียวกัน ที่ที่เล็งตรงข้ามกับจุดหมายนี้ ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกับโนตเหมือนกัน และโนตนี้ได้เคลื่อนที่ถอยหลังไปทางตะวันตกทุก ๆ ปี เมื่อครบ ๑๘ ปี ๒๑๘ วัน ๒๐ ชั่วโมง ๒๒ นาฑี กับ ๔ วินาฑี ก็จะหมุนมาบรรจบรอบครั้งหนึ่งที่ ๆ ถอยหลังไปได้นี้แหละเรียกว่าราหู คือ เป็นที่ ๆ จะเกิดมืดแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เมื่อเป็นจันทรุปราคาและสุริยุปราคา

เมื่อดวงจันทร์โคจรอยู่ท่ามกลางดวงอาทิตย์และโลก ดวงอาทิตย์และโลกผ่านจุดนี้เมื่อใด ก็เกิดเป็นสุริยุปราคาเมื่อนั้น ถ้าว่าโลกอยู่ท่ามกลางดวงจันทร์เป็นฝ่ายตะวันออก อาทิตย์อยู่ฝ่ายตะวันตก ถ้าดวงจันทร์โคจรเข้าร่วมหรือเล็งกับจุดนี้เมื่อใด พื้นที่ลาดโคจรเสมอ เป็นอันเดียวกันกับทางโลก ดวงจันทร์ก็ต้องผ่านเข้าในเงาโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาขึ้นเมื่อนั้น

ถ้าดวงจันทร์เดินต่ำและผ่านเงาโลกทางตอนใต้ ข้างบนดวงจันทร์ก็มืดไป ข้างใต้ยังสว่างอยู่ ตำราว่าจับข้างอุดร ถ้าดวงจันทร์เดินสูง ขอบวงข้างล่างผ่านเงาโลก ข้างบนยังสว่างอยู่ ว่าจับอยู่ข้างทักษิณ ถ้าเดินตรงกลางเสมอจุดเล็งทีเดียวก็เป็นจันทรคราสจับมืดหมดดวง เงามืดนั้น เรียกว่า ฉายาเคราะห์

ถ้าดวงจันทร์อยู่ท่ามกลาง บังดวงอาทิตย์ ก็บังทางฝ่ายเหนือดวงอาทิตย์บ้าง ใต้บ้าง ท่ามกลางบ้าง เงาดวงจันทร์พุ่งมาทางโลก เวลาที่ดวงจันทร์ โคจรอยู่ใกล้โลกที่สุด ซึ่งชาวยุโรปเรียกว่า เปะไรยี เราเห็นดวงจันทร์ใหญ่ ถ้าดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ตรงกลางที่เดียว ดวงอาทิตย์ก็จะมืดมิดหมดดวง ถ้าดวงจันทร์โคจรออกไปห่างโลก ซึ่งชาวยุโรปเรียกว่าอาโปยี่ เราเห็นดวงจันทร์เล็กลง เมื่อดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ตรงกลางที่เดียว ก็ยังจะเห็นขอบดวงอาทิตย์เป็นแสงสว่างอยู่

ถ้าจะเกิดมีปัญหาถามเข้ามาว่า เหตุใดดวงดาวทั้งหลายตลอดจนโลกนี้เอง จึงต้องโคจรหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ ก็จะตอบได้ตามความรู้ความเห็นของมนุษย์ ในบัดนี้ว่า เป็นคติของธรรมดา ของใหญ่ย่อมดูดของเล็ก กำลังที่หมุนนั้นก็คือ กำลังที่หนีออกไปให้ห่างจากศูนย์กลาง และกำลังที่ดูดไว้นั้น เป็นกำลังถึงเข้ามาหาใจกลาง เมื่อกำลังทั้งสองเป็นก้ำกึ่งกัน ก็เกิดการทำให้หมุนเวียนขึ้น ส่วนกำลังที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งทำให้สิ่งทั้งหลายหมุนเวียนรอบตนนั้น ชาวยุโรปเรียกเซนเตอร์คราวิตี้ ข้าพเจ้าอยากจะเรียกว่า โคตรภู เปรียบกับหมู่สัตว์โลก อันมีโคตรภูจิตร์เป็นที่ตั้ง จึงต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่อย่างนี้เอง

ทีนี้จะกล่าวด้วยการคำนวณให้รู้ว่า ในอนาคตนั้นจะเกิดมีจันทรคราสและสุริยคราสในวันใด ก็จันทรคราสนั้นจะมีได้ต่อเมื่อพระจันทร์โคจรมาเล็งกับดวงอาทิตย์ ในวันข้างขึ้นพระจันทร์เต็มดวง แต่ให้สังเกตในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ และแรมค่ำ ๒ ใน ๔ วันนี้ ต้องมีราหูร่วมหรือเล็งกับดวงจันทร์ด้วย แล้วให้ดูองศาพระเคราะห์ทั้ง ๓ นั้น ถ้าห่างกันไม่เกิน ๑๕ องศาแล้ว ควรตรวจดูว่าจะมาร่วมนวางศ์กันในวันใด คือให้ตั้งองศาลิบดาพระเคราะห์ขึ้นอีก ๑ แล้วจึงนับลงตัวนวางศ์ในราศีนั้น แม้ว่าร่วมนวางศ์กันเข้าในวันใด ใน ๔ วันนั้น พึงคำนวณสารัมภ์ ในวันนั้นแล

การที่ตำรากล่าวไว้ว่า ร่วมหรือเล็งในราศีเดียวกันนี้ เป็นของกล่าวมาแต่เดิม แต่พิเคราะห์ดูตามที่คำนวณกันมาแล้ว ได้ความจริงว่า พระเคราะห์จะอยู่ราศีใดก็ตาม ถ้าเคียงกันและมีองศาใกล้กัน หรือนวางศ์อยู่ชิดกัน ก็จะเกิดเป็นจันทรคราสหรือสุรยคราสได้เหมือนกัน จงดูตัวอย่างที่ทำในตำรานี้เถิด

อนึ่ง จันทรุปราคานั้น กำหนดให้ตรวจที่เพียรและดิถีอีกอย่างหนึ่ง คือในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและแรมค่ำหนึ่ง ถ้าเพียรและดิถีบอกว่าจะมีคราสทั้งสองอย่างก็มีแน่ ถ้าเพียรและดิถีบอกว่าจะไม่มีคราสทั้งสองอย่างก็ไม่มีแน่ ถ้าเพียรและดิถีขัดแย้งกันอยู่ พึงให้ทำสอบสวนดู จนถึงราหูภุชเถิด วิธีทำเพียรและดิถีนั้น ดังนี้ :-

ให้เอาสมผุสจันทร์ตั้ง เอาสมผุสอาทิตย์ลบ เศษเป็นเพียรตราไว้

ให้เอาเพียรตั้ง เอา ๓๐ คูณราศี แล้วบวกองศาขึ้น แล้วเอา ๖๐ คูณบวกลิบดาขึ้น เอา ๗๒๐ หาร ผลลัพธ์เป็นดิถี เศษเอา ๑๒ หาร ผลลัพธ์เป็นนาฑีดิถี ตราไว้

ถ้าผลลัพธ์ตรงกับเพียรและดิถีที่เขียนไว้นี้ ว่าจะมีจัทรุปราคาแล

ราศี    องศา   ลิบดาเป็น

๕       ๒๖     ๓๖,    ๓๗,    ๓๘,    ๓๘,    ๔๐,    ๕๙

๕       ๒๗     ๔๑,    ๔๒,    ๔๓,    ๔๔,    ๔๕,    ๕๙

๕       ๒๘     ๔๖,    ๔๗,    ๔๘,    ๔๙,    ๕๐,    ๕๙

๕       ๒๙     ๕๑,    ๕๒,    ๕๓,    ๕๔,    ๕๕,    ๕๙

๖        ๐        ๕๖,    ๕๗,    ๕๘,    ๕๙,    ๐,       ๕๙

๖        ๑        ๑,      ๒,     ๓,     ๔,     ๕,     ๕๙

๖        ๒       ๖,       ๗,     ๘,      ๙,     ๑๐,     ๕๙

๖        ๓       ๑๑,     ๑๒,    ๑๓,    ๑๔,    ๑๕,    ๕๙

ดิถี ๐ นาฑีดิถี แต่ ๐ และ ๑ จนถึง ๒๖

ดิถี ๑๔ นาฑีดิถีแต่ ๔๔ เรียงเป็นลำดับไปจนถึง ๕๙

วิธีตรวจดูว่า จะมีสุริยุปราคาหรือไม่นั้น ให้ดูวันแรม ๑๔ , ๑๕ ค่ำ และขึ้น ๑ , ๒ ค่ำ ถ้าอาทิตย์และจันทร์ร่วมราศีกัน และราหูร่วมหรือเล็งหรือเคียงด้วยก็ดี ก็ให้ทำสอบดูอย่างที่กล่าวมาแล้ว ในเรื่องนวางศ์เพียรและดีถี จันทรุปราคานั้นเถิด ถ้าเพียรและดิถีตรงกันกับที่เขียนไว้นี้ ว่าจะมีสุริยุปราคาแล

ราศี     องศา  ลิบดาเป็น

๑๑      ๔       ๑๖,     ๑๗,    ๑๘,    ๑๙,    ๒๐,    ๕๙

๑๑      ๕       ๒๑,    ๒๒,    ๒๓,    ๒๔,    ๒๕,    ๕๙

๑๑      ๖        ๒๖,    ๒๗,    ๒๘,    ๒๙,    ๓๐,    ๕๙

๑๑      ๗       ๓๑,    ๓๒,    ๓๓,    ๓๔,    ๓๕,

๐      ๗       ๕๙,

๐      ๘       ๓๖,    ๓๗,    ๓๘,    ๓๙,    ๔๐,

๐      ๙         ๐,     ๔๑,    ๔๒,    ๔๓,    ๔๔,    ๔๕

๐      ๑๐      ๔๖,    ๔๗,    ๔๘,    ๔๙,    ๕๐,      ๐

๐      ๑๑      ๕๑,    ๕๒,    ๕๓,    ๕๔,    ๕๕,      ๐

ดิถี ๐ นาฑีดิถีแต่ ๒๔ ขึ้นไปโดยลำดับจนถึง ๕๗

เมื่อได้ตรวจดูเห็นว่าจะมีจันทรุปราคาและสุริยุปราคาแล้ว พึงทำคำนวณตามคัมภีร์สารัมภ์ ดังต่อไปนี้เทอญ