Website แห่งแรกและแห่งเดียวในเมืองไทย ที่ให้บริการฤกษ์ยามชั้นสูงของโหราศาสตร์ภารตะจากคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และได้ผลตอบรับดีสูงสุดเป็นปีที่ 15 แล้ว WebSite ของเราให้การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในระดับสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงจากยุโรป "SiteGuarding" บริการดูฮวงจุ้ย แก้ฮวงจุ้ย เสริมฮวงจุ้ย ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี***

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์รักษาเวลามาตรฐานประเทศไทย  กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ http://www.navy.mi.th/hydro/time/

ประวัติการรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทย

ประวัติการรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทย

การรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทย และการแจ้งสัญญาณเทียบเวลาก่อน พ.ศ.๒๔๗๖

การตรวจสอบเวลาเพื่อรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทย และการแจ้งสัญญาณเทียบเวลาให้

กับประชาชน พลเรือน เพื่อให้ใช้เวลาตรงกันทั่วประเทศนั้น ทางราชการได้มอบหมายให้กองทัพเรือเป็นผู้ดำเนินการ โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของแผนกดาราศาสตร์ กองอุปกรณ์การเดินเรือ กรมอุทกศาสตร์ ซึ่งปรากฏอยู่ในระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการกำหนดหน้าที่ส่วนราชการในกองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๐๑

การตรวจสอบเวลาและแจ้งสัญญาณเทียบเวลานั้นมีมาตั้งแต่โบราณกาล หลักฐานเท่าที่สามารถตรวจพบและยังมีปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ คือแท่งหินจัดเรียงเป็นรูปวงกลมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ในนามของ Stonehenge อายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปี ใช้สำหรับบอกเวลาและฤดูต่าง ๆ เข้าใจว่าสร้างไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในทางเกษตรกรรมหรือ พิธีกรรมทางศาสนา




สำหรับประเทศไทย คนในสมัยโบราณ ก็คงใช้หลักจากการสังเกตปรากฏการณ์ธรรมชาติ

ในแต่ละวันเป็นเครื่องบอกเวลา เช่น ดวงอาทิตย์ ขึ้น- ตก ดวงจันทร์ ขึ้น- ตก ซึ่งทั้งนี้ก็สามารถบอกเวลาได้อย่างคร่าว ๆ ไม่ละเอียดมากนักเนื่องจากใช้การสังเกตจากธรรมชาติเป็นหลัก แต่คนในสมัยก่อนก็ไม่ได้ให้ความสนใจในความถูกต้องของเวลามากนัก ส่วนการแจ้งสัญญาณเวลาก็คงจะเป็นการใช้การตีเกราะ เคาะไม้ ตีกลอง บอกสัญญาณเวลาต่าง ๆ ให้ชาวบ้านทั่วไปได้ทราบ การดำเนินการในเรื่องการรักษาเวลาของไทย ได้เริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจัง โดยใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาประกอบอย่างมีเหตุผล คงจะเริ่มเมื่อได้มีฝรั่งชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศไทย เท่าที่ปรากฏตาม

ประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ได้ว่าน่าจะเริ่มในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑ ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์เป็นกษัตริย์ที่สนพระทัยในวิทยาการสมัยใหม่จากฝรั่งต่างชาติ เห็นได้จากใบรายการสั่งซื้อของใน พ.ศ.๒๑๙๙ มีการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัท อีสท์อินดีส ของ ฮอลันดา ซึ่งเป็นตัวแทนจัดการติดต่อการค้าในกรุงศรีอยุธยา เท่าที่ปรากฏหลักฐานมี กล้องโทรทัศน์ โคมไฟ หมวกสักหลาด ชุดผ้าไหม โต๊ะเขียนหนังสือ หนังสือ แว่นตา อื่นๆ แต่ที่สำคัญที่ปรากฏอยู่ในรายการคือ นาฬิกาแบบใช้เครื่องจักรกล แสดงให้เห็นว่าได้เริ่มมีการนำนาฬิกาเข้ามาใช้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่ที่ยังไม่แพร่หลายเนื่องจากความรู้ความสามารถในด้านภาษาต่างประเทศของคนไทยในสมัยนั้นยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนไม่มากนักวิทยาการด้านการรักษาเวลาจึงยังไม่อยู่ในความสนใจของประชาชนโดยทั่วไป





การรักษาเวลาและการแจ้งเวลาเริ่มแพร่หลายขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงกำหนดระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย โดยเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๕ ทรงสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในสวนหน้าพระพุทธนิเวศน์ พระที่นั่งองค์นี้สร้างเป็นตึกทรงยุโรป สูง 5 ชั้น ชั้นยอดมีนาฬิกาใหญ่ 4 ด้าน ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงสำหรับบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทยในสมัยนั้น การที่เรามีพระที่นั่งภูวดลทัศไนยเป็นหอนาฬิกาสมัยนั้น ถือได้ว่าเป็นการเฉลิมฉลองการเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ ๒๕ ของไทยในทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มภาคภูมิในฐานะที่ไทยเป็นชาติใหญ่ในย่านนี้

ในรัชสมัยของพระองค์นั้น โลกยังไม่มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ถึงขั้นส่งคลื่นวิทยุเป็นสัญญาณเทียบเวลาสากล หรือใช้นาฬิกาปรมาณูจาก CESIUM - 133 ประเทศที่เจริญในช่วงสมัยของ

พระองค์ท่าน จะต้องทำการคำนวณทางดาราศาสตร์เพื่อเทียบเวลาของตนเอง โดยสถาบันทางดาราศาสตร์ของชาตินั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ได้ทรงคำนวณดาราศาสตร์และสามารถรักษาเวลามาตรฐานได้อย่างเที่ยงตรง พระองค์ท่านโปรดเกล้าฯ ให้มีพนักงานนาฬิกาหลวง เรียกว่าตำแหน่ง “พันทิวาทิตย์” คอยเทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และตำแหน่ง “พันพินิตจันทรา” คอยเทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ของไทยชุดแรก อาจกล่าวได้ว่าระบบเวลามาตรฐานประเทศไทยที่พระองค์ทรงกำหนดขึ้นนี้ได้กระทำก่อนประเทศยุโรปเสียอีก เพราะ

รัฐสภาอังกฤษออกพระราชบัญญัติเวลามาตรฐานอังกฤษ (GREENWICH MEAN TIME) ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ และในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ที่ประชุมดาราศาสตร์ในกรุงวอชิงตัน ได้ตกลงให้เส้นเมอริเดียนที่ผ่านเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษเป็นเมอริเดียนหลักที่จะใช้เทียบเวลาของโลก

เมื่อได้กล่าวถึงเรื่องนี้แล้ว ควรที่จะได้กล่าวถึงพระอัจฉริยภาพในเรื่อง ดาราศาสตร์ เพื่อเสริมความเข้าใจอีกสักเล็กน้อย ในยุคร่วมสมัยของพระองค์ท่านนั้น นักดาราศาสตร์กำลังให้ความสนใจเรื่อง การเคลื่อนที่ของโลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ต่างทุ่มเทสติปัญญา เพื่อหาวิธีคำนวณตำแหน่งดวงจันทร์ ขณะที่โคจรรอบโลก ภายใต้แรงดึงดูดของโลก และดวงอาทิตย์และตำแหน่งดวงจันทร์ขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ภายใต้แรงดึงดูดจากดาวเคราะห์ต่าง ๆ ซึ่งการแก้ปัญหาทั้ง ๒ อย่างนี้ต้องอาศัยหลักการในงานสาขาดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ในการคำนวณ ผลงานการคำนวณของพระองค์ท่านที่ประสบความสำเร็จคือ การที่พระองค์ท่านทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ถูกต้องแม่นยำ พระองค์ได้ทรงทำการคำนวณแบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน คือ

๑. ทำการคำนวณตำแหน่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ โดยใช้ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของ

ดวงจันทร์ (THEORY OF LUNAR MOTION)

๒.หลังจากคำนวณตำแหน่งดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์แล้ว จะต้องทำการคำนวณตรวจสอบว่า จะมีโอกาสเกิดอุปราคาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ผ่านไปถ้าสามารถเกิดขึ้นได้ จึงจะเข้าสู่การคำนวณขั้น ๓ ต่อไป

๓.เมื่อตรวจสอบแล้วว่ามีโอกาสเกิดอุปราคาได้ ก็จะทำการคำนวณในขั้น ๓ คือ คานวณ

ว่าการเกิดอุปราคานั้น เป็นสุริยุปราคา หรือ จันทรุปราคา มีลักษณะอย่างไร เช่น เป็นชนิดมืดหมดดวง หรือชนิดวงแหวน หรือมือเป็นบางส่วน และจะเห็นได้ที่ไหน เวลาเท่าไร ถึงเท่าไร ตามระบบเวลามาตรฐานสากล ซึ่งจะต้องนำมาใช้ในการคำนวณด้วยตลอดตั้งแต่ต้น

ในกรณีที่พระองค์ได้ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอนี้ พระองค์ได้ทรงกระทำตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ และสามารถคำนวณได้อย่างถูกต้องทั้งในลักษณะการเกิด เวลาที่เกิด และตำบลที่

ที่ใช้สังเกต จากการคำนวณเปรียบเทียบหลักฐานจากการคำนวณของหอดูดาวกรีนิช ปรากฏว่าระบบคำนวณของพระองค์ท่านถูกต้อง แต่ตัวเลขของพระองค์ไม่มีในระบบของกรีนิช แสดงว่าพระองค์ท่านได้ทรง

คำนวณขึ้นมาด้วยพระองค์เอง มิได้นำเอาผลการคำนวณของชาวต่างประเทศมาดัดแปลงประยุกต์ใช้สำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด ฯ

ย้อนกลับมาถึงเรื่องแจ้งสัญญาณบอกเวลา ในสมัยก่อน การบอกสัญญาณแจ้งเหตุและอันตรายต่าง ๆ เช่น การตีเกราะ ตีกลอง หรือยิงปืนนั้น มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเข้าใจว่าได้

มาจากเมืองจีน ประเพณีนี้ได้มีมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือมีทั้งยิงปืนและตีกลอง การตีกลองนั้นเดิมทีมีหอกลองอยู่ที่หน้าวัดพระเชตุพนหอหนึ่งเป็นสามชั้น ที่หอนั้นแขวนกลองไว้สามใบ ใบละชั้น ใบใหญ่อยู่ชั้นล่างแล้วเล็กขึ้นไปตามลำดับ กลองใบใหญ่ที่อยู่ชั้นล่างมีชื่อว่า “ย่ำพระสุริศรี” สำหรับตีบอกเวลาเมื่อดวงทิตย์ตกดินเพื่อเป็นสัญญาณให้ปิดประตูพระนคร กลองใบชั้นกลางมีชื่อว่า “อัคคีพินาศ” สำหรับตีเมื่อเกิดไฟไหม้เป็นสัญญาณเรียกราษฎรให้มาช่วยกันดับไฟ ดูเหมือนมีกำหนดว่าถ้าไฟไหม้นอกพระนคร

ตีสามครั้ง ถ้าไฟไหม้ในพระนครตีมากกว่านั้น กลองใบที่สามที่ชั้นยอด มีชื่อว่า “พิฆาตไพรินทร์” สำหรับตีให้รู้ว่ามีข้าศึกมาประชิดติดพระนคร ทุกคนจะต้องมาประจำรักษาหน้าที่โดยพร้อมเพรียงกัน

การยิงปืนบอกเวลานั้น มีมานานแล้วเช่นกัน เดิมทีเดียว (ก่อน พ.ศ.๒๔๓๐) ที่ป้อมมุม

พระบรมมหาราชวัง มีปืนใหญ่ประจำอยู่ทุกป้อม ป้อมละกระบอก เป็นปืนสัญญาณ ปืนที่อยู่ที่ป้อมมุมวัดพระเชตุพนจะยิงบอกเวลาเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นทุกวัน เพื่อเป็นสัญญาณให้เปิดประตูวัง เพราะเวลากลางคืนประตูวังจะปิดและเปิดการลดหย่อนการพิทักษ์รักษาการอยู่เวรยามในพระราชวังในเวลากลางคืน แต่บางคนบอกว่าที่ยิงปืนนั้นเป็นการเปลี่ยนดินปืนอีกนัยหนึ่ง การยิงปืนยังใช้ยิงเป็นสัญญาณเมื่อไฟไหม้นอกพระนครจะยิงนัดเดียว ถ้าไฟไหม้ในพระนครจะยิงสามนัด และถ้าไฟไหม้พระบรมราชวัง จะยิงติดต่อกันไปหลายนัดจนกว่าไฟจะดับถึงจะหยุดยิง

การรักษาเวลามาตรฐานโดยพนักงานนาฬิกาหลวงคือ พันทิวาทิตย์และพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่มาได้ช่วงเวลาหนึ่ง โดยคงจะทำควบคู่ไปกับการยิงปืนบอกเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นที่ป้อมมุมวัดพระเชตุพน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้จ้างฝรั่งชาวยุโรปเข้ามารับราชการ เพื่อวางรากฐานงานด้านต่าง ๆ ในแทบจะทุกวงการ ทางด้านทหารเรือก็เช่นเดียวกัน สำหรับการรักษาเวลานั้น งานของทหารเรือมีคามเกี่ยวข้องกับเรื่องเวลาในการวัดดาราศาสตร์เพื่อใช้ในการเดินเรือและการสำรวจแผนที่ ชาวต่างชาติเหล่านี้คงจะได้นำความรู้ความสามารถในการวัดดาราศาสตร์หา

เวลามาตรฐาน และการใช้นาฬิกาโครโนเมตรสำหรับการรักษาเวลาได้อย่างเที่ยงตรง มาแสดงให้ปรากฏ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระชลยุทธโยธิน (Andre’ du Plessis de Richelieu) ซึ่งรับราชการอยู่ในกรมทหารเรือในขณะนั้น เป็นเจ้าพนักงาน ออบเซอร์เวตตอรี่หลวง มีหน้าที่คอยตรวจสอบนาฬิกา (เวลา) ความสำคัญของตำแหน่งพันทิวาทิตย์ และพันพินิตจันทราจึงลดลงจนหมดไปในที่สุด





นอกจากพระชลยุทธโยธินชาวเดนมาร์กแล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันก็ยังมี พระนิเทศชลธี หรือ กัปตันลอฟตัส ชาวอังกฤษอีกผู้หนึ่งที่มีความสามารถในเรื่องการหาเวลา เห็นได้จากการที่ท่านได้

ประดิษฐ์นาฬิกาแดดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕ ซึ่งปัจจุบันยังตั้งอยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ดังได้กล่าวไว้แล้วในบทที่ ๒

สำหรับการยิงปืนบอกเวลาเที่ยงหรือที่เรียกว่ายิงปืนเที่ยงนั้น เกิดขึ้นในเวลาต่อมาครั้งแรกมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทอดพระเนตรตัวอย่างที่อังกฤษยิงปืนสัญญาณที่เมืองสิงค์โปร์ เพื่อให้ประชาชนและชาวเรือต่าง ๆ ตั้งนาฬิกา จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการยิงปืนที่กรุงเทพ ฯ บ้าง ครั้งแรกโปรดเกล้า ฯ ให้ทหารเรือยิงปืนเที่ยงที่ตำหนักแพ (ท่าราชวรดิฐ) ก่อน และยิงเฉพาะในวันเสาร์เท่านั้น โดยมีพระชลยุทธโยธิน เจ้าพนักงานออบเซอร์เวตตอรี่หลวง เป็นผู้ควบคุมกำหนดเวลา

ยิง ครั้นกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม จัดตั้งทหารปืนใหญ่ขึ้นในทหารล้อมวัง จึงขอรับหน้าที่ยิงปืนเที่ยงมาให้ทหารปืนใหญ่ล้อมวังที่ป้อมทัศนนิกซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระบรมหาราชวัง และเปลี่ยนมาเป็นยิงปืนเมื่อเวลาเที่ยงทุกวัน ดังประกาศยิงปืน จากราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๙ จุลศักราช ๑๒๔๙ ดังต่อไปนี้

ประกาศยิงปืน

วัน ๓ เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีชวด ยังเป็นนพศก ๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐)

ด้วยพระชลยุทธโยธิน เจ้าพนักงานออบเซอร์เวตตอรี่หลวง รับพระบรมราชโองการ

ใส่เกล้า ฯ สั่งว่าแต่ก่อนได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยิงปืนเที่ยงในวันเสาร์ เพื่อจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะต้องการตั้งนาฬิกาให้ตรงกับเวลามัธยม (คือมินไตน์) กรุงเทพ ฯ เสมอทุกวันเสาร์มาแต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นที่ลำบากอยู่ทุกวันนี้การค้าขายเจริญมากขึ้น เรือที่เข้าออกมีขึ้นเป็นอันมากแลมีความปรารถนาเวลามัธยมกรุงเทพ ฯ อยู่ด้วยกันทุกลำ เพราะฉะนั้นจึงทรงพระราชดำริ โดยความที่ทรงพระกรุณาแก่ราษฎรที่ไปมาค้าขายในกรุงเทพ ฯ เพื่อจะได้ประโยชน์ที่จะตั้งนาฬิกาได้ตรงเวลามัธยมกรุงเทพ ฯ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ยิงปืนเวลาเที่ยงทุก ๆ วัน เมื่อผู้ใดได้ยินเสียงปืนแล้ว ต้องเข้าใจว่าเป็นเวลาเที่ยงตามเวลามัธยม (มินไตน์) กรุงเทพ ฯ ที่หอออบเซอร์เวตอรีหลวง ซึ่งตั้งอยู่ แลตติจูด ๑๓๔๕๓๘๘ เหนือ ลองติจูด ประมาณ ๑๐๐๒๘๔๕ ตะวันออก ของเมืองกรีนิช กำหนดจะได้ยิงปืนใหญ่ที่ป้อมทัศนนิกทีละด้าน ตะวันตกของพระบรมมหาราชวัง แต่ ณ วัน ๗ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีชวด ยังเป็นนพศกตรงเวลาเที่ยงเสมอไปทุกๆ วัน อย่าให้ผู้ใดผู้หนึ่งสงสัยตกใจว่าเกิดเพลิงหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ถ้าพ้นเวลาเที่ยงแล้ว หรือก่อนเที่ยงจึงควรถือเอาว่ามีเหตุได้ ถ้าเกิดเพลิงขึ้นในเวลาเที่ยงหรือใกล้เที่ยงจะยิงปืนเป็นสองนัดจึงให้ถือเอาว่ามีเหตุได้

(จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙ จุลศักราช ๑๒๔๙)

ต่อมาภายหลัง ได้กลับมอบหน้าที่ให้ทหารเรือเป็นผู้ยิงปืนเที่ยงอีก และเป็นผู้รักษาเวลาด้วย กรมทหารเรือได้จัดให้มีการยิงปืนเที่ยงที่เรือพระที่นั่งจักรีอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วได้มอบให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือจัดการยิงปืนเที่ยงที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ โดยให้นักเรียนนายเรือเป็นผู้ยิง ภายหลังปรากฏว่าไม่สะดวกเพราะนักเรียนนายเรือไม่ได้อยู่กรุงเทพ ฯ ตลอดเวลา ต้องออกไปฝึกภาคทะเลบ่อยๆ จึงมอบหน้าที่การยิงปืนเที่ยงให้เป็นหน้าที่ของกรมเรือกล ชั้น ๔ เป็นผู้ยิงปืนเที่ยงทุกวัน ที่สนามหญ้าท่าราชวรดิฐ

สำหรับการรักษาเวลาที่ได้มอบให้ทหารเรือเป็นผู้รักษานั้น หลังจากพระชลยุทธโยธินได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าพนักงานออบเซอร์เวตตอรี่หลวงท่านแรกแล้ว ยังหาหลักฐานไม่พบว่าท่านผู้ใดเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหรือทำหน้าที่ควบคุมการวัดดาราศาสตร์หาเวลามาตรฐานต่อมา แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาคือ

- ใน พ.ศ.๒๔๓๗ ทางราชการได้ย้าย น.ต.ริเชลิว (Louis du Plessis de Richelieu) น้องชายของพระชลยุทธโยธิน ซึ่งย้ายไปปฏิบัติราชการจนเป็นผู้ช่วยเจ้ากรมแผนที่ กลับมารับราชการทางกรมทหารเรืออีก มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานแผนที่ทะเล (ได้เลื่อนยศเป็นนาวาโท- ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระพลสินธวาณัตก์)

- พ.ศ.๒๔๓๙ ยกฐานะสำนักงานแผนที่ทะล เป็น กองแผนที่ทะเล ขึ้นตรงต่อกรมทหารเรือ

- พ.ศ.๒๔๔๖ ทางราชการได้จัดส่วนราชการใหม่ให้กองแผนที่ทะเลไปขึ้นตรงต่อกรมยุทธศึกษาทหารเรือ มีหน้าที่สำรวจแผนที่ทะเล ตรวจสอบ และรักษาเวลามาตรฐานสำหรับใช้ในราชนาวี

จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ข้างต้น สันนิษฐานว่า พระชลยุทธโยธิน (ต่อมาเป็นพระยาชลยุทธโยธิน

- รองผู้บัญชาการทหารเรือ) คงจะมอบหมายงานรักษาเวลาให้สำนักงานแผนที่ทะเลซึ่งมี น.ต.ริเชลิว ผู้เป็นน้องชายและเป็นผู้มีความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ดีอยู่แล้วเป็นหัวหน้าสำนักงาน เมื่อสำนักงานแผนที่ทะเลได้รับการยกฐานะเป็นกองแผนที่ทะเล งานรักษาเวลามาตรฐานจึงได้ตกทอดมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองแผนที่ทะเลด้วย และเมื่อย้ายกองแผนที่ทะเลมาสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทางราชการจึงได้มอบหน้าที่การยิงปืนเที่ยงให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือ โดยมีนักเรียนนายเรือ ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ

กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นผู้ทำการยิง

การยิงปืนเที่ยงมาเลิกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ เพราะมีไฟฟ้าและวิทยุใช้แล้ว การเทียบเวลาโรง

ไฟฟ้าจะทำไฟกระพริบเป็นสัญญาณให้เทียบนาฬิกาเมื่อเวลาสองทุ่ม สำหรับวิทยุก็บอกสัญญาณให้เทียบนาฬิกาในเวลาเดียวกันเช่นกัน

ในช่วงเวลาเหล่านี้มีประกาศพระราชกฤษฎีกา และประกาศของทางราชการเกี่ยวกับเรื่องเวลาหลายฉบับด้วยกัน เช่นในสมัยก่อน พ.ศ.๒๔๖๐ การขึ้นวันใหม่เริ่มต้นวันเมื่อย่ำรุ่ง (คือ ๐๖๐๐ นาฬิกา) จนใน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง ให้ใช้การขึ้นวันใหม่เช่นเดียวกับชาวยุโรป คือ

เริ่มต้นวัน เมื่อ 12 ชั่วโมง ก่อนเที่ยงวัน (เที่ยงคืน) และสิ้นวันเมื่อ 12 ชั่วโมง ภายหลังเที่ยงวัน และก่อน พ.ศ.๒๔๖๓ ประเทศไทยได้ใช้เวลาอัตราเร็วกว่าเวลาสมมุติกรีนิช ๖ ชั่วโมง ๔๑ นาที ๕๗.๓ วินาที่ จึงใน พ.ศ. ๒๔๖๒ มีประกาศพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่ง เปลี่ยนเป็นให้ใช้เวลาอัตราเร็วกว่าเวลาสมมุติกรีนิช

7 ชั่วโมง ตั้งแต่ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๓ เป็นต้นไป




การรักษาเวลามาตรฐานจาก พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นต้นมา

การวัดดาราศาสตร์เพื่อหาเวลามาตรฐานตั้งแต่เริ่มแรกมานั้น สันนิษฐานว่าคงจะใช้เครื่องวัดแดดในการวัดมุมและใช้นาฬิกาโครโนเมตรบันทึกเวลา ต่อมากรมอุทกศาสตร์ได้รับนาฬิกาชนิดลูกตุ้ม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา

กรมพระบำราบปรปักษ์ทรงประทานให้ ๑ เรือน และได้สั่งซื้อจากประเทศเดนมาร์กอีก 1 เรือน เพื่อใช้เป็นนาฬิกามาตรฐานแทนนาฬิกาที่ใช้อยู่เดิม นาฬิกาทั้ง ๒ เรือน เป็นนาฬิกาแบบไขลานที่มีความเที่ยงตรงสูง มีบทบาทในการรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทยมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันก็ยังใช้ราชการอยู่ และยังทำงานได้อย่างสมบูรณ์ แม้จะใช้งานมานานมากแล้วก็ตาม

ในช่วงก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๖ การตรวจสอบเวลาเพื่อใช้ทั่วประเทศตามที่กรมอุทกศาสตร์ได้

ทำอยู่ในเวลานั้น ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว เฉพาะเครื่องมือนับได้ว่าล้าสมัยหลายสิบปี เกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีประเทศที่เจริญแล้วประเทศใดใช้วิธีอย่างไทย กรมอุทกศาสตร์เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เพราะเวลาที่ใช้นั้นไม่ใช่เฉพาะประชาชนพลเรือนเท่านั้น ยังต้องใช้เทียบเคียงกับต่างประเทศและชาวเรือโดยทั่วไปด้วย โดยเฉพาะชาวเรือ และการเดินเรือย่อมต้องการความละเอียดถูกต้องของเวลามาก กรมอุทกศาสตร์ จึงมีความต้องการที่จะจัดหาเครื่องมือตรวจสอบ และรักษาเวลาที่ทันสมัยให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ก็ยังติดขัดด้วยงบประมาณ

ก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๖ การรักษาเวลาอยู่ในความรับผิดชอบของหมวดเครื่องมือเดินเรือ

กองอุปกรณ์การเดินเรือ โดยใช้นาฬิกาลูกตุ้มเรือนเกณฑ์เป็นนาฬิกาหลักในการรักษาเวลา และทำการวัดดาราศาสตร์ตรวจหาความผิดของนาฬิกาลูกตุ้มเรือนเกณฑ์โดยกำหนด ๗ วัน ต่อครั้ง ถ้าวันไหนอากาศไม่มีเช่นมีเมฆมากหรือฝนตก ไม่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้ ก็จะเลื่อนตรวจในวันต่อไป วิธีการตรวจโดยการวัดสูงเท่าของดวงอาทิตย์ด้วยเครื่องวัดแดด (SEXTANT) จดเวลาด้วยนาฬิกาโครโนเมตร แล้วนำไปเทียบกับนาฬิกาลูกตุ้มเรือนเกณฑ์อีกชั้นหนึ่ง ความผิดของนาฬิกาคำนวณถึงเพียงทศนิยม ๓ ตำแหน่ง ของวินาที อัตราเปลี่ยนประจำวันใช้เพียงทศนิยม ๓ ตำแหน่ง เช่นในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ใช้การตรวจโดยวิธีวัดสูงของดวงอาทิตย์ ๓๔ ครั้ง คิดเฉลี่ย ๑๑ วันต่อครั้ง อัตราผิดประจำวันของนาฬิกาลูกตุ้มเรือนเกณฑ์ ก. อย่างสูงไม่เกิน ๐.๙๗๑ วินาที อย่างต่ำไม่น้อยกว่า ๐.๐๐๒ วินาที อัตราผิดประจำวันของนาฬิกาลูกตุ้มเรือนเกณฑ์ ข. อย่างสูงไม่เกิน ๐.๘๕๗ วินาที อย่างต่ำไม่น้อยกว่า ๐.๐๑๓ วินาที

หมายเหตุ นาฬิกาเรือนเกณฑ์ ก. ตั้งตามเวลาสมมุติที่กรีนิช (Greenwich Mean Time) นาฬิกาเรือนเกณฑ์ ข. ตั้งตามเวลามาตรฐานประเทศไทย (Standard Mean Time) ที่กรุงเทพฯ ในช่วงระยะ

เวลาที่ดำเนินการตรวจรักษาเวลานั้น ได้ทำการตรวจความผิดของนาฬิกาโครโนเมตรที่มีอยู่ด้วย โดยทำการตรวจทุกครั้งภายหลังที่ตรวจความผิดของนาฬิกาเรือนเกณฑ์ แล้วตรวจโดยวิธีเทียบกับนาฬิกาเรือนเกณฑ์ การคำนวณความผิดและอัตราเปลี่ยนประจำวันใช้เพียงทศนิยม ๓ ตำแหน่ง ของวินาทีเช่นเดียวกับนาฬิกาเรือนเกณฑ์

ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ นาฬิกาโครโนเมตรเรือนที่เดินเที่ยงตรงดีที่สุด มีอัตราเปลี่ยนประจำวันอย่างมากเพียง ๐.๕๓๘ วินาที อย่างน้อย ๐.๐๒๘ วินาที เรือนที่เร็วที่สุดมีอัตราผิดประจำวันอย่างมาก ๖.๑๕๕ วินาที อย่างน้อย ๒.๑๘๕ วินาที

สำหรับนาฬิกาโครโนเมตรที่จ่ายให้กับเรือต่าง ๆ ก่อนจ่ายจากคลังเครื่องมือเดินเรือเจ้าหน้าที่ประจำหมวดจะเทียบหาความผิดและอัตราเปลี่ยนประจำวันให้ก่อนทุกครั้ง

ในช่วงเวลานั้น เนื่องจากการติดต่อสื่อสารในระบบบริการของกองอุปกรณ์การเดินเรือยังไม่มีความเจริญก้าวหน้ามากนัก ดังนั้นจึงมีหน่วยงานราชการและเอกชน ๆ อื่นนอกกองทัพเรือ ได้นำนาฬิกามาให้กรมอุทกศาสตร์ตรวจสอบหาความผิด และเปรียบเทียบให้โดยเมื่อมีผู้ส่งนาฬิกาให้ตรวจสอบความผิด เจ้าหน้าที่ประจำหมวดจะรับตรวจและจดรับรองรายการเทียบให้เสมอ เว้นแต่เจ้าของผู้มาขอเทียบนั้นๆ เป็น

นายทหารเรือพรรคนาวินอยู่แล้ว ผู้มาขอเทียบมักทำการเทียบด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่ประจำหมวดเป็นแต่ช่วยให้ความสะดวกในการแสดงรายการต่าง ๆ เท่าที่ผู้มาขอเทียบต้องการทราบเท่านั้น

ตามปกติ มีผู้ขอเทียบความผิดของนาฬิกา หรือตั้งเวลาเป็นประจำ คือบรรดาเรือหลวงที่

นาฬิกาโครโนเมตรประจำเรือสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง กรมอู่ทหารเรือ สัปดาห์ละ ๒ ครั้ง กรมไปรษณีย์โทรเลขแผนกวิทยุกระจายเสียงเทียบไปตั้งบอกเวลา ๒๐๐๐ ทางวิทยุกระจายเสียงสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง กรมรถไฟหลวงสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ที่ไม่มีกำหนดแน่นอนแต่มาขอเทียบเสมอ คือ กรมเจ้าท่า, ห้าง เอส.เอ.บี., ห้าง แอลยีรอกันติ, บริษัทไฟฟ้าสยาม, บริษัท ซี.ฮวด นอกจากนี้ยังมีสถานที่ราชการ ห้างร้าน บริษัทต่า ง ๆ และท่าเรือได้ขอเทียบและตั้งเวลาโดยทางโทรศัพท์อีกเป็นอันมาก

ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ กรมอุทกศาสตร์ ได้สั่งกล้องวัดดาว นาฬิกา และเครื่องโครโนกราฟ

สำหรับใช้ในการตรวจสอบนาฬิกา ซึ่งอุปกรณ์และเครื่องมือดังกล่าวได้ตรวจรับไว้ใช้ในราชการ เมื่อ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ มีรายการดังนี้

๑. กล้องวัดดาวชนิด Meridian Transit Instrument (Askania Werke A.G.) ๑ กล้อง ราคา

๒๑,๑๗๕.๒๕ บาท

๒. นาฬิกาดาราศาสตร์ ชนิด Ritfler เรือนเกณฑ์ ๑ เรือน เรือนที่สอง ๑ เรือน พร้อมเครื่อง

ประกอบ ราคา ๗,๗๓๗.๖๐ บาท

๓. โครโนกราฟสำหรับใช้ประกอบกับกล้องวัดดาว และนาฬิกาดาราศาสตร์ชนิด

Wetzer Tape Chronograph ๑ ชุด ราคา ๑,๖๖๗.๘๔ บาท

ในช่วงที่กรมอุทกศาสตร์ดำเนินการสั่งซื้ออุปกรณ์ตรวจสอบเวลาดังกล่าวข้างต้นในพ.ศ.๒๔๗๗

กรมอุทกศาสตร์ ก็ได้จัดสร้างหอตรวจดาวขึ้นภายในบริเวณสนามหญ้าชั้นในหน้าท้องพระโรงพระราชวังเดิม ใกล้กับโรงเรียนนายเรือเดิม อาคารหอตรวจดาวเป็นรูปตึกคอนกรีตชั้นเดียว ๘ เหลี่ยม กว้างเหลี่ยมละ 2 เมตร สูง 3.4 เมตร หลังคาทำให้ ปิด - เปิด ได้กว้าง 2 เมตร ช่องหลังคาที่ปิด – เปิดได้นี้อยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้จริง ตอนกลางมีแทนสำหรับตั้งกล้องวัดดาวและมีผนังอิสระสำหรับติดนาฬิกาดาราศาสตร์ และเครื่องประกอบ เมื่อได้สร้างเสร็จแล้วจึงได้โอนตึกนี้ขึ้นมาอยู่กับหมวดเครื่องมือเดินเรือ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2478 เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ถูกติดตั้งตามคำแนะนำซึ่งได้รับจากบริษัทที่ผลิตเครื่องมือ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2478 ต่อจากนั้นได้มีการตรวจแก้หาความผิดและศึกษาลักษณะของเครื่อง ความสัมพันธ์จากตัวเครื่องจริง ๆ ประกอบกับทฤษฎีที่เกี่ยวกับเครื่องเท่าที่จะทำได้ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในหมวดเครื่องมือเดินเรือ

ในระยะนั้นมีจำนวนน้อย เวลาที่ใช้ในการศึกษาก็มีวิธีใช้เครื่องเพียงเท่าที่ปลีกมาได้จากเวลาที่เหลือจากงานประจำ ดังนั้นในช่วงระยะแรก ๆ จึงยังใช้กล้องนี้ทำงานไม่ได้ผล แต่ต่อมาก็ได้ผลดีขึ้น

ค่าก่อสร้างหอนาฬิกาและหอกล้องวัดดาวใช้งบประมาณ ๑,๕๐๐.- บาท โดยใช้งบประมาณประเภทเงินการจร พ.ศ. ๒๔๗๘ การดำเนินการในการตรวจสอบเวลา และการบริการสัญญาณเทียบเวลาในระยะนี้เป็นการดำเนินงานที่ยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่สามารถให้บริการส่งสัญญาณเทียบเวลาออกอากาศได้ เป็นแต่เพียงรักษาเวลานาฬิกามาตราฐานที่มีอยู่ให้แน่นอนเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะนาฬิกาลูกตุ้มเรือนเกณฑ์ที่มี

อยู่ไม่มีเครื่องประกอบเมื่อส่งสัญญาณเวลา ดังนั้นการบริการก็มีเฉพาะบริการเพียงเวลาถามทางโทรศัพท์ และการนำนาฬิกาเทียบที่กรมอุทกศาสตร์

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ กล้องวัดดาวได้รับความเสียหายต้องส่งกลับไปซ่อมที่โรงงาน

เสร็จแล้วได้นำกลับมาติดตั้งใช้งานที่หอตรวจดาวบนดาดฟ้าอาคาร ๑ ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ และได้เตรียม

ก่อสร้างแท่นตั้งกล้องวัดดาวไว้อย่างดี กล่าวคือ แท่นนี้ได้ก่อสร้างก่อนตัวอาคาร โดยการตอกเสาเข็มลึกลงไปถึงชั้นดินแข็งจนตอกเสาเข็มไม่ลง เพื่อไม่ให้มีการทรุดตัว จากนั้นจึงผูกเหล็กเทคอนกรีตเป็นแท่นสี่เหลี่ยมแกนกลวง กว้าง ๑.๕๐ เมตร ยาว ๒ เมตร แยกต่างหากจากตัวอาคารเพื่อมิให้การสั่งสะเทือนจากตัวอาคารและจากพื้นดินโดยรอบมากระทบถึงแท่นตั้งกล้อง ดังนั้นในขณะตรวจวัดดาว ภาพจะไม่มีการสั่นไหวแม้ว่าจะใช้กำลังขยายสูงมากก็ตาม นาฬิกาลูกตุ้มเรือนเกณฑ์ทั้ง ๒ เรือน ก็ติดตั้งอยู่กับแท่นนี้เช่นกัน เพื่อไม่ให้ได้รับความสั่นสะเทือนจากสภาวะโดยรอบ




วิธีการตรวจดาวนั้น กล้องตรวจดาวจะติดตั้งในแนวเมอริเดียน มีนาฬิกาดาราศาสตร์

(Sidereal Clock) ๒ เรือน ๆ หนึ่งอยู่บนหอตรวจดาว อีกเรือนหนึ่งอยู่ชั้นล่าง เก็บรักษาไว้ในครอบแก้วที่

ดูดอากาศออกจนเป็นสุญญากาศ มีสายสัญญาณซินโครนัสต่อขึ้นไปบนหอตรวจดาวเพื่อเปรียบเทียบกับนาฬิกาดาราศาสตร์บนหอที่นาฬิกาลูกตุ้มเรือนเกณฑ์ ๒ เรือน จะมีหน้าสัมผัสต่อสัญญาณไปเปรียบเทียบ

กับนาฬิกาดาราศาสตร์ โดยใช้โครโนกราฟซึ่งอ่านได้ละเอียดถึง ๑ ใน ๑,๐๐๐ ของวินาที เวลาดาวผ่าน

เมอริเดียนจะต้องคำนวณอย่างละเอียด เพื่อเปรียบเทียบกับเวลาดาวผ่านจริงหาอัตราผิดของนาฬิกาดาราศาสตร์ แต่ละคืนต้องวัดหลายดวง เพื่อหาค่าเฉลี่ยอัตราผิดแล้วแปลงเป็นเวลาดวงอาทิตย์เปรียบเทียบหาอัตราแก้ของนาฬิกาเรือนเกณฑ์ด้วยโครโนกราฟ การปรับแก้หยาบใช้เกลียวหมุนปรับความยาวของลูกตุ้ม การปรับแก้อย่างละเอียดต้องใช้การถ่วงน้ำหนักด้วยแผ่นอลูมิเนียมบาง ๆ ซึ่งตัดตามน้ำหนักที่ต้องการ ขนาดเบาที่สุดเพียง ๐.๐๐๑ กรัม นับเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก

การรักษาเวลามาตราฐานประเทศไทยโดยใช้กล้องวัดดาวผ่านเมอริเดียน ได้ดำเนินการมา

จนถึงประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๕ กล้องตรวจดาวเสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน ประกอบกับการเทียบเวลาในขณะนั้น สามารถจะใช้วิธีรับสัญญาณเทียบเวลาจากสถานีที่รัฐฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา, สถานีที่กรุงโตเกียว ของญี่ปุ่น และสถานีที่กรุงปักกิ่ง ของจีน ได้สะดวกและถูกต้องกว่า จึงหันไปใช้การรับสัญญาณเทียบเวลาจากสถานีดังกล่าวแทน โดยคำนวณแก้เวลาด้วยค่าคงที่เนื่องจากระยะทาง และเทียบหาอัตราผิดของนาฬิกาเรือนเกณฑ์ด้วยโครโนกราฟ การวัดดาวหาเวลามาตรฐานจึงค่อย ๆ เลิกไป สำหรับการรับสัญญาณเวลานั้น

ก็ได้ใช้เป็นหลักอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อกรมอุทกศาสตร์ เปลี่ยนระบบรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทยเป็นระบบเวลาจากนาฬิกาปรมาณู จึงใช้เวลาจากระบบใหม่เป็นหลัก และใช้การรับสัญญาณจากสถานีต่าง ๆ เพื่อการเปรียบเทียบ ปัจจุบันกล้องตรวจดาวเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กองอุปกรณ์การเดินเรือได้รับอนุมัติให้จัดตั้งแผนกดาราศาสตร์ขึ้นใหม่ เพื่อให้รับผิดชอบงานรักษาเวลามาตรฐานประเทศไทย และงานด้านดาราศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกดาราศาสตร์คนแรก คือ น.ท.สมชาย ชั้นสุวรรณ (รักษาราชการ) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอุปกรณ์การเดินเรือด้วย

พ.ศ. ๒๕๐๓ แผนกดาราศาสตร์ กองอุปกรณ์การเดินเรือ ได้เสนอโครงการเวลามาตรฐาน

(TIME SERVICE PROJECT) เพื่อเสนอขออนุมัติต่อจากกองทัพเรือ โดยมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการ คือ

๑. รักษาเวลามาตรฐานของประเทศ

๒. ส่งสัญญาณเทียบเวลาทางวิทยุ

๓. รักษาความถี่มาตรฐาน

๔. ส่งความถี่มาตรฐานทางวิทยุ

๕. บริการเทียบเวลาทางโทรศัพท์

ระบบเวลาดังกล่าวนี้เป็นระบบที่มีความทันสมัย ในช่วงเวลานั้นสามารถตรวจสอบและ

รักษาเวลาในระบบดาราศาสตร์ และเปรียบเทียบสัญญาณเวลาความถี่มาตรฐานจากต่างประเทศได้ ซึ่งจะทำให้ระบบการรักษาเวลามีความถูกต้องและเป็นมาตรฐานสากลสูงขึ้น แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวใช้

งบประมาณในการดำเนินการค่อนข้างสูง คือ ประมาณ ๑,๑๓๐,๐๐๐.- บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน)

ในช่วงเวลานั้น กองทัพเรือยังไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้ จึงได้ชะลอโครงการ

ดังกล่าวไว้ก่อน โครงการเวลามาตรฐานได้รับอนุมัติให้ดำเนินการได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยจัดสรร

งบประมาณให้เป็นปี ๆ ไป ซึ่งได้ดำเนินการไปจนถึงขึ้นเปิดปฏิบัติงานได้ ดังนี้

ปีงบประมาณ ๒๕๑๓ ได้จัดซื้ออุปกรณ์เวลามาตรฐานจากประเทศเยอรมันนี เป็นเงิน

๑,๓๙๙,๕๐๐.- บาท ประกอบไปด้วย

- นาฬิกาควอทซ์ความถี่สูงขนาดใหญ่ ๓ เรือน ซึ่งมีอัตราผิด ๑/๑๐๐,๐๐๐ วินาทีต่อวัน

นาฬิกานี้ นอกจากจะรักษาเวลาได้อย่างเที่ยงตรงแล้ว ยังสามารถผลิตความถี่มาตรฐานได้ ๓ ความถี่ คือ

5 MHz, 1 MHz และ 0.1 MHz สำหรับบริการตรวจสอบความถี่ของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือ เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ

- เครื่องเทียบความถี่ เพื่อใช้เทียบความถี่ของนาฬิกาควอทซ์กับความถี่มาตรฐานสากลเช่น

จากสถานี Rugby ในประเทศอังกฤษ โดยมีเครื่องรับความถี่อยู่ภายใน และสามารถปรับความถี่ของนาฬิกา

ควอทซ์ ให้ลงรอยความถี่มาตรฐานสากลได้โดยอัตโนมัติตลอด ๒๔ ชั่วโมง

- เครื่องบันทึกการเปรียบเทียบความถี่ของนาฬิกาควอทซ์ กับความถี่มาตรฐานสากลให้เห็นได้ตลอดเวลาว่ามีการปรับแต่งไปอย่างไรบ้าง และความถี่ของนาฬิกาควอทซ์ตรงกับความถี่มาตรฐานสากลหรือไม่

- เครื่องทำโปรแกรมสัญญาณ จำนวน ๒ เครื่อง สำหรับสัญญาณเทียบเวลาระบบอเมริกันเพื่อส่งสัญญาณเทียบเวลาทางวิทยุให้กับเรือต่าง ๆ ในทะเล คือจะเริ่มส่งสัญญาณเทียบเวลาตั้งแต่นาทีที่

๕๕ ทุกนาที จนถึงนาทีที่ ๖๐ ของทุกชั่วโมง อีกเครื่องหนึ่งสำหรับทำสัญญาณเทียบเวลาระบบอังกฤษเพื่อ

ส่งสัญญาณเทียบเวลาให้ประชาชนทั่วไป คือจะส่งสัญญาเทียบเวลาทุก ๑๐ วินาที ตลอด 24 ชั่วโมง

- นาฬิกาควบคุมเวลาเป็นนาทีและวินาที สำหรับใช้ควบคุมเวลาที่จะส่งไปให้นาฬิกาพ่วงตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ ๓๐ เรือน

- สโคปเวลาสำหรับดูเพื่อเปรียบเทียบคลื่นความถี่ เวลาระหว่างนาฬิกาของแต่ละเรือน และสามารถเปรียบเทียบคลื่นความถี่เวลาจากสถานีความถี่มาตรฐานต่างประเทศกับคลื่นความถี่เวลาของนาฬิกาแต่ละเรือนได้อีกด้วย สโคปเวลานี้สามารถอ่านความแตกต่างกันได้ถึง ๑/๑,๐๐๐,๐๐๐ วินาที

- เครื่องรับวิทยุแบบรับความถี่ประจำ สำหรับสัญญาณจากสถานีวิทยุต่างประเทศที่เชื่อถือได้ แล้วส่งไปเปรียบเทียบเวลาให้ดูได้ที่สโคปเวลา

- แบตเตอรี่สำหรับใช้กับอุปกรณ์ทั้งหมดเมื่อไฟฟ้าดับ ได้นานถึง ๔๐ ชั่วโมง โดยอัตโนมัติ

อุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นติดตั้งเสร็จเรียบร้อยเมื่อ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๔

ปีงบประมาณ ๒๕๑๔ จัดซื้ออุปกรณ์ผลิตความถี่มาตรฐานด้วยพลังงานปรมาณูจากธาตุ

รูบีเดียม ๘๗ พร้อมทั้งระบบเวลาเพื่อนำไปใช้เดินนาฬิกา ที่มีเป็นพิเศษอยู่แล้ว๑ เรือน เป็นเงิน ๔๔๙,๓๐๐.- บาท อุปกรณ์นี้ผลิตความถี่มาตรฐานได้ ๖,๘๓๔,๖๘๒,๕๓๙ รอบต่อ ๑ วินาที มีอัตราผิดเพียง ๑/๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ รอบต่อเดือน เมื่อนำไปใช้เดินนาฬิกาแล้วจากผลการตรวจสอบในระยะเวลา ๓๐ วัน ปรากฏว่านาฬิกามีอัตราผิดเพียง ๑/๑,๐๐๐,๐๐๐ วินาที นอกจากนั้นยังใช้ควบคุมความถี่ของนาฬิกาควอทซ์ทั้ง ๓ เรือน โดยต่อเข้ากับเครื่องเทียบความถี่ที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เทียบความถี่มาตรฐานสากล เช่น จากสถานี Rugby ในอังกฤษอีกต่อไป

อุปกรณ์นี้ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๔

ปีงบประมาณ ๒๕๑๕ จัดซื้อเครื่องประกอบสำหรับแจ้งสัญญาณเทียบเวลาให้แก่ประชาชนทางโทรศัพท์โดยอัตโนมัติ เป็นเงิน ๑๔๙,๘๕๐.- บาท เครื่องประกอบนี้ใช้ต่อกับเครื่องทำโปรแกรมสัญญาณ

ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย เมื่อ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ พร้อมกันนี้ องค์การโทรศัพท์ยังได้กรุณาติดตั้งโทรศัพท์อัตโนมัติ ให้อีก ๙ เลขหมาย เพื่อบริการความสะดวกในการเทียบเวลาของประชาชนยิ่งขึ้น คือ หมายเลข ๖๖๑๑๗๐ ถึง หมายเลข ๖๖๑๑๗๘ (ในปัจจุบันองค์การโทรศัพท์ได้เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ทั้ง ๙ หมายเลขดังกล่าวเป็นโทรศัพท์อัตโนมัติหมายเลข ๑๘๑) และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อ พล.ร.อ. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขณะทรงพระยศเป็น ร.ท.เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเครื่องอุปกรณ์รักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๒ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

หลังจากเสร็จโครงการในระยะแรกแล้ว กรมอุทกศาสตร์ก็ได้จัดหาอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ มาเสริมการทำงานของระบบเวลามาตรฐานประเทศไทย ให้สามารถคงสมรรถนะและสามารถบริการประชาชนได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามลำดับ ดังนี้

ปีงบประมาณ ๒๕๑๖ จัดซื้อนาฬิกาแบบ Digital Clock ซึ่งเป็นนาฬิกาที่แสดงเวลาด้ว

ตัวเลข โดยตัวเลขจะเคลื่อนตัวเปลี่ยนไปทุก ๆ วินาที และ Digital Programmer เพื่อขยายโปรแกรมสัญญาณบอกเวลา และเป็นเครื่องสำรองที่มีใช้อยู่เดิมแล้ว เป็นเงิน ๑๔๓,๐๐๐.- บาท

ปีงบประมาณ ๒๕๑๗ จัดซื้ออุปกรณ์ Digital Signal Generator ซึ่งสามารถส่งความถี่ได้

ตั้งแต่ ๓๐๐ Hz ถึง ๓๒ MHz เพื่อใช้ในการปรับแต่งความถี่ของเครื่องมือตรวจวัดต่าง ๆ และเครื่องมือที่ต้องการความถูกต้องในด้านความถี่สูงให้ถูกต้องแก่หน่วยงานราชการต่าง ๆ เป็นเงิน ๑๕๘,๐๐๐.- บาท

ปีงบประมาณ ๒๕๑๘ จัดซื้ออุปกรณ์ Time Code Generator เป็นเงิน ๑๕๑,๗๕๐.- บาท เครื่อง Remote Display เป็นเงิน ๖๓,๕๐๐.- บาท และ Time Code Reader เป็นเงิน ๔๔,๙๐๐.- บาท เพื่อส่งสัญญาณเวลาให้แก่หน่วยราชการต่า ง ๆ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

ปีงบประมาณ ๒๕๑๙ จัดซื้อเครื่องควบคุมความถี่ (Frequency Controller) จำนวน ๒ เครื่อง เพื่อควบคุมความถี่ที่ผลิตได้ให้ตรงกับความถี่มาตรฐานของประเทศ เป็นเงิน ๒๘๙,๘๐๐.- บาท

ปีงบประมาณ ๒๕๒๒ จัดหาอุปกรณ์ผลิตความถี่มาตรฐานด้วยพลังงานปรมาณูจากธาตุ

ซีเซี่ยม (Caesium Frequency Standard) มาใช้แทนธาตุรูบีเดียม ๘๗ เป็นเงิน ๖๔๖,๐๐๐.- บาท

ปีงบประมาณ ๒๕๓๔ ได้จัดซื้อเครื่องรับสัญญาณเวลามาตรฐานสากลจากสัญญาณ

ดาวเทียม ระบบ GPS (G.P.S. Satellite Timing Receiver แบบ FTS.800) จำนวน ๑ เครื่อง เพื่อใช้เปรียบเทียบกับสัญญาณเวลามาตรฐานประเทศไทย เป็นเงิน ๘๑๘,๐๐๐.- บาท

ปีงบประมาณ ๒๕๓๖ จัดซื้อนาฬิกาบอกเวลา (S[eaking Clock) จำนวน 1 เครื่อง เพื่อใช้

ทดแทนนาฬิกาบอกเวลาเดิม เป็นเงิน ๖๘,๖๐๐.- บาท

ปีงบประมาณ ๒๕๓๗ ดำเนินการย้ายอุปกรณ์รักษาเวลามาตรฐานประเทศไทย จากห้องรักษาเวลาเดิมซึ่งตั้งอยู่บริเวณแผนกดาราศาสตร์ชั้นล่าง อาคาร ๒ มาไว้ที่ห้องเวร กรมอุทกศาสตร์เดิม

ชั้นล่าง อาคาร ๑ หน้าห้องแผนกเอกสารการเดินเรือ เหตุที่ย้ายเนื่องจากสภาพอาคาร ๒ ไม่ปลอดภัยในการ

ใช้งาน ทำการย้ายเมื่อวันที่ ๒ – ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

ปีงบประมาณ ๒๕๓๙ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ กรมอุทกศาสตร์ได้ส่งนายทหารจำนวน ๓ นาย มี น.ท.ไชยวุฒิ นาวิกาญจนะ หัวหน้าแผนกดาราศาสตร์ กองอุปกรณ์การเดินเรือ

น.ท.จักรกฤช มะลิขาว หัวหน้าแผนกยีออฟิสิกส์ กองสำรวจแผนที่ และ น.ต.ชัยฤทธิ์ เกิดผล หัวหน้าแผนกเอกสารการเดินเรือ กองอุปการณ์การเดินเรือ ไปดูงานและฝึกอบรมเกี่บกับระบบอุปกรณ์รักษาเวลามาตรฐาน ที่โรงงานบริษัท HEWLETT PACKARD และโรงงานบริษัท DATUM มลรัฐ California ประเทศ สหรัฐอเมริกา และในปีเดียวกัน เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้จัดซื้อเครื่องผลิตความถี่มาตรฐาน CAESIUM จากบริษัท HEWLETT PACKARD รุ่น HP 5071 A ราคา ๒,๔๘๒,๔๐๐.- บาท ต่อมาได้จัดส่งนายทหาร จำนวน ๒ นาย คือ น.ท.ไชยวุฒิ นาวิกาญจนะ เสนาธิการ หมวดเรืออุทกศาสตร์ และ

น.ท.จักรกฤช มะลิขาว หน.สำรวจแผนที่ทะเล ไปศึกษาอบรมหลักสูร Time & Frequency Standard ที่ สถาบัน National Physical laboratory เมือง Teddington ประเทศ อังกฤษ

ปีงบประมาณ ๒๕๔๐ ได้จัดซื้อเครื่องรับสัญญาณเวลามาตรฐานสากลจากสัญญาณดาวเทียม ระบบ GPS (G.P.S. Satellite timing receiver) จากบริษัท DATUM INC. จำนวน 1 เครื่อง เพื่อ

ใช้เปรียบเทียบกับสัญญาณเวลามาตรฐานประเทศไทย เป็นเงิน ๔๙๒,๒๐๐.- บาท

ปีงบประมาณ ๒๕๔๑ จัดซื้อระบบรักษาเวลามาตรฐานเพิ่มเติม จำนวน ๑ ระบบ เป็นเงิน ๘,๗๗๑,๘๒๖.- บาท เพื่อทดแทนระบบเดิมเกือบทั้งหมดที่เสื่อมสภาพ

ปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์พร้อมติดตั้ง ดังนี้


- เครื่องผลิตความถี่มาตรฐาน (Cesium) รับมอบอุปกรณ์พร้อมติดตั้งเมื่อ ๒๐ พ.ค.๔๘


- ระบบให้เวลาทาง Internet รับมอบอุปกรณ์พร้อมติดตั้งเมื่อ ๒๐ พ.ค.๔๘


- เครื่องรับสัญญาณเวลา GPS Satellite Timing Receiver รับมอบอุปกรณ์พร้อมติดตั้งเมื่อ ๒๐ พ.ค.๔๘


- เครื่องบอกเวลาทางโทรศัพท์ (Speaking Clock) รับมอบอุปกรณ์พร้อมติดตั้งเมื่อ ๓๐ ส.ค.๔๘


- เครื่องสอบเทียบเวลาระดับ Primary รับมอบอุปกรณ์พร้อมติดตั้งเมื่อ ๒๓ ส.ค.๔๘